คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : นาลิวัน (พราหมณ์) สยายผมทำไม?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

ผมเคยเสนอไปแล้วว่า พราหมณ์สยามแต่เดิมมี “เลก” หรือข้ารับใช้ เรียกว่า “นาลิวัน” ซึ่งผมสันนิษฐานว่า มาจากคำ นาลวาร์ อันเป็น “ชาติ” พวกปาดตาล ทำน้ำตาลเมา เป็นชนชั้นคอยรับใช้พราหมณ์ในลังกา

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านขึ้นที่สูง จึงน่าจะเอานาลิวันมาใช้ “โล้ชิงช้า” ในพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวาย นอกนั้นแล้ว ล้วนแต่เป็นลูกมือพราหมณ์ในพระราชพิธีตั้งแต่กรุงเก่า เช่น เคณฑะ (ทิ้งข่าง) ซึ่งเลิกไปแล้วในสมัยรัตนโกสินทร์

คุณกรกิจ ดิษฐาน ซึ่งผมติดตามเพจของท่านทิ้งคำถามไว้ว่า ไฉนในพระราชพิธีพระบรมศพจึงใช้ “พราหมณ์พิธี” แทนนาลิวัน

ครั้งแรกผมคิดและอยากจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็เพราะนาลิวันไม่มีแล้วไงครับ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พราหมณ์และขุนนางไม่มีบรรดาศักดิ์และศักดินาอีกแล้ว พวกเลกซึ่งมีหน้าที่รับใช้ก็พลอยหายไปด้วย พราหมณ์สยามเอง จากที่มีจำนวนมากหลายสิบตระกูล ก็ลดเหลือเพียงไม่กี่ตระกูลสืบมา

กระนั้นผมคิดไปคิดมาเห็นว่า อาจไม่ใช่แค่นาลิวันหายอย่างข้อสันนิษฐานข้างต้นเพียงแค่นั้น เป็นไปได้ว่า เราอาจใช้คำ “นาลิวัน” ในความหมายหลวมๆ ด้วย คือหากเป็นพนักงานฝ่ายพราหมณ์ในพระราชพิธี ก็ให้เรียกนาลิวันทั้งนั้น แสดงว่านาลิวันนั้นเป็น “หน้าที่” อย่างหนึ่งในพระราชพิธี มากกว่าจะใช้อย่างความหมายดั้งเดิม

เป็นไปได้หรือไม่ที่ในสมัยก่อนพราหมณ์คงมีมาก พวกที่ฝึกหัดประกอบพิธีก็ทำหน้าที่ในพิธี พวกอื่นก็ทำหน้าที่อื่นๆ ปนกันกับนาลิวันที่เป็นเลก ครั้นต่อมาพวกเลกหายไปหมดแล้ว จึงต้องใช้พราหมณ์พิธีมาทำหน้าที่นี้แทนและอาจดูเหมาะสมแก่กาลสมัยกว่าด้วย เพราะพราหมณ์นั้นเป็นพวกข้าราชบริพารพวกหนึ่ง เข้าในกระบวนพิธีพระบรมศพจึงเหมาะสมกว่า

 

ในงานพระบรมศพครั้งนี้ เราได้เห็นพราหมณ์พิธีสี่ท่าน ทำหน้าที่ “นาลิวัน” เข้าอยู่ในกระบวนตามพระบรมโกศ เท่าที่ผมจำได้คือ ท่านพระมหาราชครูพิธี ศรีวิสุทธิคุณฯ พระครูสุริยาเทเวศร์ พระครูสิทธิไชยบดี และพราหมณ์สมบัติ รัตนพราหมณ์

มีผู้ถามว่า เหตุใดพราหมณ์ที่ทำหน้าที่นาลิวันทั้งหมดจึงต้องสยายผมเดินเข้ากระบวน

คุณกรกิจและหลายท่านตอบว่า การสยายผมนั้นเป็นการแสดงออกถึงความโศกเศร้า ดังคำในภควัทคีตาที่ว่าไม่ให้ทำร้ายผู้สยายผม คืออยู่ในช่วงที่กำลังเศร้าโศก

พราหมณ์สยามนั้นต่างกับพราหมณ์ในอินเดียมากในเรื่องผม คือพราหมณ์สยามนั้นถือกันว่า เมื่อเป็นพราหมณ์แล้วจะต้องไว้มวย ห้ามตัดหรือแม้แต่เล็มตกแต่งโดยเด็ดขาด ถือว่าจะขาดจากความเป็นพราหมณ์

อีกทั้งมวยผมของพราหมณ์จะมัดไว้โดยตลอด ไม่ปล่อยให้ผู้อื่นเห็นโดยเด็ดขาด

คนทั่วไปจึงสามารถเห็นพราหมณ์ปล่อยผมในที่สาธารณะ ได้เฉพาะเมื่อมีกระบวนแห่ในการพระบรมศพหรือพระศพเท่านั้น

 

ส่วนทางอินเดียในปัจจุบันไม่ได้เคร่งครัดเรื่องผมอย่างพราหมณ์ไทย โดยเฉพาะในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งอาจมีแค่การปล่อยให้มีปอยผมเล็กๆ ที่ท้ายทอยพอให้เป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง

