ที่มา-ที่ไปของ ‘เบญจา แสงจันทร์’ หลังชีวิต 4 ปีในฐานะ ‘ผู้แทนราษฎร’

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 16/12/2022 เป็นบทสัมภาษณ์ในซีรีส์ “YOUR SPEAKER” ซึ่งทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี จะไปสนทนากับ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่มีผลงานน่าสนใจ ในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันที่ใกล้จะหมดวาระลง

 

ก่อนมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “เบญจา แสงจันทร์” เกิดและเติบโตที่จังหวัดชลบุรี รวมทั้งใช้ชีวิต-ทำงานที่ภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่

ในวัยเยาว์เธอเป็นคนสนใจและชอบตั้งคำถามเรื่องการเมืองกับคนรอบตัว กระทั่งหลังยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และยุคเริ่มต้นของสื่ออินเตอร์เน็ตในสังคมไทย เบญจาขณะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ก็เริ่มสนใจประเด็นความรู้ที่หลากหลายขึ้น ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งนั่นกระตุ้นให้เธอหันไปอ่านหนังสือ-บทความแนววิชาการมากขึ้น

ปี 2544 เบญจาได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในบริบทที่ประชาธิปไตยไทยกำลังตื่นตัวคึกคักด้วยการหาเสียงและชุดนโยบายของพรรคไทยรักไทย

แต่ทุกอย่างก็สะดุดลงด้วยรัฐประหารปี 2549 ในฐานะผู้มีความตื่นตัวทางการเมือง เบญจาตระหนักว่าตนเองถูกปิดกั้นเสรีภาพของการถกเถียงในโลกออนไลน์ เมื่อคณะรัฐประหารมีนโยบายควบคุมเว็บบอร์ดประชาไท เว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน รวมถึงห้องราชดำเนินในเว็บไซต์พันทิป

นั่นคือการบีบให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเดินทางไปรับฟังเวทีเสวนาวิชาการต่างๆ เช่น วงเสวนาของ “คณะนิติราษฎร์” ด้วยตนเอง หรือไม่ก็ต้องตามไปรับชมคลิปงานสัมมนาเหล่านั้นผ่านเว็บไซต์ยูทูบ

พร้อมการยึดมั่นในหลักการเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ คนเท่ากัน และระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่เคยสั่นคลอน

บรรยากาศของความตื่นตัวทางภูมิปัญญาหลังรัฐประหาร 2549 นี่เอง ที่ทำให้เบญจาได้พบปะทำความรู้จักกับ “ผู้ชายคนหนึ่ง”

“มีผู้ชายคนหนึ่งมาดเซอร์ๆ ผมยาวๆ ใส่เสื้อผ้าฝ้ายกางเกงขาก๊วยขึ้นเวทีเสวนา เห็นผู้ชายคนนี้ก็ดูแปลกตา แล้วก็ดูขบถมาก แล้วก็ขึ้นเวทีตามๆ กัน หลังจากที่เกิดคณะนิติราษฎร์ขึ้นมา

“ผู้ชายคนนี้เป็นนายทุนใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเราก็เห็นเขาตามหน้าสื่อตลอด แต่เราก็ดูแปลกตามาก เพราะในเวทีนั้นเป็นเวทีที่ชื่อว่า ‘ทุนไทยหลัง 14 ตุลาฯ’ ในขณะที่เป็นนายทุนแต่ก็วิพากษ์ทุนด้วย และเราก็เห็นจุดยืนเขาตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา”

ไม่ต้องสงสัยว่า “ผู้ชาย-นายทุนใหญ่” ที่เบญจากล่าวถึงคือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งเขาจะเป็นผู้ชักนำให้สตรีชาวชลบุรีคนนี้ได้เข้าสู่แวดวงการเมืองในอีกหลายปีต่อมา

“หลังจากรัฐประหารปี 2557 สัก 3-4 ปี ก็มีผู้ชายคนนี้ที่เราเคยชื่นชมเขาในบทบาทของการวิพากษ์ทุน กลับมาพูดถึงเรื่องการตั้งพรรคการเมือง แล้วก็กลับมาสนใจด้านการเมืองอีกครั้งหนึ่งหลังจากเขาก็ห่างหายไปนานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเลยเป็นอะไรที่น่าสนใจ

“เราเข้ามาร่วมติดตามตั้งแต่ตอนช่วยคุณธนาธรตั้งชื่อพรรค ก็ติดตามมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณธนาธรไปที่ชลบุรี ประโยคแรกที่เขาพูดกับเราก็คือ เขาต้องการเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมกันสร้างความฝันครั้งนี้ด้วยกัน เราก็คิดว่ามีคนที่พร้อม (สมัคร ส.ส.) อยู่แล้วในช่วงนั้น เหมือนเราก็เป็นแบ๊ก (ทีมงานเบื้องหลัง) คอยดันหลังให้ทุกคนได้

“แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพูดแล้วเรารู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากก็คือ ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในช่วงยุคสมัยที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่ลงมือทำมันด้วยตัวคุณเอง

“เราก็ไปเดินหน้าในการหาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ เพราะยังไม่มีแพสชั่น (ความปรารถนาจะเป็นนักการเมือง) พอได้ครบก็ไปเรื่องของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ยังไม่มีคนที่อยากจะมาสมัคร ตอนนั้นเราก็ทำธุรกิจ ก็อยากช่วยสนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อย คนธรรมดาที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ ให้เข้ามาเป็นผู้แทนของเรา

“พอหลังจากรับสมัคร ส.ส.เขตเสร็จ ก็จบกระบวนการ ค่อยมาเริ่มต้นกระบวนการของว่าที่ผู้สมัครที่เป็นแบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้มีความคิดเลยว่าจะได้เป็น ส.ส. ไม่มีจริงๆ ไม่มีจินตนาการในหัวเลยว่า ในสมัยนั้นพรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส.เกินห้าคน เคยได้ยินคำพูดนี้ไหมคะ?

“เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่มีจินตนาการที่จะเป็น ส.ส.อยู่แล้ว ที่สมัครเข้ามาก็คือให้ครบจำนวนตามที่ต้องการจะส่งเท่านั้น คือ 150 คน”

แต่ในที่สุด เบญจาก็ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 40 ของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล หลังอนาคตใหม่ถูกยุบ

อย่างไรก็ดี ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “เบญจา แสงจันทร์” คือ “ส.ส.ดาวรุ่ง” ที่โดดเด่นคนหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

ภาพจำแรกที่หลายคนจดจำเธอได้ (ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ) คือ การหยิบยกเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มาอภิปรายในสภา ซึ่งเบญจายังยืนกรานถึงความจำเป็นของภารกิจดังกล่าว

“การใช้พื้นที่สภา การใช้พื้นที่ที่ปลอดภัย พื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ในการคุยเรื่องนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เราไม่คิดว่าเป็นเวลาที่เร็วเกินไปอะไรด้วยซ้ำ ดิฉันคิดว่าอาจจะช้าไปด้วยซ้ำ …

“เรากำลังทำเรื่องปกติให้กลายเป็นเรื่องผิดปกติไปเสียแล้วในสังคมไทย … เราจะไม่พูดถึงสถาบันหรือองค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร?”

ภาพจำลำดับถัดมาคือ การอภิปรายเรียกร้องให้ปล่อยตัวบรรดานักโทษการเมือง ซึ่งแลกมาด้วยข้อกล่าวหาที่บางฝ่ายระบุว่า พรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลัง “ม็อบคนหนุ่มสาว”

“เวลาชนชั้นนำหรือคนฝ่ายอนุรักษนิยมเขาพูดประเด็นเรื่องนี้ (ก้าวไกลอยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชน) เรา (พรรคก้าวไกล) ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้บางทีเรายังมีความรู้สึกว่าเราอาจจะมีแนวคิดที่ล้าหลังกว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันด้วยซ้ำไป …

“เราต้องยืนยันแบบนี้ว่า เราอาจไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เขา (คนหนุ่มสาว) ทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งหมดหรือเป็นเรื่องที่ผิดทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราต้องยืนยันว่าคนเหล่านี้เป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องพูดว่าเขามีตัวตนอยู่จริง

“แล้วเราในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เราทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชน เราจะไม่รับฟังเหตุผลหรือไม่รับฟังความฝัน ไม่รับฟังความคิดของพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างไร?”

คําถามสุดท้ายที่ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ถามเบญจาก็คือ เลือกตั้งครั้งหน้า สังคมการเมืองไทยจะยังมี (ผู้สมัคร) ส.ส.ชื่อ “เบญจา แสงจันทร์” อีกหรือไม่?

คำตอบที่ได้รับกลับมา มีทั้งความคลุมเครือและความฝันอันยิ่งใหญ่เจือปนกัน

“หลายๆ ครั้ง เรารู้สึกหมดหวังกับการเมือง แต่เราก็รู้สึกมีความหวังมาก ถ้าจะมีคนรุ่นใหม่ๆ มีคนที่พร้อมจะก้าวเข้ามาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปด้วยกัน

“เพราะฉะนั้น ถามว่าวันนี้จะยังมีชื่อเบญจา (เป็นผู้สมัคร ส.ส.) ไหม? ถามเบญจาคงจะตอบไม่ได้

“ที่ดิฉันบอกเสมอว่าพลวัตของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ณ วันนั้น คนรุ่นใหม่เหล่านั้นหรือเยาวชนคนหนุ่มสาวที่วันนี้เติบโตไปเป็นคนในอนาคต เขาอาจจะอยากไปสร้างความฝันที่ใหญ่กว่าเรา เราไม่จำเป็นกับการเมืองไทยอีกแล้วค่ะในวันนั้น”