พหลโยธินและคณะ

ปริญญา ตรีน้อยใส
สวนหย่อมใต้สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ หลังย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญออกจากพื้นที่บริเวณเดิมที่แยกบางเขน

ไม่อยากให้เป็นแค่การว่าร้าย เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองริมถนนพหลโยธิน เพียงแค่อยากให้มองสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น และเข้าใจว่ามีที่มาแต่ครั้งอดีต

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จึงต้องย้อนอดีตไปมอง สมัยที่มีการขยายถนนกรุงเทพ-กรมอากาศยานที่ดอนเมือง พบว่า มีการวางแผนให้มีถนนรองไปพร้อมกัน ออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ.2476 ทั้งนี้ ยังมอบให้ กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

จากถนนสายหลัก คือ ถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ที่เริ่มจากสนามเป้านั้น มีประกาศให้เรียกขานว่า ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะผู้ก่อการ

ยังกำหนดให้มีถนนรองสี่สาย แยกจากถนนพหลโยธินไปทางทิศตะวันตก จนถึงทางรถไฟสายเหนือ

ดังนี้

 

ถนนสายที่หนึ่ง แยกตรงย่านสะพานควายไปถึงทางรถไฟ ไปเชื่อมต่อกับในย่านเกียกกาย ที่ตั้งของทหารหน่วยต่างๆ

ถนนสายที่สอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานีเกษตรกลางบางเขน เรือนจำชั่วคราวลาดยาว โดยประกาศให้เรียกขานว่า ถนนงามวงศ์วาน ตามนายดำรง งามวงศ์วาน นายช่างกำกับหมวดนนทบุรี

ถนนสายที่สาม อยู่เหนือขึ้นไป ไปเชื่อมกับสถานีรถไฟหลักสี่ มีการวางผังบริเวณทางแยกจากถนนสายแรก ให้เป็นลานกว้าง เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสรณ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏ ที่นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้นำทหารหาญจากต่างจังหวัดเข้ายึดพื้นที่ทางตอนเหนือของพระนคร

เช่นเดียวกับถนนงามวงศ์วาน ถนนสายที่สามนี้มีประกาศนามว่า ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายชะลอ แจ้งวัฒนะ นายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพที่ 2

ถนนสายที่สี่ อยู่หัวสนามบิน ชื่อ ถนนจันทรุเบกษา เพื่อเป็นเกียรติแก่ พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 14 ปี

 

แม้ว่าถนนทั้งสี่สายนี้วางแผนไว้ชัดเจน ทั้งแนวถนนและนามถนน แต่เมื่อไม่มีการกำกับหรือกำหนดการใช้พื้นที่และการก่อสร้างอาคารสองฝั่งถนน จึงเป็นต้นทางของปัญหามากมาย อีกทั้งมีการขยายถนนออกไปไกลกว่าแผนเดิม

อย่างถนนพหลโยธิน ขยายไปจนถึงแม่สาย เชียงราย กลายเป็นทางสัญจรหลักสู่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนประดิพัทธ์ ที่ต่อเนื่องกับถนนทหารย่านเกียกกาย

ถนนงามวงศ์วาน มีการขยายทั้งสองทิศทาง ทางตะวันตกจากถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ยาวต่อไปจนถึงบางบัวทอง ทางทิศตะวันออก ขยายต่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม จนถึงบึงกุ่ม

ถนนแจ้งวัฒนะนั้น ทางทิศตะวันตก ขยายถนนไปถึงถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงสะพานพระรามสี่ ถึงถนนชัยพฤกษ์ และบางบัวทอง ทางทิศตะวันออก ขยายต่อถนนรามอินทรา ไปจนถึงมีนบุรีและฉะเชิงเทรา

วันเวลาที่ผ่านไป ทั้งถนนสายหลักและสายรอง กลายเป็นทางขนาดใหญ่ ไปสู่ชานเมืองกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นการชี้นำให้เกิดความเจริญ ตามยถากรรม จึงนำมาซึ่งปัญหาคล้ายกัน

จะมีแต่ถนนจันทรุเบกษา ที่ต่างออกไป เพราะเปลี่ยนจากถนนสาธารณะ เป็นถนนสงวนสิทธิ์ กลายเป็นถนนภายในกองทัพอากาศ พื้นที่สองข้างถนนจึงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมและไม่มีปัญหาจราจร •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส