A Christmas Carol วรรณกรรมสะท้อนด้านเศรษฐศาสตร์ โอบกอดและรักลูกจ้าง ในวันคริสต์มาสที่แสนปิติ สะท้านวงการนายทุน

A Christmas Carol วรรณกรรมสะท้อนด้านเศรษฐศาสตร์ โอบกอดและรักลูกจ้าง ในวันคริสต์มาสที่แสนปิติ สะท้านวงการนายทุน

เมื่อเราดู A Christmas Carol เราจะพบสิ่งที่น่าสนใจจากเรื่องนี้ คือมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ ที่สะท้อนออกมาทั้งการใช้ชีวิตของผู้คน บรรยากาศการทำงานของคนในโรงงาน ตลอดจนตัวละครเอกของเรื่องที่ชื่อ เอเบอนีเซอร์ สกรูจ สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนคือการทำงานการทำธุรกิจเพื่อร่ำรวยเงินทอง ผ่านการพัฒนาประเทศในยุคอุตสาหกรรม แต่กระนั้นเราควรย้อนกลับไปมองสักนิดหนึ่งว่า ความร่ำรวย การหมุนเวียน การทำงานของคน จนนำไปสู่โรงทุนนิยม ล้วนมีผลมาจากการสร้างความไร้ขีดจำกัด การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งเหล่านี้บ้วนสะท้อนออกมาผ่านวิชาที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น

ในยุคของการสร้างวรรณกรรม A Christmas Carol เป็นช่วงที่อังกฤษตื่นตัวกับยุคอุตสาหกรรม สังคมเมืองขยายตัว คนชนบทต่างหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเพื่อทำงานในโรงงานต่างๆ ในยุคนี้เป็นยุคที่ผ่านพ้นยุคแห่งพาณิชย์นิยม ซึ่งจากเดิมรัฐเป็นผู้จัดการทางด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาเศรษฐกิจผ่านอาณานิคม ดินแดนอื่นๆ โดนเน้นการค้าผ่านเรือหมุนเวียนในเศรษฐกิจโดยเน้นรายได้ประเทศจากนอกประเทศเป็นสำคัญ แต่เมื่อเข้าสู้ยุคอุตสาหกรรม เกิดชนชั้นใหม่ที่เรียกว่าชนชั้นกลาง มีทั้งนายทุน พ่อค้า ที่ร่ำรวยจาการทำธุรกิจ โดยที่ยุคนี้ได้รับอิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของทฤษฎีมือที่มองไม่เห็นอย่าง อดัม สมิธ (1723-1790) สิ่งที่สมิธให้แนวทางแก่ยุคนี้คือการแต่งหนังสือเรื่อง ความมั่งคั่งของชาติ[1] โดยการตั้งคำถามในเรื่องของการเห็นประโยชน์ส่วนตนไปกันได้กับสังคมที่ดีได้หรือไม่ กล่าวคือสมิธมองว่า สังคมจะดีถ้าผู้คนประพฤติเพื่อประโยชน์ของตนเองถึงที่สุด แล้วเมื่อตนเองทำประโยชน์สูงสุดแล้วผู้อื่นจะได้รับจากการที่ตนเองดำเนินธุรกิจ ซื้อขายต่างๆ ให้เงินหมุนเวียนไปในตลาดทีหลัง สิ่งที่ สมิธ มองในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจในแง่ศีลธรรมของมนุษย์ทางเศรษฐกิจ กล่าวคือในอุดมคติของสมิธ ของผู้คนทำธุรกิจร่ำรวย ก็จะมีผลประโยชน์ส่งไปต่อผู้อื่น ทั้งการจ้างงาน หรือการซื้อผลผลิต สมิธ ขาดการมองสังคมอย่างไร้ศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เอเบอนีเซอร์ สกรูจ ในช่วงต้น ที่แสนจะขี้เหนียว มุ่งแต่ทำธุรกิจร่ำรวยจนไม่สนใจผู้อื่น ไม่เห็นใจทั้งลูกจ้างในเรื่องของเงินเดือน และการบริจาคเงินเพื่อสังคม วรรณกรรมเรื่อง A Christmas Carol จึงเป็นสิ่งสะท้อนการมองศีลธรรมอันดีของผู้คนในตลาดแต่ด้านดีเพียงด้านเดียว แต่ถ้ามองอีกด้านเมื่อสังคมมีคนอย่างสกรูจเต็มไปหมด จะพบว่าทฤษฎีกลไกตลาด มือที่มองไม่เห็นทางเศรษฐกิจ เพื่อแบ่งให้ผู้คนทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเน้นผลประโยชน์ของตนเองโดยที่รัฐไม่เกี่ยวข้องเลย ก็มีจำกัดอยู่เหมือนกัน ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ตีแผ่อีกแง่หนึ่งทางทฤษฎีของ อดัม สมิธ ที่มิได้เห็นมุมมองหนึ่งของสังคม ที่อาจไปสู้เรื่องที่เลวร้ายหากนายทุนตักตวงผลประโยชน์อย่างเดียว โดยมิได้นึกถึงสังคม และไม่มีกลไกใดมาทำให้เขารู้จักแบ่งปันสู่สังคม

เศรษฐศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนผ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นแนวคิดของ เดวิด ริคาร์โด (1772-1823)[2] ตัวริคาร์โดเองก็มีแนวคิดในเรื่องของตลาดเสรี ให้กลไกทางตลาดเป็นไปอย่างเสรี โดยเขามองความได้เปรียบเสียเปรียบของการทำงานในเรื่องที่คนคนใดคนหนึ่งชำนาญ กล่าวคือหากคุณชำนาญด้านไหนคุณก็ควรจะทำ และด้านที่ไม่ชำนาญ ก็ปล่อยให้ผู้อื่นทำไป เพราะในเวลาเดียวกัน ณ ตอนที่ทำงานสิ่งนั้นอยู่ สิ่งที่คุณชำนาญเมื่อทำออกมาอาจได้ผลผลิตที่มากกว่าคนที่ไม่ชำนาญมาทำงานสิ่งเดียวกันคุณด้วยซ้ำ

ทำให้เห็นถึงแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษถึงสองคน ที่มีผลต่อการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของพวกเขาไปปรับใช้ เป็นสิ่งสะท้อนหลักการดำเนินธุรกิจของประเทศอังกฤษในช่วงการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งการมองของทั้งสองคนนี้คือเน้นสิ่งที่เกิดประโยชน์ และนำไปสู่การค้าการทำธุรกิจอย่างเสรี โดยเน้นผลรับที่ได้ผลที่สุด

แต่กระนั้นในศตวรรษเดียวกัน (ศตวรรษที่ 19)  ที่ทุกคนเชื่อว่า คนจนสมควรจนอยู่แล้ว เพราะขี้เกียจ ไม่ก็เป็นคนเลว[3] กลับมีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านการค้าเสรี เกิดสำนักต่อต้านทุนนิยมขึ้นมา โดยที่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ และนำสิ่งที่ตนเองคิดสร้างสังคม ชุมชนในสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคม ไปปรับเข้าสู่ชุมชนในโรงงานที่ตนเองเป็นเข้าของกิจการด้วย นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ มีทั้ง ชาร์ล โฟรีเย (1772-1837) โรเบิร์ต โอเวน (1771-1858) และ อองรี เดอ แซ็ง ซีมง (1760-1825) คนเหล่านี้มีแนวคิดสร้างสังคมทางเศรษฐกิจที่ลดการแข่งขัน และปรับแวดล้อมสร้างสวัสดิการภายในชุมชนโรงงานของตน ให้น่าอยู่และมีแนวทางไปปรับใช้แก้ปัญหาสังคม ให้เกิดสังคมที่ดีเหมาะสมกับเจ้าของบริษัทและลูกจ้างของตนได้ สำนักนี้เรียกว่า สำนักคิดแบบยูโทเปีย

สำนักคิดที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ ทำให้เห็นถึงกระบวนการทางสังคม ที่มีความขัดแย้งต่อแนวคิดของทั้งสมิธทั้งริคาร์โด ทำให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มิได้มีแนวคิดคล้อยตามกับแนวคิดการค้าเสรีอย่าเดียว กลับมีแนวคิดการสร้างสังคมหรือชุมชน ที่มีสวัสดิการ ต้องการปรับเปลี่ยนสังคม เพื่อชนชั้นแรงงานให้น่าและเหมาะสมเป็นธรรมกับชนชั้นแรงงานมากขึ้น ดีกว่าที่เป็นมาที่ยึดตามแนวการค้าเสรี ชีวิตชนชั้นแรงงานกลับน่าสงสาร เพราะได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ความร่ำรวยถูกผูกขาดอยู่ที่นายทุน เมื่อนายทุนขาดศีลธรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่สำนักคิดการค้าเสรีมิได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือชนชั้นแรงงาน ที่ไม่ได้ประโยชน์จากสังคมตามแนวคิดของสมิธ และ ริคาร์โด ที่มองถึงมือที่มองไม่เห็นการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสังคมจะได้ร่วมกัน แต่แนวคิดของทั้งสองคนเหล่านี้กลับไม่ได้มีผลต่อสังคมเลย เมื่อนายทุนเห็นถึงผลประโยชน์และกักตุนผลประโยชน์ ไม่มีศีลธรรมทางเศรษฐกิจเลยจึงได้เกิดสำนักยูโทเปีย ที่เห็นใจชนชั้นแรงงานขึ้นมาเพื่อโต้แย้งแนวทางของการค้าเสรี

