ของเดิมดีอยู่แล้ว…จะเปลี่ยนทำไม? คนดังแห่สงสัย ทุ่ม 33 ล้าน แค่เปลี่ยนป้าย

จากกรณีมีข่าวการ ปรับปรุงป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมตราการรถไฟฯ มูลค่า 33 ล้าน

ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ้นเปลืองงบประมาณไปหรือเปล่า แค่ป้ายชื่อ ทำไมต้องใช้งบมากถึง 33 ล้าน และเรื่องของชื่อ ที่มีการวิจารณ์ว่า การตั้งชื่อให้พื้นฐาน เข้าใจง่าย แบบนานอารยประเทศ เก็บไว้ในหนังสือราชการจะดีกว่า น่าจะดีกว่า

โดยเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ มีหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 กรณีที่ UNIQ ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

อย่างไรก็ดี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1.พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”
Advertisement

2.พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”

3.พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยเมื่อเดือนกันยายน 2565 ว่าการจัดพิธีเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการนั้น รฟท.ประเมินว่าจะดำเนินการได้ภายในต้นปี 2566 เนื่องจากต้องเตรียมติดตั้งป้ายชื่อพระราชทาน รวมไปถึงเร่งเปิดประมูลร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนธันวาคม 2565

โดยเรื่องนี้ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์ถึงกรณีการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ โดยใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาทว่า “ชื่อสถานี ควรเป็นชื่อที่ประชาชนจดจำได้ง่าย (โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว) ชื่ออย่างเป็นทางการก็ควรเก็บไว้ในหนังสือราชการจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเงิน 33 ล้านบาท (จากภาษีของประชาชน) สำหรับการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานี จากสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

คำถามคือ:
(1) เหมาะสมมั้ยที่จะทำ?
(2) หากเหมาะสม แพงไปมั้ย?
ป.ล. ประชาชนได้อะไรจากการใช้เงินภาษีในลักษณะนี้”

ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ทวิตแสดงความเห็น ระบุว่า “ป้ายเเพงก็อย่าง แต่ผมเคยพูดในสภาไปละว่าการตั้งชื่อสถานีขนส่งสาธารณะขอเป็นชื่อย่านสามัญ ๆ ได้ไหม นั่งMRTจากท่าพระไปสภา เเรก ๆงง สิริธรนี้มันตรงไหนละ ..เขื่อนรึเปล่า”

เช่นเดียวกับ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความระบุว่า

“ชื่อเดิมก็ดีอยู่แล้ว สั้น ๆ สื่อถึงสถานที่ตั้ง คล้องจองจำง่ายและตรงไปตรงมา เปลี่ยนป้ายจ่าย 33 ล้าน #สถานีกลางบางซื่อ”

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี “สถานีกลางบางซื่อ” เตรียมปรับปรุงป้ายสถานีเป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” โดยมีมูลค่าโครงการกว่า 33 ล้านบาท

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว การมีสถานีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้คนถือเป็นเรื่องที่ดี และป้ายสถานีก็ควรจะทำให้คนที่ใช้บริการสามารถเข้าถึงใช้บริการได้ง่าย เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ ในประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ สถานีต่าง ๆ เขาไม่ได้มีความซับซ้อน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งอย่างที่เราทราบว่าบริเวณสถานีกลางบางซื่อ แถวนั้นเขาเรียกสถานีกลางบางซื่อหมด ทุกคนเข้าใจว่าตรงนั้นคือสถานีกลางบางซื่อ

แต่พอมีการเปลี่ยนชื่อจะเข้าใจกว่าเดิมหรือไม่ จะช่วยให้ทั้งคนไทยคนต่างชาติที่ใช้บริการ สามารถใช้งานตรงนี้ได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะง่ายขึ้น ตนคิดว่าประเทศเราหากเทียบกับงบประมาณแผ่นดินต่อปี ป้ายนี้มีมูลค่าไม่เยอะ แต่คำถามสำคัญคือมันมีความจำเป็นหรือไม่ ที่เราต้องใข้เงินในการเปลี่ยนป้ายหรือเปลี่ยนชื่อ โดยไม่ได้ทำให้คนมีความสะดวกมากขึ้น และยิ่งเป็นภาระกับเงินภาษีของประชาชนโดยไม่จำเป็น

ถามว่าเงินจำนวน 33 ล้านบาท แพงไปหรือไม่ ส่วนตัวตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับป้ายเช่นนี้มาก่อน แต่เงินจำนวน 33 ล้านบาทสำหรับตนนั้น คือการใช้เงินไม่เป็น มันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ใช้เงินภาษีของประชาชนในหลาย ๆ โครงการอย่างเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เราควรใช้เงินภาษีประชาชนในเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้หรือไม่ ตนค่อนข้างผิดหวังที่รัฐบาลใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ ภายใน 7 วัน หากพบว่าทุจริต พร้อมสั่งการให้มีการยกเลิกสัญญาจ้าง

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า หากผิดจริง นอกจากจะยกเลิกสัญญาจ้างแล้วยังจะมีการสั่งลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย