จับตา ธนาธรเข้าสภา ลุยร่างแก้ไข รธน.ปลดล็อกท้องถิ่น 29-30 พ.ย. นี้ ชี้ปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี!

29-30 พฤศจิกายนนี้ ร่วมติดตามการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ต่อรัฐสภา

หากสภาโหวตผ่าน นี่จะเป็นการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี! ปลดปล่อยทุกจังหวัดทั่วประเทศให้กำหนดอนาคตของตัวเอง

#ปลดล็อกท้องถิ่น #ธนาธรเข้าสภา #ประชุมสภา

“ช่อ พรรณิการ์” ชวนจับตา ร่างแก้ไข รธน.ปลดล็อกท้องถิ่น จ่อเข้าสภา 29-30 พ.ย. นี้ เชื่อ ส.ส. และ ส.ว.โหวตเห็นชอบ ด้าน “ศิริกัญญา” ชี้ การแบ่งรายได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ต้องมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองเข้าไปผลักดัน

พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, วราภรณ์ แสงชา วิทยากรอิสระและข้าราชการส่วนท้องถิ่น และชัชฎา กำลังแพทย์ นักศึกษาปริญญาเอก ประเทศญี่ปุ่น ที่ผลักดันด้านการกระจายอำนาจ ดำเนินรายการโดย สันติสุข กาญจนประกร ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘หลากมิติผู้หญิงกับการกระจายอำนาจ’

พรรณิการ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า การคืนอำนาจบริหารท้องถิ่น กลับสู่มือประชาชนจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ยิ่งการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เข้าไปบริหารราชการมากขึ้น และไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะสามารถเข้าสู่พื้นที่การเมืองได้มากขึ้น การกระจายอำนาจ คืนอำนาจที่แท้จริงสู่ประชาชน จะทำให้ตัวแทน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าไปมีบทบาทในพื้นที่การเมืองได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ พรรณิการ์ ยังระบุด้วยว่า วันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้คาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าร่างปลดล็อกท้องถิ่นจะเข้าสู่การพิจารณาอภิปรายกันในสภา ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้จะผ่านความเห็นชอบ ซึ่งขนาดร่างสุราก้าวหน้า เพื่อปลดล็อกสุราพื้นบ้าน ยังขาดอีกแค่เพียง 2 เสียงเท่านั้นในวาระที่ 2 ขนาดเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุนใหญ่ด้วย แต่รอบนี้ ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ หากไปดูสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว. จำนวนมากมีความผูกพันกับการเมืองท้องถิ่น หลายคนก็เคยเป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกันมาก่อนอีกทั้ง ส.ว. หลายคน พรรคการเมืองหลายพรรคก็เคยประกาศว่าเอาด้วยกับการกระจายอำนาจ มีนโยบายที่เคยใช้หาเสียง และหลายคนก็เข้าใจความเจ็บปวดของการเป็นรัฐรวมศูนย์ รวมอำนาจเอาไว้ที่ส่วนกลาง ที่สร้างปัญหาอุปสรรคไม่ใช่แค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาและอุปสรรคในวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากไฟถนนเสีย ถนนพรุพัง ประชาชนไม่รู้เลยว่าเขาต้องไปติดต่อใคร จะเป็น อบต. หรือเทศบาล ซึ่งโดยมากก็ไปหา อบต. เทศบาล แต่พบว่าถนนหลายเส้นอยู่ในอำนาจของกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ที่อยู่ส่วนกลาง กลายเป็นว่าปัญหาไม่ถูกแก้หรือแก้ล่าช้า

“เราหวังว่า ส.ส. และ ส.ว. จะโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น วางอคติทางการเมืองและเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และที่สำคัญจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำสอดรับกันหรือไม่ ไม่ใช่พูดอย่าง แต่พอถึงเวลาต้องแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนในพื้นที่ กลับไม่ยอมลงมติเห็นชอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนต้องช่วยกันติดตามและจดจำเอาไว้ว่าใครเป็นเช่นใด การกระทำกับคำพูดไปด้วยกันหรือไม่” พรรณิการ์ ระบุ

ด้าน วราภรณ์ แสงชา ข้าราชการท้องถิ่น กล่าวว่า สนับสนุนให้เรื่องนี้ถูกผลักดันให้สำเร็จ เพราะปัจจุบันท้องถิ่นถูกขี่คอ จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ท้องถิ่นมีงบประมาณและบุคลากรไม่พอ ภารกิจที่ทำได้ก็ถูกจำกัดอำนาจ ดังนั้นถึงเวลาแล้วเรื่องการกระจายอำนาจจะถูกผลักดันให้สำเร็จ กระจายอำนาจจริงๆ ตามหลักการ อยากให้สมาชิกรัฐสภาและผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

ด้าน ศิริกัญญา รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า การกระจายอำนาจ แท้จริงแล้วคือการคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนให้ประชาชนได้มีอำนาจ สามารถร่วมกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ และร่วมตรวจสอบการทำหน้าของนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้เลือกมา ส่วนเรื่องที่มีการกังวลกันว่ากระจายอำนาจแล้วจะทำให้ยิ่งมีการคอร์รัปชันนั้น ตนเองมองว่า ที่เห็นข่าวเรื่องการคอร์รัปชันเป็นระยะของท้องถิ่นนั้น เพราะประชาชนนั้นอยู่ใกล้ชิด และก็ยิ่งถูกพิสูจน์ว่าท้องถิ่นถูกตรวจสอบได้จากประชาชนและองค์กรตรวจสอบ ซึ่งต่างจากโครงการของส่วนกลาง และยิ่งหากพิจารณาความเสียหาย จะพบว่าความเสียหายจากส่วนกลางนั้นมากกว่าท้องถิ่นด้วย ซึ่งงานวิจัยหลายๆ ชิ้นก็พิสูจน์เรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่ากฎระเบียบของส่วนกลาง หรือช่วงตอนรัฐประหารสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ก็มีคำสั่ง คสช. ออกมาก็สะท้อนวิธีคิดแบบรัฐรวมศูนย์ นั่นก็เป็นสิ่งที่กดทับท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนท้องถิ่นไม่เกิดขึ้น และยังถอยหลังไปมากด้วยภายหลังจากการัฐประหาร และประเด็นเรื่องความต้องการที่จะผลักดันงบประมาณของท้องถิ่นให้มีส่วนแบ่งรายได้ 35% นั้นก็ถูกพูดกันมาหลายทศวรรษแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมือง เพราะเมื่อท้องถิ่นได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น ก็หมายความว่า ส่วนกลางก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้น้อยลง ประเด็นนี้เลยยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องนี้ เข้าไปผลักดัน