ทรูวิชั่นส์กับฟุตบอลโลก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หลายต่อหลายเรื่อง ในกระแสสำคัญๆ มักเกี่ยวพันพาดพิงไปถึงเครือข่ายธุรกิจใหญ่

“ทรูวิชั่นส์ รายเดียวบนเพย์ทีวี ได้สิทธิ์ยิงสดฟุตบอลโลก ครบทุกแมตซ์” หัวข้อข่าวสำคัญของทรูวิชั่นส์ (ปรากฏใน https://truevisions.co.th/) กระตุ้นความสนใจขึ้นมา ด้วยเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวข้อง ดีลระหว่างรัฐ-เอกชน กับผู้ถือลิขสิทธิ์ระดับโลก กลายเป็นกระแสเทียบเคียง เชื่อมโยง จับจ้องไปยังบทบาทฟรีทีวีที่ผู้คนเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง

เรื่องราวที่เป็นไป คงติดตามกันต่อไปในรายงานข่าวนำเสนอ

แต่ ณ ที่นี้ ให้ความสนใจบทบาทอันโดดเด่นของทรูวิชั่นส์เป็นการเฉพาะ

 

“ทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและทีวีดิจิทัล รวมถึงเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งมีคอนเทนต์คุณภาพสูงหลากหลายทั้งต่างประเทศและในประเทศ พร้อมมุ่งสร้างการเติบโตด้วยการเน้นปรับตัวสู่ช่องทางดิจิทัลและการรับชมคอนเทนต์แบบ Over-The-Top (OTT) เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ได้อย่างตรงจุด ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวม 3.5 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 โดยลูกค้า 1.7 ล้านรายบอกรับบริการประเภทพรีเมียมและมาตรฐาน และลูกค้าส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าประเภท FreeView และ Free-to-Air” รายงานประจำปี 2564 ทรูคอร์ปอเรชั่น (หนึ่งในบริษัทสำคัญในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี) ในฐานะบริษัทแม่ทรูวิชั่นส์ให้ภาพธุรกิจอย่างกว้างๆ ไว้

ทว่า เมื่อพิจารณาผลประกอบการทรูวิชั่นส์อย่างเจาะจง ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นใจ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น บริการคล้ายๆ กันอย่างที่เรียกว่า Streaming Service อ้างอิงกรณีผู้นำธุรกิจระดับโลก-Netflix เติบโตอย่างมาก ทั้งจำนวนสมาชิก และรายได้ในช่วงนั้น

ทว่า ทรูวิชั่นส์กลับมีรายได้ลดลง (จาก 9,655 (2561) 8,300 (2563) และ 7,353 (2564) ล้านบาท ตามลำดับ) ขณะมีสัดส่วนรายได้ภาพรวมทรูคอร์ปอเรชั่น ได้ลดลงเช่นกัน จากเกือบๆ 7% เหลือเพียง 5% ( อ้างจากรายงานประจำปี ทรูคอร์ปอเรชั่น)

อย่างไรเชื่อกันว่า ทรูวิชั่นส์คงสำคัญสำหรับซีพี ในฐานะกิจการผ่านประสบการณ์การปรับตัวอย่างโชกโชน อยู่ภายใต้การบริหารโดยบุตรคนโตของธนินท์ เจียรวนนท์ มาตั้งแต่ต้น จนปัจจุบันเขาได้ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ แทนบิดาไปแล้ว

 

ธนินท์ เจียรวนนท์ เคยกล่าวไว้ (อ้างจาก “บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ปรากฏในสื่อธุรกิจญี่ปุ่น-NIKKE,2559) “สุภกิต ซึ่งเป็นลูกชายคนโต…รับผิดชอบดูแล ‘ทรูวิชั่นส์’ (True Visions ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ตั้งแต่เริ่มต้น…” ตามข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบัน สุภกิต เจียรวนนท์ คงเป็นประธานกรรมการบริหารทรูวิชั่นส์อยู่ด้วย

สุภกิต เจียรวนนท์ ได้ผ่านประสบการณ์ทางธุรกิจ มีส่วนร่วมในการก่อตั้งธุรกิจใหม่เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ตามกระแสคลื่นธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม โดยมีตำแหน่งกรรมการบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (ขณะนั้นชื่อ เทเลคอมเอเชีย) มาแต่ต้นตั้งแต่ปี 2536 ส่วนกรณีบุกเบิกทรูวิชั่นส์ที่กล่าวถึง อยู่ในช่วงเดียวกันนั้น หรือในช่วงเขายังอยู่ในวัยไม่ถึง 30 ปี