ปอยผมชนิดนี้เรียกว่า “ศิกขา” ในภาษาสันสกฤต หรือเจาตีในภาษาฮินดี และที่สำคัญ การไว้ปอยผม ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของพราหมณ์เท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของฮินดูที่คนทุกวรรณะสามารถไว้ได้

ชาวฮินดูมีการไว้มวยผมหลายแบบ บ้างก็ไว้ทั้งศีรษะและมัดมวยไว้ด้านหลังก็มี ด้านบนก็มี โกนด้านหน้าและไว้เฉพาะด้านหลังก็มี โกนทั้งหมดและเหลือแต่ปอยผมก็มี ไว้ทรงปกติแต่ไว้ปอยด้วยก็มี

ขึ้นอยู่กับนิกายและท้องถิ่น

 

ผมไปสืบค้นดูว่า ธรรมเนียมการมัดปอยผมหรือมวยผมของฮินดูมีอย่างไรบ้าง เปิดในตำรา “นิตฺยกรฺมปธติ” หรือกิจพึงทำประจำวัน ท่านก็ว่าให้มัดผมเมื่อ “สฺนาเน ทาเน ชเป โหเม สํธยายำ เทวตารฺจเน…”

กล่าวคือ ให้มัดผมเมื่อ 1.ทำพิธีสนานหรืออาบน้ำ (คือเข้าไปอาบต้องมัดแล้วจึงค่อยปล่อยเมื่อรีดน้ำออกจากมวยผม) 2.เมื่อให้ทาน 3.เมื่อภาวนาชักประคำ (ชปะ) 4.เมื่อทำยัญญกรรมบูชาไฟ (โหมะ) 5.เมื่อทำพิธีสันธยา หรือกิจสวดมนต์ไหว้พระตามเวลาเปลี่ยนผ่านของวัน เช่น ค่ำ และเช้ามืด และ 6.เมื่อทำพิธีบูชาเทพยดา

ในมนตร์สำหรับการมัดผมนั้น ท่านว่า มัดแล้วให้พระเทวีอยู่กลางมวยผม ให้มีฤทธิ์มีเดช

จะเห็นได้ว่า การมัดผมนั้นเกี่ยวข้องกับพิธีที่เป็นสิริมงคลหรือเน้นความบริสุทธิ์สะอาด

ฉะนั้น การสยายผมในคติพราหมณ์จึงมิได้หมายถึงความโศกเศร้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นสิริมงคลหรือไม่ “บริสุทธิ์สะอาด” (ภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ปวิตระ”)

กล่าวให้เคร่งครัด ที่จริงความโศกเศร้าก็คือความไม่บริสุทธิ์สะอาดในตัวเองนั่นแล และสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์สะอาดอีกอย่างในทัศนะของพราหมณ์คือ “ความตาย”

ความตายคือความสิ้นสูญ การเน่าเปื่อยและเสื่อมสลาย ย่อมตรงกันข้ามกับสิริมงคลที่หมายถึงการเกิด และงอกงาม

ฉะนั้น การสยายผมเช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงภาวะที่ไม่ปกติและความไม่บริสุทธิ์สะอาดอยู่ในที

และความไม่บริสุทธิ์สะอาดนี้ มิได้มีแต่มิติทางกายภาพภายนอก แต่หมายถึงภายในจิตใจด้วย เช่น เมื่อเศร้าหมองก็นับเป็นความไม่บริสุทธิ์สะอาดด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ดร.เทวทัต ปัตตาไนกะ ยังตีความว่า การสยายผมในเทวประติมาต่างๆ ของฮินดู ยังแสดงถึง “สภาวะตามธรรมชาติ” ที่ยังไม่ Domesticated หรือถูกจัดให้อยู่ในระบบระเบียบอารยธรรมหรือวัฒนธรรม

เทวรูปเจ้าแม่กาลีจึงสยายผมไม่มัดมุ่นให้เรียบร้อย ทั้งยังเปลือยกาย แสดงถึงสภาวะตามธรรมชาติของ “ธรรมชาติ” คือรุนแรงดุร้ายไม่ฟังเสียงใดๆ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ของ “บ้าน”

เทวรูปพระกาลีหรือไภรวะ อันเป็นเทพดุร้ายจึงสยายผมเสมอ

แง่มุมนี้ผมคิดว่าสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องโศกเศร้าด้วยอีกทาง คือเมื่อเกิดความโศกเศร้าอันเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติแล้ว จึงไม่เอาใจใส่หรือละเลยกฎเกณฑ์แบบแผนที่เคยทำมา

ในอดีตสิ่งนี้คงเป็นไปอย่างธรรมชาติ คือโศกแล้วก็ทึ้งสยายผมลงคร่ำครวญ แต่ในเวลาต่อมาการแสดงออกตามธรรมชาติก็ค่อยๆ กลายเป็นพิธีกรรมในที่สุด

ธรรมชาติจึงซ่อนอยู่ในพิธีกรรม และพิธีกรรมก็ครอบทับธรรมชาติไว้อีกชั้นหนึ่ง

ใคร่ครวญด้วยดีจะได้ความรู้