ประสบการณ์ที่ต้อง ‘บันทึก’ จากการปฏิบัติหน้าที่ ‘ล่าม’ กมลา แฮร์ริส เฝ้า ‘สังฆราช’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

จังหวะชีวิตของคนเรานี่เอาแน่เอานอนไม่ได้นะครับ

ในฐานะข้าราชการเกษียณอายุมาเจ็ดแปดปีแล้ว การจัดการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพย่อมเป็นเรื่องที่ผมเฝ้าดูอยู่จากระยะห่าง เพราะไม่มีภารกิจใดต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งก่อนการประชุมเริ่มต้นขึ้นไม่ช้านาน

ผมก็ได้รับติดต่อจากทางวัดราชบพิธฯ ซึ่งผมเข้านอกออกในไปรับใช้การพระศาสนาเรื่องต่างๆ อยู่เป็นประจำ

แจ้งว่าในระหว่างการประชุมเอเปค รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นางกมลา แฮร์ริส ประสงค์จะขอเข้าเฝ้าสมเด็จอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และต่อท้ายด้วยการเดินชมพระอาราม กำหนดวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลาเย็น

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โปรดให้ถามมาว่าผมจะไปทำหน้าที่ล่ามถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชและร่วมในคณะนำชมพระอารามได้หรือไม่

คำถามแบบนี้ไม่มีคำตอบอื่นใดจากผมได้เลยนอกจากยินดีไปสนองพระเดชพระคุณ ถึงติดธุระอื่นใดก็จะไปยกเลิกธุระนั้นแล้วมาทำงานนี้ให้จงได้ครับ

ไม่ใช่โอกาสที่มีมาทุกวันที่เราจะได้พบกับบุคคลผู้ที่เคยเห็นอยู่แต่ในข่าวระดับโลก แถมยังไม่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินไปไกลถึงอเมริกาด้วย

นอกจากนั้น ประสบการณ์ที่จะได้รับจากการทำงานเพื่อเตรียมการทุกอย่างให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการของฝ่ายไทยก็ดี หรือการเตรียมการของฝ่ายอเมริกาก็ดี ล้วนเป็นของน่ารู้น่าศึกษาทั้งสิ้น

หลังจากเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นในเวลาเย็นค่ำของวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วันรุ่งขึ้นผมตื่นแต่เช้าแล้วรีบเขียนบันทึกความทรงจำของตัวเองว่าวันวานเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะนึกเจ็บใจกับตัวเองอยู่เสมอว่า เวลาเราอยากจะค้นคว้าอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องราวในอดีต ผมพบว่าชาวไทยเราไม่ค่อยชอบจดบันทึก หากแต่ชอบจดจำไว้ในสมองแล้วเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากมากกว่า มุขปาฐะแบบนั้นไม่นานก็เลือนหาย แถมก่อนจะเลือนยังเลอะอีกด้วย

เพื่อไม่ให้เรื่องทั้งหลายเลอะเลือนไปจากความทรงจำของผม ผมจึงรีบเขียนบันทึกดังกล่าวขึ้น เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็แจกจ่ายให้เพื่อนฝูงได้ช่วยกันอ่านใน LINE และ Facebook ปรากฏว่าได้ผลดี คือผู้อ่านถูกอกถูกใจ และแจ้งผลว่าเป็นบันทึกที่เก็บไว้ในวันข้างหน้าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้ดียิ่ง

ผ่านไปอีกสองสามวัน มาถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความสำหรับ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ผมมานั่งทบทวนว่ามีอะไรที่อยากกล่าวเพิ่มเติมนอกจากบันทึกที่เขียนไว้เมื่อสองวันก่อนบ้างหรือไม่

เมื่อตั้งคำถามอย่างนี้แล้วก็มีคำตอบ นั่นคือเรื่องที่จะพูดคุยกันวันนี้

เรื่องแรกที่สะดุดใจผมมาก คือระเบียบวิธีการในการเดินทางของบุคคลที่เป็นวีไอพี เมื่อถึงที่หมายปลายทางแล้วมีระบบระเบียบอะไรที่เป็นข้อกำหนดน่าสนใจบ้าง

ด้วยอายุที่ผ่านร้อนหนาวมาพอสมควร ผมน่าจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าผมได้เคยเห็นขบวนวีไอพีบ้านเรามาไม่น้อย นี่ไม่พูดถึงขบวนเสด็จของเจ้านายนะครับ ว่ากันเฉพาะแต่วีไอพีที่เป็นสามัญชนแต่มีตำแหน่งสลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา หรือประธานรัฐสภา ผมเคยต้อนรับท่านเหล่านั้น หรือบางทีจับพลัดจับผลูเคยไปนั่งอยู่ในขบวนรถยนต์ของท่านเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำ

วีไอพีเมืองไทย เมื่อรถมาถึงที่หมายแล้ว พอรถจอดสนิทจะมีเจ้าหน้าที่ไปเปิดประตูให้ทันที เปิดประตูปุ๊บท่านก็ลงมาปั๊บ คนที่เข้าแถวยืนรออยู่ก็กรูเกรียวกันเข้ามาต้อนรับ

