โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก้าวใหม่ของพลังงานไทย?

นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บินมาร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค ประจำปี 2022 ที่กรุงเทพฯ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเอาไว้เมื่อ 19 พฤศจิกายนนี้ว่า ก่อนเดินทางกลับ นางแฮร์ริสได้ประกาศการให้ความช่วยเหลือด้านพลังงานที่น่าสนใจมากๆ เอาไว้ โดยระบุชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือไทยในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก แต่เป็น “นิวคลาส” ขึ้นในประเทศ

ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแถลงเอาไว้ด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “ความคิดริเริ่มว่าด้วยโลกที่ปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “เน็ต ซีโร่ เวิร์ลด์” ซึ่งสหรัฐอเมริกาประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อปี 2021

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ในทัศนะของสหรัฐอเมริกา นี่คือพลังงาน “สะอาด” ที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ประการหนึ่ง

เอเอฟพีชี้ให้เห็นว่า ไทยยังไม่เคยมีโรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ แล้วก็ทัศนคติโดยรวมต่อพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุวินาศภัยขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่จังหวัดฟุคุชิมา

เรียกง่ายๆ ว่า พอได้ยินคำว่านิวเคลียร์ก็มีความรู้สึกในด้านลบเกิดขึ้นตามมาทันที

เอเอฟพีระบุว่า ทางทำเนียบขาว เตรียม “เสนอให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค” ต่อไทย สำหรับนำไปใช้ในการ “พัฒนาเทคโนโลยีของเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูล (small modular reactors)” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอสเอ็มอาร์”

“เอสเอ็มอาร์” เป็นเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ “คอมแพกต์” คือกะทัดรัด เคลื่อนย้ายง่าย สามารถสร้างขึ้นภายในโรงงานจัดสร้างแล้วนำไปติดตั้ง

ทำเนียบขาวเน้นย้ำเอาไว้ว่า “เตาปฏิกรณ์แบบนี้โดยทั่วไปแล้วถือว่ามีความปลอดภัยสูงกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์เข้าไปทำหน้าที่แทรกแซงเพื่อปิดการทำงานของเตาในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะติดตามรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ระบุไว้อย่างนี้ครับ

“เรามุ่งหวังที่จะได้ร่วมกันทำงานกับฝ่ายไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อดีของเตาปฏิกรณ์แบบเอสเอ็มอาร์ อันเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้”

ปิดท้ายถ้อยแถลงของทำเนียบขาวระบุว่า “เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทยในการติดตั้งเตาปฏิกรณ์ชนิดนี้ ซึ่งจะมีมาตรฐานความปลอดภัย, ความมั่นคง และมาตรฐานในการป้องกันการเผยแพร่กัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับสูงสุด” และใช้พื้นที่จำกัดมากกว่าเตาปฏิกรณ์แบบอื่นๆ

เรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่งในทัศนะของผู้เขียน เนื่องจากเชื่อมโยงกับหลากหลายประเด็นมาก ที่สมควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เกิดขึ้นกับสังคม

ประเด็นที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า (ซึ่งโยงต่อไปอีกกับการพัฒนาเศรษฐกิจ), ความเป็นอิสระด้านพลังงาน, เรื่องสิ่งแวดล้อม, เรื่องความปลอดภัย เป็นต้น

คำว่า “เตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก” นั้น องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ให้นิยามไว้ว่า คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีขนาดตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์

ข้อแตกต่างที่สำคัญกับเตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ (ระหว่าง 2000-6000 เมกะวัตต์) ในที่นี้นั้นไม่ได้จำกัดแต่เพียงขนาด แต่เตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้า (กริด) ในขณะที่เอสเอ็มอาร์ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

แต่เอสเอ็มอาร์ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออยู่กับโครงข่าย อาจเป็นเพียงเตาปฏิกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับธุรกิจเพียงธุรกิจหนึ่ง, เขตอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งทำให้ กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้

เตาปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นระบบหล่อเย็น จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ผืนน้ำ อย่างเช่นทะเล หรือทะเลสาบ เป็นต้น

แต่เตาขนาดเล็ก ใช้ก๊าซ (ฮีเลียมหรือไฮโดรเจน) เป็นระบบหล่อเย็น จึงสามารถติดตั้งที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใกล้น้ำ

นอกจากนั้น ด้วยความที่มีลักษณะเป็น “โมดูล” จึงสามารถเริ่มต้นเพียง 1 เตาแล้วต่อขยายได้เป็นนับสิบเตา โดยสามารถใช้ “ห้องควบคุม” ห้องเดิมเพียงห้องเดียว ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาได้อย่างมาก

 

ในรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ในเวลานี้หลายประเทศกำลังพัฒนาเอสเอ็มอาร์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นจีน, รัสเซีย หรืออาร์เจนตินา แต่เตาต้นแบบ ยังคงอยู่ในระยะการออกแบบ

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เตาปฏิกรณ์แบบเอสเอ็มอาร์ หรือที่เรียกว่า เตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 4 แบบใช้ก๊าซหล่อเย็น (Generation IV gas-cooled reactor) ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก มีติดตั้งใช้งานกันมาแล้ว

เมื่อ 25 ปีก่อน แอฟริกาใต้ ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีเตาปฏิกรณ์แบบนี้ใช้งาน หลักๆ ก็คือใช้ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรมเหมือง และพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ

และจริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องเตาปฏิกรณ์แบบเอสเอ็มอาร์ในเวลานี้มีอยู่หลากหลายกว่า 50 รูปแบบ และกำลังได้รับการศึกษาวิจัยกันอยู่ในหลายต่อหลายประเทศ

ว่ากันว่า ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่ง “อนาคต” เลยทีเดียว