ต่อมาอาจเป็นเจ้าของทฤษฎี ที่อยู่กับความเป็นจริง และเป็นภาพสะท้อน A Christmas Carol ได้เด่นชัดที่สุด คือ ธอมัส มัลธัส[4]มัลธัส อาจมองแบบสกรูจ ตัวเอกของ A Christmas Carol ที่มองถึงเรื่องค่าจ้างและความจำเป็นต่อค่าจ้างให้เหมาะสมกับงานที่เรียกว่า กฎเหล็กของค่าจ้าง ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพราะหากแรงงานมีค่าจ้างที่มากเกินไป อาจเกินความฟุ้งเฟ้อ ความต้องการของสังคมก็ขยายตัวขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด และทำให้ประเทศชาติขาดทรัพยากรเลี้ยงดู นำไปสู่ความล่มจมในที่สุด เขายังมองไปในแนวทางเดียวกับ สกรูจด้วยซ้ำ ในเรื่องของเงินบริจาคหรือภาษีที่ต้องไปเลี้ยงคนจน เป็นการตบรางวัลความเกียจคร้าน[5] ทำให้คนจนจะไม่ทำงานรอรับสวัสดิการจากประเทศแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่มัลธัสมองครั้งนี้ เราอาจจะบอกว่ามัลธัสมองสังคมในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า แต่กระนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าหากการมองโลกไปในแนวทางของมัลธัสเป็นสิ่งที่เลวร้ายเกินไป เรากลับพบว่าถึงแม้ว่าประเทศอังกฤษจะก้าวหน้าสักเพียงไหน ก็ยังมีคนจนอยู่ดี ขณะที่ความก้าวหน้าของสังคมมาเยือนมีความทันสมัยใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย จะพบว่า รายได้ไม่ได้เพิ่มมากมาย[6] ค่าครองชีพของผู้คนมีแต่จะสูงขึ้นขึ้นไปทุกวันๆ แต่อาจจะเป็นตลกร้ายของการมองโลกในแง่ร้ายที่มิได้มองเห็นถึงเทคโนโลยี เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นบทโลกกลับช่วยสร้างผลผลิตขึ้นมาให้พอเลี้ยงประชากรในประเทศต่างๆ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นไป อย่างที่มัลธัสไม่คาดคิด

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือแนวคิดที่ส่งผลและเป็นบริบทแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในสังคมที่เหมือนเป็นฉากของละคร ที่ประกอบขึ้นมาเป็นวรรณกรรม A Christmas Carol ที่สะท้อนทั้งจุดเริ่มต้นของการค้าเสรีที่ทำให้สังคมขยายตัว เกิดชนชั้นกลาง ชนชั้นนายทุน ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการทำธุรกิจในยุคการตื่นตัวในด้านอุตสาหกรรม เป็นตัวบทสะท้อนถึงความร่ำรวยที่กระจุกอยู่ที่นายทุน หากนายทุนยึดตามแนวทางการค้าเสรีอย่างผิวเผินแต่ไม่มองถึงศีลธรรมอันดี ที่การค้าเสรีมองถึงผลประโยชน์ ที่จะพัฒนาที่ตนเอง และไปสู่สังคม แต่กลับเลือกที่จะเก็บความร่ำรวยไว้ที่ตนอย่างเดียว วรรณกรรมเรื่องนี้ยังทำให้เห็นถึงการประทะทางความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เริ่มมีสำนักคิดยูโทเปีย ที่ต้องการสร้างสังคมที่มีนายทุนและแรงงานอยู่ร่วมกันได้ โดยเน้นที่สภาพแวดล้อมและสร้างสังคมที่น่าอยู่ใช้ชีวิตร่วมกันผ่านสวัสดิการ วรรณกรรมเรื่องนี้ยังสะท้อนมุมมองความเป็นจริงที่สังคมยุคนั้นมองถึงความยากจน ของคนคนจนว่าเกิดขึ้นเพราะทำตัวเอง สะท้อนความคิดของผู้คนในสังคมผ่านมัลธัส ที่มองโลกในแง่ร้ายแต่ก็อิงความเป็นจริงที่ว่าเมื่อประชากรล้น การใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ความต้องการไม่มีที่สุดของประชากรอาจนำไปสู่หายะของประเทศ เมื่อความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แต่ทรัพยากรมีอย่างจำกัด แต่สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมนุษย์กลับมีการพัฒนาตนเองทั้งด้านเทคโนโลยี การปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม โดยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก และที่สำคัญวรรณกรรมเรื่องยังเป็นสิ่งที่สะท้อนมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ เป็นอย่างดี ในเรื่องของอย่ามองโลกของเศรษฐศาสตร์ในแง่ดีหรือแง่ร้ายเกินไป ให้อยู่กับความเป็นจริงและรู้จักเอื้อเฟ้อให้กับสังคม สังคมจะน่าอยู่มายิ่งขึ้น วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมที่ทำให้เห็นถึงโลกทุนนิยมที่มองถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีทั้งความร่วมมือความขัดแย้งทางความคิด เพื่อให้เกิดการโต้เถียงเพื่อสร้างหลักเศรษฐศาสตร์ให้เหมาะสมกับโลกที่จะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 

[1] Niall Kishtainy เขียน .ฐณฐ จินดานนท์ แปล .เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต ของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์ .น.56.

[2] Niall Kishtainy เขียน .ฐณฐ จินดานนท์ แปล .เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต ของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์ .น.64.

 

[3] เรื่องเดียวกัน น.72-75

[4] Niall Kishtainy เขียน .ฐณฐ จินดานนท์ แปล .เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต ของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์ .น.79.

 

[5] เรื่องเดียวกัน น.79

[6] เรื่องเดียวกัน น.84