ฉัตรสุมาลย์ : พุทธศิลป์ที่กาฐมาณฑุ

เฉพาะในเมืองกาฐมาณฑุ ที่เป็นเมืองหลวงของเนปาลนั้น ท่านที่สนใจทางด้านศิลปะขอเวลาเฉพาะในเมืองนี้สักสามวันอย่างน้อยค่ะ ชาวพุทธกระจุกตัวอยู่ในเมืองกาฐมาณฑุ อย่างน้อย 3 กลุ่ม คือที่ลลิตปูร์ ภัคตาปูร์ และปาตัน

ช่วงที่ไปเนปาลคราวล่าสุด คือปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (2560) มีโอกาสดีที่ได้ผู้อำนวยการของมหาวิหารที่พักอยู่นั้น เป็นไกด์พาชมเมืองลลิตปูร์ เธอชื่อ ราเชศ ศากยะ

ที่เมืองลลิตปูร์นี้ เรียกว่า เคาะประตูบ้านไหนก็เป็นศากยะแทบทั้งหมด

ราเชศทักทายผู้คนที่เดินสวนทางกับเราตลอดทาง คนนั้น ก็เป็นอา คนนี้เป็นลุง ดูเป็นย่านที่ปลอดภัยมาก

วัดกับบ้านคนก็เบียดเสียดแออัดกันมาก ถ้าจะมีเวลาดูเพียงวัดเดียวขอแนะนำวัดทองคำ The golden Temple วัดนี้ บังเอิญราเชศเป็นสังฆะของวัดนี้ด้วย จึงสามารถเดินเข้าออกอย่างสบาย

เข้าใจว่ามีค่าเข้า 50 รูปี เราก็ไม่ได้จ่ายค่ะ ถือว่าเส้นใหญ่มากกับกรรมการเอง

 

ขออธิบายเรื่องสังฆะเล็กน้อย พวกที่ใช้นามสกุลศากยะ ไม่ได้แปลว่าสืบมาจากพระพุทธเจ้าดังที่เราเข้าใจ

แต่หมายถึงว่าสืบมาจากพระภิกษุในพุทธศาสนาที่อพยพเข้ามาจากอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 11-12

ตอนที่เติร์กมุสลิมเข้ามายึดครองอินเดีย เรียกว่าศากยะภิกษุ แต่ไม่สามารถรักษาวิถีชีวิตที่ต้องรักษาพรหมจรรย์ได้ ลูกหลานที่สืบทอดมาจึงใช้สกุลศากยะ แต่ยังทำหน้าที่ดูแลรักษาพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ในรูปแบบของพิธีกรรม

พอมาถึงช่วงพิธีกรรมนี้ บางทีก็แยกไม่ออกเอาทีเดียวว่า จะเป็นพุทธหรือฮินดู พุทธก็ไหว้เทพเจ้าฮินดู ฮินดูก็ไหว้พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มากมาย

ทีนี้ที่บอกว่าราเชศเป็นสังฆะของวัดนี้ เนปาลมีพิธีที่เด็กผู้ชายในช่วงอายุ 7-13 ขวบ (จะทำพิธีเฉพาะปีเลขคี่) ต้องออกบวชเป็นสามเณรสี่วัน เมื่อสึกออกมาแล้วก็นับว่าเป็นสังฆะของวัดนั้นๆ ราเชศเป็นสังฆะของวัดทองคำ แต่เป็นผู้อำนวยการที่อัคเศศวรมหาวิหารได้

โชคดีว่าวัดทองคำนี้ สังฆะวัดเพิ่งรวบรวมเงินบูรณะไป ทำให้ไม่ได้รับความเสียหายคราวที่เกิดแผ่นดินไหวในเนปาลที่เพิ่งผ่านมา

 

วัดแห่งนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจให้ดูทุกจุดเลยค่ะ อย่าไปคนเดียว ต้องยอมเสียเงินให้ไกด์ที่วัดนั้นพาชมค่ะ เพราะถ้าเราดูเองไม่รู้เรื่องก็จะเสียเวลา เสียโอกาสไปเปล่าๆ

ตรงประตูทางเข้า แปลกจากพุทธศิลป์ประเทศอื่นๆ มีพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ยืนอยู่ตรงประตูทางเข้าซ้ายขวา ทั้งสององค์ถือแส้ เป็นเครื่องหมายปัดเป่าอุปสรรค ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธในเนปาลมักเน้นวัชรยาน แต่มีพระอัครสาวก คือพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบเดียวกันแทบทั้งหมด มีแผงที่ทอดลงมาตรงกลางลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามหลังคา เป็นเส้นทางขึ้นสู่สวรรค์ของผู้ที่ได้ทำบุญค่ะ

ตรงส่วนที่เป็นสถาปัตยกรรมที่องค์เจดีย์ เป็นแผ่นเงินจริงๆ สลักลวดลายวิจิตรมาก เดินรอบพระเจดีย์ด้านล่างจะเห็นรูปเคารพพระโลเกศวรในปางต่างๆ ฝีมือหล่องดงาม ไม่มีองค์ใดเลยที่จะเสียรูปทรง เหนือพระรูปเหล่านี้ มีป้ายบอกว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ใด แต่เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่เป็นพระโลเกศวรปางต่างๆ กัน

ตรงด้านหน้าของพระเจดีย์ จะมีวัชระขนาดใหญ่ ความยาวน่าจะถึงเมตร ทุกคนที่เข้ามาสักการะจะสัมผัสวัชระที่ว่านี้ จนมันแววทีเดียว

ชาวบ้านก่อนออกไปทำงาน จะมาสักการะพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ มีของถวาย เช่น ดอกไม้ ที่เห็นเป็นที่นิยมก็เป็นดอกดาวเรือง มีผงชาดสีแดงที่มักจะแต้มที่หน้าผากหรือที่พระโอษฐ์ของรูปเคารพ

เมื่อเราเดินอยู่ที่พื้นด้านล่างเวียนไปทางขวา มีลิงทองเหลืองประจำอยู่สี่ทิศ แต่ละตัวถือผลไม้ต่างๆ กันเอามาถวายพระพุทธเจ้า มีทั้งขนุน และผลไม้อื่นๆ

ราเชศพาเราเข้าไปในตัวอาคารที่อยู่ด้านซ้าย เป็นอาคารไม้ บันไดแคบๆ ขึ้นไปชั้นบนเป็นรูปเคารพกั้นไว้ในตู้กระจก มีทั้งรูปพระพุทธเจ้าศากยมุนี พระนางตาราทั้งขาวและเขียว ที่ไม่เห็นบ่อยนักคือ พระพุทธเจ้าทีปังกรที่อยู่ในตู้ด้านในสุด

 

ขออนุญาตเล่าแทรกตรงนี้นะคะ พระพุทธเจ้าทีปังกร เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยของพระองค์นั้น เมื่อชาวเมืองรู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาโปรด ก็แบ่งงานกันจัดสรรตกแต่งทางเดินให้เรียบร้อย

สุเมธดาบสเห็นดังนั้น ก็เกิดศรัทธา ช่วยทำถนนด้วย ปรากฏว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมานั้น มีส่วนของถนนที่ยังปรับไม่เสร็จ ด้วยความศรัทธา สุเมธดาบสเลยทอดกายลงเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าเดิน

ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ สุเมธดาบสอธิษฐานว่า ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้โดยพระญาน ถึงคำอธิษฐานของสุเมธดาบส จึงทรงให้พุทธทำนายว่า ในอนาคตสุเมธดาบสจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ศากยมุนีพุทธเจ้า

