อุษาวิถี (5) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (5)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ระบบวรรณะของอินเดียมีอยู่สี่วรรณะ คือ

หนึ่ง วรรณะพราหมณ์ เป็นวรรณะที่มีหน้าที่ในทางปัญญา ผู้ที่อยู่ในวรรณะนี้จึงเป็นนักศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาเป็นคำตอบให้กับสังคม ในแง่ของอาชีพจึงออกมาในรูปของนักคิด นักปรัชญา ปัญญาชน นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ และรวมตลอดถึงนักบวช

การเป็นผู้มีความรู้ของพราหมณ์จึงเป็นสิ่งที่มีเกียรติและได้รับความเคารพนับถือ เพราะในด้านหนึ่งของผู้มีความรู้นั้นมักจะควบคู่กับคุณธรรมประจำตัวอยู่ด้วย

ในวัฒนธรรมอินเดีย ผู้ที่เป็นนักปกครองหรือนักรบจึงให้ความคารวะแก่พราหมณ์ ด้วยเชื่อว่า ผู้ที่มีภาระข้องเกี่ยวอยู่กับการใช้อำนาจ (นักปกครองหรือนักรบ) จะเป็นผู้ที่วางตนเป็นกลางอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะมักจะมีผลประโยชน์ และความโน้มเอียงส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น การกำหนดค่านิยมตลอดจนหลักความเป็นธรรม จึงตกอยู่กับผู้ที่อิสระจากความกังวลทางวัตถุหรือทางโลก ซึ่งก็คือ พราหมณ์หรือปราชญ์ผู้ทรงภูมิความรู้

ด้วยเหตุนี้ ปราชญ์ผู้ทรงภูมิความรู้หรือพราหมณ์ที่แท้จึงหยิ่งในวรรณะของตน และไม่นำตัวเองเข้าไปแสวงหาอำนาจทางการเมืองหรือลาภยศสรรเสริญในทางโลก เพราะจะเท่ากับลดตัวลงมาจนทำให้วรรณะของตนแปดเปื้อน

พราหมณ์ที่แท้จึงไม่มีสมบัติทางโลกมากมาย และกลายเป็นวรรณะที่ถูกยกเอาไว้สูงสุด

สอง วรรณะกษัตริย์ เป็นวรรณะที่มีหน้าที่ในทางการเมืองและการปกครอง โดยรวมหน้าที่ทางการทหารเข้าไปด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นไปด้วยในตัวว่า ในอดีตนั้นนักปกครองมักจะมีคุณสมบัติของนักการทหารควบคู่กันไปเสมอ จนแทบจะแยกขาดจากกันไม่ได้

วรรณะกษัตริย์แม้จะถูกจัดให้เป็นวรรณะสูงรองจากวรรณะพราหมณ์ และมีความหยิ่งในชาติตระกูลและขนบประเพณีของวงศ์ตระกูลก็ตาม

แต่ในแง่ของความเคร่งครัดรักษาความบริสุทธิ์แล้วกลับแตกต่างกับพราหมณ์

เพราะในความเป็นจริงนั้น วรรณะกษัตริย์พร้อมที่จะรับเอาบุคคลหรือวงศ์ตระกูลใดก็ตาม ที่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิก

ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามารุกรานอินเดียในบางสมัย

 

สาม วรรณะแพศย์ เป็นวรรณะที่มีหน้าที่ในทางเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งก็คือ พ่อค้าวาณิช นายธนาคาร ฯลฯ

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่อยู่ในวรรณะแพศย์มักจะมีฐานะร่ำรวย

แต่ด้วยเหตุที่หน้าที่นี้ใช้ความรู้ความสามารถน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์

วรรณะแพศย์จึงไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมโดยทั่วไป

สี่วรรณะศูทร เป็นวรรณะที่มีหน้าที่ในการผลิตโดยตรง โดยมีการเกษตรเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ โดยรวมเอาภาคการผลิตอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การก่อสร้าง ฯลฯ เข้าไว้ด้วย ผู้ที่อยู่ในวรรณะนี้จึงมีจุดร่วมที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ ต่างล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานทั้งสิ้น

ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นี้จะมีก็แต่ชนกลุ่มเดียวที่ไม่ถูกจัดให้เข้ากับวรรณะใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นพวกไร้วรรณะ ชนกลุ่มนี้คือ จัณฑาล ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะต่ำต้อยที่สุดของสังคมอินเดีย

