รัฐราชการผุพัง เราต้องโทษใคร? | ปราปต์ บุนปาน

30 ธันวาคม 2565

มีสองเหตุการณ์ส่งท้ายปีเก่า 2565 ที่สั่นสะเทือนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของ “รัฐ-ระบบราชการไทย”

เหตุการณ์แรก คือ กรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ซึ่งเป็นอีกครั้ง ที่กระตุ้นให้สาธารณชนพากันตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการงานภายในกองทัพ

ทั้งในการแง่การใช้งานและบำรุงรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดการดูแลรักษาชีวิต-สวัสดิการของกำลังพล (โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อยและทหารเกณฑ์)

รวมถึงการหวังจะได้ยิน “คำขอโทษ” หรือ “การยอมรับผิด” จากปากผู้นำกองทัพสักหน

ข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปกองทัพ” จึงเป็น “ความคาดหวังทางการเมือง” ที่ไม่เคยจางหายไปไหนจากสังคมไทยช่วงทศวรรษหลัง มิหนำซ้ำ ยังกลายสถานะเป็น “เรื่องจำเป็นต้องทำ” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โดยสาระสำคัญของการปฏิรูป ก็มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่โจทย์เรื่องกองทัพควรเข้ามาแทรกแซงการเมืองหรือไม่? (ซึ่งไม่มีคำตอบอื่น นอกจาก “ไม่ควร”)

แต่ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดถี่ขึ้น ได้นำไปสู่คำถามที่ว่ากองทัพบริหารจัดการเรื่องราวภายในองค์กรของตนเองได้ดีหรือยัง? และหากเกิดข้อผิดพลาดบกพร่องร้ายแรงขึ้นมา (ดังที่เกิดบ่อยๆ ในระยะหลัง) ใครจะเข้ามาตรวจสอบการทำงานที่มีรูโหว่ของกองทัพ?

 

เหตุการณ์ที่สอง คือ กรณี ป.ป.ช. และตำรวจ บุกเข้าจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฐาน “เรียกรับผลประโยชน์”

แม้จะมีคนวิเคราะห์ว่านี่เป็น “ภาพย่อย” เสี้ยวส่วนหนึ่ง ของเกมชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างคนกันเองใน “ภาพใหญ่” หรือเป็น “หญ้าแพรก” กระจุกหนึ่งที่ต้องแหลกลาญไป เพราะ “พญาช้างสาร” กำลังจะพุ่งชนกัน

แต่หากตัดประเด็นข้างต้นออกไปก่อน อย่างไรเสีย หลักฐานความผิดที่ถูกเปิดเผย ก็ยังบ่งชี้ให้เห็นถึง “อาการป่วยเรื้อรัง” ที่ดำรงอยู่มาตลอดและไม่เคยรักษาหาย ใน “ระบบราชการไทย” หรือ “สังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ”

แม้กระทั่ง “รัฐบาลคนดี (ย์)” ที่อยู่ในอำนาจมานานมากๆ ก็ยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้

ไปๆ มาๆ เรื่องการปราบปรามทุจริต จึงเป็นเพียงเรื่อง “พวกใครพวกมัน” ถ้าคุณอยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจ ต่อให้คุณทำผิดแค่ไหน คุณก็จะไม่โดนอะไร แต่ถ้าคุณไม่ได้อยู่ข้างผู้มีอำนาจ คุณก็จะกลายเป็นคนผิดคนมีมลทินโดยทันที

หรือบังเอิญ หากบรรดาผู้มีอำนาจเกิด “แตกกัน” ก็จะต้องมี “ลิ่วล้อ” ที่พลอยซวยและแบกรับโทษกันไป

คำถามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก “สองปรากฏการณ์ร่วมสมัย” ว่าด้วยกองทัพเรือและกรมอุทยานฯ ก็คือ ใครควรต้องรับผิดชอบต่อความผุพังและอาการป่วยไข้เกินเยียวยาของ “รัฐราชการไทย”?

และปัญหาเรื้อรังนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปี 2566 อย่างไร?