บรรดาลูกน้องของวีไอพีที่นั่งอยู่ในขบวนรถติดตามมาจะวิ่งกระหืดกระหอบลงจากรถของตัวเองเพื่อมาเดินติดตามวีไอพีเข้างานให้ทันท่วงที ทุกอย่างดูจ้าละหวั่น และบ่อยครั้งที่สับสนอลหม่าน

แต่ประสบการณ์ของผมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนั้นเลย ผมเองกับรองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิกของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ต้องไปยืนรับตรงตำแหน่งที่รถจอดเลย เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าฝ่ายไทยทั้งสองคนจะยืนรอรับอยู่ภายในบริเวณวัด หมายความว่าวีไอพีเดินผ่านประตูเข้าวัดมาแล้วถึงค่อยจับมือทักทายกัน

แปลกยิ่งขึ้นกว่านั้น คือด้านหน้าหรือที่อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าด้านนอกของประตู ตรงตำแหน่งที่ใกล้กับที่จะเป็นที่จอดรถของวีไอพี มีการกางเต็นท์หรือปะรำสีขาวขนาดย่อมไว้หนึ่งหลัง อยู่ตรงกับแนวประตูเลยทีเดียว

ผมนึกเอาเองว่าเต็นท์ที่ว่านี้น่าจะใช้ประโยชน์ได้สองอย่าง อย่างแรกใช้ประโยชน์คุ้มแดดคุ้นฝนเวลาวีไอพีลงจากรถมาสดๆ ร้อนๆ ทุกอย่างยังไม่เข้าที่สนิท

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือใช้เป็นที่หลบภัยกรณีหากมีการปองร้ายจากที่สูง พอมาอยู่ใต้หลังคาเต็นท์เสียแล้ว ทุกอย่างก็จะดูครุมเครือไปหมด วีไอพีก็จะปลอดภัย

นี่เป็นการเดาๆ ส่งล้วน ผิดถูกไม่รับผิดชอบนะครับ จะไปถามใครก็คงไม่มีใครตอบว่ากางเต็นท์ไว้ทำไม เรารู้แค่เขากางเต็นท์ไว้ก็พอครับ

การปฏิบัติจริงเมื่อถึงเวลา ผมพบว่าเมื่อรถของวีไอพีจอดสนิทแล้ว ท่านรองประธานาธิบดียังนั่งอยู่ในรถอีกหลายนาที ระหว่างเวลานั้นเองเป็นโอกาสให้ผู้ที่ติดตามมาในขบวนสามารถทยอยเดินเข้ามาในวัดได้เรียบร้อยโดยไม่ต้องวิ่งกระหืดกระหอบ

ผมรู้สึกว่าเข้าท่าดีอยู่ ดีกว่าแบบไทยของเราที่ผมเห็นมาหลายครั้งและได้เล่ามาแล้วข้างต้น เมื่อทุกอย่างสงบนิ่งแล้ว ท่านรองประธานาธิบดีจึงลงจากรถเพื่อเดินเข้ามาในบริเวณวัดและกับผมซึ่งยืนรอต้อนรับอยู่

ขออนุญาตเสริมความอีกนิดหนึ่งว่า ผู้ที่ยืนรอต้อนรับอยู่พร้อมกับผมอีกท่านหนึ่งคือรองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศของเรา โดยไม่มีพระภิกษุรอรับอยู่ที่จุดนี้เลย ทั้งนี้ ได้ปรึกษาดูความเหมาะสมกันเรียบร้อยแล้วครับว่า ต่อให้เป็นแขกบ้านแขกเมืองใหญ่โตปานใดก็ตาม คงไม่เหมาะที่จะให้พระภิกษุของเรามารอต้อนรับที่ประตูวัด เพราะฉะนั้น จึงต้องมีฆราวาสมาทำหน้าที่ในส่วนนี้

จับไม้จับมือกันแล้ว ผมก็พาท่านรองประธานาธิบดีไปยังพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชและพระภิกษุอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ ณ ที่นั้นเรียบร้อยแล้ว

 

ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก คือการวางแผนการล่วงหน้าโดยละเอียดว่าอยากให้ภาพที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะออกมามีลักษณะอย่างไร แบบปฏิบัติในบ้านเรานั้น นายไปทางไหนลูกน้องก็ยกขบวนตามไปเป็นพรวน ลองนึกถึงภาพนายกรัฐมนตรีหรือผู้ใหญ่บ้านเราเดินไปไหนมาไหนเวลาไปเปิดงานพิธีการอะไรสักอย่าง หรือเวลาผู้ใหญ่บ้านเราให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ จะต้องมีคนไปยืนเป็นวอลล์เปเปอร์อยู่ข้างหลังเต็มพรืดไปหมด

เวลาคนจำนวนมากรุมห้อมล้อมอย่างนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ทำงานไม่ง่ายนัก เพราะทำอะไรก็กีดขวางติดขัดไปหมด