การที่จัณฑาลไร้วรรณะเช่นนี้ ในด้านหนึ่งถูกสะท้อนผ่านหน้าที่ของจัณฑาลไปด้วยในตัว ว่าย่อมต้องมีหน้าที่ชนผู้มีวรรณะไม่ประสงค์จะทำ และย่อมเป็นหน้าที่ที่ข้องเกี่ยวกับความสกปรกเน่าเหม็น

ความจริงก็คือว่า จัณฑาลมีหน้าที่ในการจัดการกับศพ กวาดล้างส้วมหรืออุจจาระ เป็นต้น หน้าที่ของจัณฑาลจึงเป็นที่รังเกียจและไม่เป็นที่สัมผัส (untouchable) ของชนผู้มีวรรณะ

ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของจัณฑาล มีที่มาจากวัฒนธรรมความสะอาดของอินเดียที่เคร่งครัด ไม่ว่าจะในเรื่องการอาบน้ำชำระกาย การกินอาหาร ความสะอาดของที่อยู่อาศัย

กล่าวกันว่า วัฒนธรรมความสะอาดนี้มีที่มาจากบทบัญญัติทางศาสนา ที่สัมพันธ์กับเหตุผลทางสาธารณสุข แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อแรงกระตุ้นจากศาสนาก็เสื่อมไป ความสะอาดไม่ใช่เพื่อความสะอาดที่แท้ต่อไป แต่กลับเป็นความสะอาดที่ถูกปฏิบัติเพียงเพราะเป็นต้องทำไปตามบทบัญญัติมากกว่า

และได้นำไปสู่วัฒนธรรมการห้ามแตะเนื้อต้องตัวกัน การไม่กินอาหารร่วมกับคนต่างวรรณะ โดยเฉพาะกับวรรณะที่มีหน้าที่หรืออาชีพที่ต้องคลุกคลีกับความไม่สะอาด ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ อาชีพของจัณฑาล

 

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบบวรรณะจากที่กล่าวมายังคงกล่าวได้ว่า ในเบื้องต้นได้เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ให้สังคมอินเดียสามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีระเบียบ

ในขณะเดียวกันตัวของระบบก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวดกวดขัน

ความยืดหยุ่นยังคงปรากฏให้เห็นผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างวรรณะต่างๆ เช่น ศูทรซึ่งเป็นวรรณะต่ำ จะได้รับการปฏิบัติจากวรรณะกษัตริย์ด้วยความอ่อนโยน และอนุโลมตามกาลเทศะ หรือพราหมณ์ที่เป็นวรรณะสูงสุดก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทางปัญญาได้สมฐานะจริงๆ เป็นต้น

ความเป็นจริงเช่นนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากสิ่งที่เป็น “เป้าหมายของชีวิต” ที่แฝงเอาไว้ด้วยหลักจริยธรรมบางประการที่บรรดาพราหมณ์ได้บัญญัติขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสี่ประการ ดังนี้

หนึ่ง อรรถะ คือ ทรัพย์สินและสิ่งมีค่าในโลก

สอง ธรรมะ คือ คุณธรรมประจำใจ

สาม กาม คือ ความสุขเยี่ยงโลกียวิสัย

สี่ โมกษะ คือ ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกแยกให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ความแตกต่างระหว่างพวกอารยันกับพวกทราวิฑและชนเผ่าดั้งเดิมในอินเดีย สังคมอินเดียภายหลังการเกิดขึ้นของระบบวรรณะจึงขับเคลื่อนดำเนินไปด้วยดี

และเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นตามความเป็นจริงและความจำเป็นในยุคสมัยหนึ่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพ พลัง และดุลยภาพให้แก่สังคมในสมัยนั้น ซึ่งในแง่นี้หมายความว่า เจตนารมณ์เดิมของระบบวรรณะจึงเป็นไปในเชิงบวก ภายหลังจากนั้นอีกนับร้อยปี เจตนารมณ์เดิมนี้จึงค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปในเชิงลบมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่กลียุคในเวลาต่อมา

นอกจากในเรื่องของระบบวรรณะแล้ว ความเชื่อในพิธีกรรมก็เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่พวกอารยันได้นำเข้ามายังอินเดีย ความจริงแล้วพวกอารยันจัดเป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถในการใช้อาวุธ การใช้ม้า และการใช้รถม้า ฯลฯ