หนทางที่ตีบตันของ ‘ประเทศชาติ’ | เมนูข้อมูล

เวลาได้พิสูจน์ให้สัมผัสชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ความเชื่อว่าอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” เป็นมะเร็งร้ายทำลายการพัฒนาประเทศ

เพราะการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ การช่วงชิงกันเข้ามามีอำนาจรัฐคือการช่วงชิงโอกาสในการรักษา และแสวงผลประโยชน์ของตัวเอง

คนแต่ละกลุ่มมีช่องทางเข้ามีส่วนร่วมในอำนาจต่างกัน

ปกติทั่วไปเรามองกันแค่ “นักการเมือง” เท่านั้นที่เสนอตัวเองเข้าช่วงชิงอำนาจ

หากมองลึกลงไป ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น “นักการเมือง” เป็นเพียงตัวแสดง โดยมีคนกลุ่มอื่นๆ ชักใย หรือมีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

นายทุนเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจด้วยการเลี้ยง หรือให้การสนับสนุนนักการเมือง ให้ผลประโยชน์กับนักการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้นักการเมืองดูแล และทำในสิ่งที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของพวกเขา

ข้าราชการใช้อำนาจสนับสนุนนักการเมือง เพื่อหวังในวาสนาในยศถาบรรดาศักดิ์ที่นักการเมืองจะอำนวยให้ได้

ประชาชนก็เช่นกัน เลือกผู้แทนราษฎรก็เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง ผู้ที่ฉลาดกว่าคือเพื่อดูแลระยะยาว ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่า ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวจะขอรับผลประโยชน์ก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ แลกกับการขายสิทธิของตัวเอง

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การเมืองในระบอบประชาธิปไตย “อำนาจเป็นของประชาชน” คนส่วนใหญ่เลือกใคร คนคนนั้น หรือพรรคการเมืองนั้นจะได้ครองอำนาจรัฐ

แต่สำหรับประเทศไทยเหมือนจะไม่ใช่

ถึงวันนี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “คนที่ชอบ พรรคที่ใช่” มาเกือบครบทุกภาคแล้ว

หากเอาเฉพาะที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับแรกในภาคต่างๆ

ภาคอีสาน เพื่อไทย ส.ส.เขต ร้อยละ 54.35 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 51.40, ภาคใต้ ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 27.49 แต่ที่รองลงมายังเป็นเพื่อไทย ร้อยละ 14.94, ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 27.64 รองลงมาเป็นเพื่อไทย ร้อยละ 15.54

กทม. เพื่อไทย ส.ส.เขต ร้อยละ 28.50 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 28.60, ภาคเหนือ เพื่อไทย ส.ส.เขต ร้อยละ 48.70 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 48.75, ภาคกลาง เพื่อไทย ส.ส.เขต ร้อยละ 32.42 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 32.75

และล่าสุดภาคตะวันออก อันดับหนึ่งยังเป็นเพื่อไทย ส.ส.เขต ร้อยละ 33.68 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 33.68 เช่นกัน

ถ้าวัดกระแสกันตามโพลนี้ ย่อมหมายถึงคนส่วนใหญ่จะต้องเชื่อว่า “เพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ไม่เชื่อผลโพลว่าเพื่อไทยจะชนะแบบขาดลอยทั่วประเทศ แต่ที่ไม่เชื่อคือ “ประเทศนี้จะยอมให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล”

แม้ “อำนาจประชาชน” จะเลือกให้เพื่อไทยดูแลอำนาจรัฐ

แต่มีความเชื่อว่า “ผู้ได้ควบคุมอำนาจรัฐ” นั้น “อำนาจประชาชน” ไม่ใช่ผู้กำหนด

ความเชื่อนี้อยู่ในกลุ่มที่มีความรู้เท่าทันเกมอำนาจ เป็นนายทุน หรือผู้ในในกลุ่มที่ใกล้ชิดข้อมูล และมีความเฉลียวฉบาดในการประเมินมากกว่า

เป็นธรรมดาของการดูแลผลประโยชน์จะต้องเลือกข้างที่ตัวเองเชื่อว่าจะยึดครองอำนาจได้

และตรงนี้เองที่บอกว่า “การไม่มีสำนึกถึงอำนาจประชาชน เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ”

เมื่อกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมากกว่าเลือกที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก ด้วยความเชื่อว่าพรรคการเมืองนั้นมีโอกาสครองอำนาจได้มากกว่า ด้วยกลไกอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน

การซื้ออำนาจจากโอกาสที่มากกว่านั้น ก่อให้เกิดการผูกขาดผลประโยชน์ไม่รู้จบรู้สิ้น สร้างความเหลื่อมล้ำขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาสู่ความเป็นอารยประเทศในสภาพการเมืองเช่นนี้