 

การบอกแค่ว่า ความฟอนเฟะของ “ระบบราชการไทย” คือ “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน” หรือเป็นเรื่องแยกไม่ออกจาก “นักการเมืองแย่ๆ” นั้นก็อาจจะเป็นความจริง ทว่า มีลักษณะ “เหมารวม” หรือ “เหวี่ยงแห” จนเกินไป

ขณะที่การชี้เป้าว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ดูดเลือดจาก “รัฐราชการอันป่วยไข้” มาอย่างยาวนาน คือ “บรรดาเครือข่ายอีลีท” ที่คอยเกาะกินผลประโยชน์อยู่บนส่วนยอดของพีระมิดนั้น อาจเป็นการเข้าใจต้นเหตุของปัญหาอย่างกระจ่างแจ้ง แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะแสวงหาวิธีการขจัดหยุดยั้งต้นเหตุที่ว่าอย่างฉับพลันทันที

ตรงกันข้าม หากพิจารณาไปยัง “สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน” เราจะพบเห็นบุคคลสองกลุ่มที่สมควรถูกกล่าวโทษ และยากจะเอ่ยปฏิเสธ ว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของบ้านเมือง (และ “รัฐราชการไทย”) ในทุกวันนี้

คนกลุ่มแรก คือ อดีตผู้นำกองทัพที่ลงมือทำรัฐประหาร โดยอ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อกวาดล้างนักการเมืองและเครือข่ายที่ทุจริต (แต่ถึงที่สุด คณะรัฐประหารก็ต้องพึ่งพากลุ่มก้อนบางส่วนของนักการเมืองเหล่านั้น ในการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566) พร้อมระบุว่าเขาและพรรคพวก “ขอเวลาอีกไม่นาน” ในการสานต่อภารกิจให้เสร็จสิ้น

น่าตั้งคำถามว่า 8 ปีผ่านไป มีความสำเร็จอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง? และประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสไปเท่าไหร่ในห้วงเวลาเดียวกัน?

แม้แต่การบริหารงานภายในกองทัพ ซึ่งถือเป็นที่มั่น-ฐานอำนาจของคณะรัฐประหารเอง ก็มีแง่มุมด้านลบปรากฏออกมาให้เห็นสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน “ระบบราชการ” ซึ่งเป็นมือไม้สำคัญของคณะรัฐประหาร ก็ยังหลุดไม่พ้นจากวงจรคอร์รัปชั่น

พึงตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด “คนดี” หรือ “ผู้นำที่ชอบอ้างว่าตนเองไม่มีพฤติกรรมทุจริตโกงกิน” จึงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้?

คำตอบเบื้องต้น อาจได้แก่ เพราะ “คนดี” ทำงานไม่เก่ง ทำงานไม่เป็น

หรืออาจเกิดคำถามต่อเนื่องที่สะท้อนกลับไปได้ว่า “ผู้มีอำนาจ” ที่มักพร่ำบอกว่าตนเองเป็น “คนดี” นั้น อาจ “ดีไม่จริง” หรือเปล่า?

คนกลุ่มถัดมา คือ พวกขัดขวาง-ต่อต้านการเลือกตั้ง เรียกร้อง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และเชื้อเชิญให้ “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาแก้ปัญหาของ “การเมืองในระบบ” เพื่อปูทางไปสู่การทำรัฐประหาร

ผ่านไป 8 ปี ยังไม่มีปัญหาใหญ่ๆ ข้อไหนของสังคมการเมืองไทยที่ได้รับการปฏิรูป ภาพรวมทุกอย่างยังเละเทะเหมือนเดิม และหลายอย่างก็ย่ำแย่กว่าเดิม

กองทัพที่เคยเป็นแกนกลางของพันธกิจ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็กลับกลายเป็นอีกหนึ่งองค์กร/สถาบัน ที่ถูกคนจำนวนมากในสังคมเรียกร้องให้ย้อนกลับไป “ปฏิรูปตัวเอง” เสียก่อน

บรรดา “นักการเมือง” ที่แปลงร่างมาเป็นนักเคลื่อนไหว “บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย-ระบบการเลือกตั้ง” บนท้องถนน (ทั้งที่นั่นคือแหล่งอำนาจอันชอบธรรมของพวกตน) นั้นคล้ายจะไม่ได้ต้องการ “ปฏิรูป” อะไรกันอีกแล้ว และหลายคนก็กำลังพยายามหาที่ทางมั่นคงให้แก่ตนเองในสนามเลือกตั้งปี 2566

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัด ก็คือ คน (ก่อปัญหา) สองกลุ่มนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในการเมืองไทย และยังจะมีบทบาทในการเลือกตั้งใหญ่หนหน้า

จึงนับเป็นโอกาสดี ที่ประชาชนซึ่งรู้สึกผิดหวังกับ “รัฐราชการไทยอันชำรุดผุพัง” จะได้ช่วยกันลงโทษบุคคลสองกลุ่ม ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว ผ่านคูหาเลือกตั้ง •