ผมพบว่าการเดินทางของรองประธานาธิบดีมาที่วัดราชบพิธฯ คราวนี้ ตำแหน่งนั่งตำแหน่งยืนตำแหน่งเดินของผู้ที่อยูในขบวนของท่านก็ดี ฝ่ายไทยของเราซึ่งเป็นเจ้าของบ้านก็ดี มีการเจรจาตกลงมาล่วงหน้าด้วยความชัดเจนว่า ภาพที่ปรากฏขึ้นจะเป็นอย่างไรและมีใครจะอยู่ในภาพนั้นบ้าง

เช่น ขณะอยู่ในพระโอสถ ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะมีเฉพาะสมเด็จพระสังฆราช รองประธานาธิบดี และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงจำนวนจำกัดมาก คือล่ามฝ่ายสหรัฐอเมริกาหนึ่งคน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระมหาเตชินท์ และผมอีกหนึ่งคนเท่านั้น นั่งเก้าอี้ซ้อนกันเป็นสองแถว

ภาพขณะรองประธานาธิบดีเข้าเฝ้าและสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระปฏิสันถาร จึงให้ความสำคัญกับหนึ่งพระองค์และหนึ่งท่านดังกล่าวโดยเฉพาะ ผู้อื่นที่อยู่ในพระอุโบสถ จัดเก้าอี้ชิดฝาผนังสองข้าง เมื่อเดินเข้าไปในพระอุโบสถ ด้านซ้ายมือเป็นเก้าอี้ห้าหกตัวสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ติดตามของแขกเมือง รวมทั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย

ส่วนทางด้านขวามือมีเก้าอี้อยู่เพียงแค่สองตัว สำหรับพระมหานายก และท่านรองอธิบดีกรมอเมริกา บุคคลเหล่านี้ไม่ปรากฏภาพในสื่อต่างๆ เลยครับ

เวลาเดินชมพระอารามซึ่งมีฉากหลังเป็นพระอุโบสถและระเบียงคดซึ่งสวยงามตระการตาเหลือเกิน ก็กำหนดให้มีผู้เดินชมเพียงแค่รองประธานาธิบดีคนเดียวและผู้นำชมฝ่ายไทยอีกสามคน คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระมหาเตชินท์ และผม

ภาพที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณะจึงเป็นภาพที่มีความสวยงามและมีมิติทางวัฒนธรรมที่ลงตัว ไม่มีเรื่องการบ้านการเมืองเข้ามารบกวน

 

มุมที่ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพก็มีการกำหนดแน่นอนชัดเจนว่าให้ไปยืนอยู่บนขั้นบันไดหรือระเบียงชั้นสองของอาคารที่อยู่ตรงกันข้ามกับระเบียงคดดังกล่าว

ภาพที่ได้จึงเป็นภาพมุมสูงและเห็นความไม่พลุกพล่าน ประกอบกับความสวยงามของพระอารามเป็นฉากหลังครบบริบูรณ์

น่าสังเกตครับว่าแม้แต่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยก็ไม่ได้เดินชมวัดด้วยกันกับผม

ท่านทูตกับคนอื่นทั้งหลายจะไปอยู่ตรงไหนระหว่างเราเดินเที่ยวชมวัดผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะพบกันอีกครั้งหนึ่งก็ตอนกำลังจะขึ้นขบวนรถกลับเสียแล้ว บรรดาผู้ติดตามจะไปขึ้นรถในขบวนเสียก่อน ส่วนท่านรองประธานาธิบดีร่ำลากับผมและรองอธิบดีกรมอเมริกาฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงไปขึ้นรถเป็นคนสุดท้าย แล้วขบวนก็เริ่มออกเดินทางต่อไป

ผมยืนส่งอยู่ที่จุดเดิมที่เป็นจุดที่แรกต้อนรับกัน

 

แบบแผนการปฏิบัติอย่างนี้ถ้าใครนำมาใช้ที่เมืองไทยเวลานายกรัฐมนตรีไปไหน ต้องโกรธกันตายไปข้างหนึ่ง เพราะทุกคนมีความสำคัญ จะหายหน้าไปไม่ได้ ต้องยืนอยู่ให้นายกรัฐมนตรีเห็นหน้าตั้งแต่ต้นจนจบ

แบบไหนจะดีหรือด้อยกว่ากันเป็นเรื่องแต่ละบุคคลจะตัดสินใจ

ผมเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกดี จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นของฝากจากประสบการณ์ส่วนตัวที่หาได้ยากครั้งนี้

ทุกอย่างที่เราได้พบเห็นในแต่ละวัน ถ้านำมาคิดตรึกตรองต่อเนื่องไป ก็จะได้ความรู้หรือประสบการณ์เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ตรงกันข้าม ถ้าไม่เอามาคิดบ้างเลย ของดีๆ ก็จะกลายเป็นของเสียเปล่าขึ้นมา น่าเสียดายครับ