ในประเทศไทยเราไม่ค่อยคุ้นกับพุทธประวัติส่วนนี้ ผู้เขียนเห็นรูปเคารพของสุเมธดาบสเป็นทองเหลืองหล่อ กำลังนอนคว่ำหน้า ทอดกายยาว ครั้งแรกที่พม่า เมื่อ 20 ปีก่อน นึกว่าจะซื้อมาเป็นที่ทับกระดาษ โดยที่ไม่รู้เรื่องราวว่าเป็นประวัติของพระพุทธเจ้าของเรานั่นเอง คราวหลังไปอีกหลายครั้งก็ไม่มีโอกาสได้เห็น ออกจะเสียดายอยู่

บรรดารูปหล่อทองเหลืองในเนปาลได้สัดส่วนงดงามทุกองค์ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพระพักตร์ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ฯลฯ

 

อีกวัดหนึ่งที่อยู่ในลลิตปูร์เหมือนกัน อยู่ท่ามกลางบ้านเรือนของชาวศากยะ บนแท่นที่วางไว้กลางแจ้งที่ชาวพุทธเนปาลมาสักการะด้วยดอกไม้ น้ำ และชาดสีแดงนั้น มีทองเหลืองมันแววทีเดียววางอยู่ด้วย ราเชศอธิบายว่า ใช้แทนกระจก ในความหมายเป็นการเตือนสติชาวพุทธที่มาถวายสักการะต่อพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ นั้น เราต้องตรวจสอบตนเอง มองดูกิเลสที่พึงไถ่ถอน เป็นสัญลักษณ์ เตือนสติที่ดีมากเลยค่ะ

เรามักพูดว่า เราไปปฏิบัติธรรมที่วัดนั้น วัดนี้ คำว่า ปฏิ แปลว่าย้อนทวน คือ ย้อนมองตนเอง เราไม่ได้ชื่อว่าปฏิบัติเลยหากเราไปเห็นแต่ความไม่ดีไม่งามของคนอื่น แต่ลืมที่จะมองตนเอง และการปฏิบัติก็ไม่ต้องไปปฏิบัติที่วัดก็ได้ค่ะ เพราะการที่เราต้องย้อนมองตนเองนั้น ต้องทำทุกที่เลย

รูปสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันมากในพุทธศาสนาแบบทิเบต คือ รูปมงคล 8 มี ฉัตร ธง สังข์ เงื่อนไร้ปม ดอกไม้ หม้อน้ำ ธรรมจักร และปลาคู่

บ่อยครั้งที่เนปาลจะมีแส้คู่แทนที่ธรรมจักร

 

เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จจีนครั้งแรกๆ พระองค์ท่านทรงถ่ายรูปมงคล 8 มา แล้วให้อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งมาติดต่อขอให้ผู้เขียนอธิบายความหมายส่งไปถวาย

สัญลักษณ์ทั้งแปดนั้น เป็นเครื่องหมายมงคลมีความหมายต่างๆ

ฉัตรหมายถึงความร่มเย็น ธงหมายถึงชัยชนะ สังข์ขาว ลักษณะสังข์ขาวที่จะเป็นมงคลนั้น ต้องเป็นสังข์ที่เวียนขวา ความรู้นี้ ได้จากพราหมณ์สมัยที่อยู่ที่อินเดีย เวลาทำพิธีพราหมณ์จะเป่าสังข์ก่อนทุกครั้ง เป็นการอัญเชิญเทพไท้เทวาให้มารับรู้พิธีที่กำลังเริ่มต้น สังข์ขาวในพุทธศาสนาหมายถึงพระธรรมที่ก้องกังวานออกไปไกล

เงื่อนไร้ปม หมายถึงความสวัสดีมีชัยไม่สิ้นสุด

ดอกไม้ ถ้าเป็นทางเอเชียก็จะใช้ดอกบัว ถ้าเป็นทางจีนนิยมใช้ดอกโบตั๋น ในความหมายว่า กลิ่นหอมของพระธรรมนั้นกระจายไปทั่วทุกทิศ ดอกโบตั๋นมีกลีบดอกมาก มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย

หม้อน้ำ ทางศรีลังกาจะมีดอกบัวอยู่ที่ปากหม้อ ถ้าอยู่บนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ จะหมายถึงสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้เป็นยา แต่โดยทั่วไปจะตั้งหม้อใส่น้ำไว้เต็ม หมายถึงความอุดมสมบูรณ์

ธรรมจักร หมายถึงการเคลื่อนกงล้อพระธรรมจักร นั่นคือการเผยแผ่ศาสนา เฉพาะตรงนี้ ในเนปาลมักใช้แส้จามรีไว้เข้ามาแทน ในความหมายว่า ปกป้องคุ้มครอง

และท้ายสุด เป็นปลาคู่ อันนี้ก็น่าสนใจอีก ในพุทธศาสนาหมายถึงความตื่นรู้ ซึ่งหมายถึงพระนิพพาน ที่ใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์ เพราะปลาไม่มีหนังตา จึงดูเหมือนว่า ปลาลืมตาอยู่เสมอ

ปลาคู่ที่ใช้ในความหมายของจีน เป็นปลาตัวโค้ง กลับหัวกลับหางกัน มักเป็นลวดลายที่เขียนไว้ที่ก้นถ้วย ก้นชาม มีความหมายว่า อุดมสมบูรณ์ กินใช้ไม่หมด ในความเป็นจริง กินอาหารหมดจานแล้ว แต่ยังมีปลาเหลือ (ในลวดลายก้นถ้วย) อยู่อีกตั้งสองตัว บ้านที่ยากจนนั้น อาหารไม่ค่อยพอเพียง

เรื่องกินอาหารเหลือก้นถ้วยก้นชามสามารถทำได้ในตระกูลที่มั่งคั่งจริงๆ

ลายปลาสองตัวที่ก้นชามจึงมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

 

มงคลแปดมีอิทธิพลมากในเนปาล นำมาเป็นลวดลายแกะสลักที่บานประตูหน้าบ้าน ที่เราเดินตามตรอกซอกซอยในเมืองลลิตปูร์เห็นสัญลักษณ์นี้เจนตาทีเดียว

ที่เจดีย์พระพุทธรูปพันองค์นั้น อยู่ท่ามกลางบ้านของพวกศากยะ เป็นซอกเล็กๆ เข้าไป ทางเดินโดยรอบพระเจดีย์ เล็กมาก ประมาณเมตรกว่าเท่านั้น ตัวเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยม สอบขึ้นข้างบน พระพุทธรูปที่ประดับโดยรอบเป็นหินแกะสลัก สวยทุกองค์ เมื่อเราเดินเลี้ยวไปทางซ้าย คือหันขวาให้พระเจดีย์ ทางด้านซ้ายมือ เป็นเจดีย์เล็กๆ ที่คูหาเล็กๆ ด้านหน้ามีรูปของพระนางสิริมหามายาเทวีแกะสลักจากหิน องค์สูงประมาณไม่เกิน 70 ซ.ม. มีพระโอรสเป็นทองเหลืองหล่อ เดินนำอยู่ข้างหน้าบนดอกบัว ดังที่เราเคยเห็น

วัดนี้เสียหายจากแผ่นดินไหว ยังมีไม้ไผ่ค้ำเกะกะอยู่ แสดงว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการบูรณะ ราเชศบอกว่า ท่านเจ้าคุณ ดร.ออนิล ศากยะ ที่มาเป็นเลขาฯ สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน เป็นผู้อำนวยการบูรณะหาทุนปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์อยู่ค่ะ

คราวนี้เรามีเวลาชื่นชมพุทธศิลป์ที่ลลิตปูร์ในกาฐมาณฑุ น้อยมาก เนื่องจากอยู่ในพรรษา ท่านธัมมนันทาลาสัตตาหะไป จึงต้องรีบกลับ แต่การทำงานพระศาสนาน่าจะได้มีโอกาสกลับมาอีกในเวลาไม่นานเกินรอ