ตำนานในยุคทักษิณ ชินวัตร บุกเบิกธุรกิจสื่อสาร ได้สัมปทานทีวีแบบบอกรับ (Pay TV) ในนาม IBC (ปี 2532) สุภกิต เจียรวนนท์ ตามกระแสนั้นด้วยได้รับสัมปทานในธุรกิจเดียวกันในปี 2537 เขาเปิดตัวครั้งแรกต่อสารณชนในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ UTV ในปลายปีนั้น ถือว่าสั่นสะเทือนวงการพอสมควร “มีนาคม 2538 แพร่ภาพบริการยูทีวี เคเบิลทีวีที่แท้จริงเป็นครั้งแรก ผ่านระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสง” (รายงานประจำปี 2539 เทเลคอมเอเชีย)

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2541 UTV ได้เข้าซื้อกิจการ IBC กลายเป็น UBC เป็นเรื่องราวครึกโครมเชื่อมต่อกันพอดี กับข้อมูลนำเสนอโดยทรู คอร์ปอเรชั่น (รายงานประจำปี 2564 บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น) “กลุ่มทรูได้เข้าซื้อหุ้นยูบีซีทั้งหมดที่ถือโดยบริษัท MIH Ltd. ซึ่งเดิมเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกกับกลุ่มทรู ในเดือนมกราคม ปี 2549 และต่อมาได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Tender Offer) ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ปี 2549 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ทรูวิชั่นส์’ เมื่อต้นปี 2550”

“สุภกิต…เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย… ปัจจุบันสุภกิตยังดูแลการลงทุนขนาดใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์และธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอีกด้วย” ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้อีกตอน (บันทึกความทรงจำ-อ้างแล้ว) ที่บอกว่า “เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย” นั้นน่าสนใจ หากพิจารณาอย่างเจาะจง จะพบข้อมูลสะท้อนสายสัมพันธ์ในสังคมไทย ตามแนวทางธุรกิจไทยคงสืบต่อระหว่างรุ่น

และเชื่อว่าเป็นผลผวงประสบการณ์ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัมปทาน เป็นประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษของสุภกิต เจียรวนนท์

 

สุภกิต เจียรวนนท์ ตั้งใจระบุ “ตำแหน่งทางสังคม” ของเขาไว้ (ในรายงานประจำปี 2558-2559 ทรู คอร์ปอเรชั่น)

“2557 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาพิเศษรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2556 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 2555 ผู้ชำนาญการประจำ คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา” ว่าไปแล้ว นับว่าเป็นบทบาทที่แตกต่างจากธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ชื่อของเขามักไม่ปรากฏอย่างเป็นทางการเช่นนั้น

สุภกิต เจียรวนนท์ มีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2546 โดยเป็นกรรมการบริษัทซีพีออลล์และสยามแม็คโคร บริษัทซึ่งมีกรรมการ เชื่อกันว่า เป็นบุคคลแห่งสายสัมพันธ์อย่างน่าสังเกต อาทิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2551-2552) และประสพสุข บุญเดช (ประธานวุฒิสภา 2551-2554)

ส่วนกิจการต่างประเทศ ดูแตกต่างออกไป กรณี C.P. Lotus บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (ตั้งแต่ปี 2524) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกในจีนแผ่นดินใหญ่ สุภกิต เจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการในปี 2543 และในปี 2555 ก็ขึ้นเป็นประธานกรรมการ ในช่วงนั้น C.P. Lotus มีกรรมการที่น่าสนใจคนไทยอีก 3 คนด้วย ได้แก่ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท (รมช.คมนาคม 2534-2535 และ รมช.กลาโหม 2538-2539) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 2551) และ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ (ผู้บัญชาการทหารอากาศ 2551-2555)

ระหว่างนั้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่อย่างไม่ลดละ

“ในปี 2552 ทรูวิชั่นส์เริ่มหารายได้จากการโฆษณาเพิ่มเติมจากเดิมที่รายได้หลักของทรูวิชั่นส์มาจากค่าบริการสมาชิกรายเดือนเท่านั้น” (บางตอนรายงานประจำปี ทรู คอร์ปอเรชั่น – อ้างแล้ว) กว่าจะได้ว่ามาข้างต้น ตามกระแสข่าวในเวลานั้นต้องผ่านแรงต่อต้านพอสมควร กับอีกช่วงหนึ่งกับเข้าร่วมการประมูลทีวีดิจิทัลครั้งใหญ่ “ในเดือนเมษายน ปี 2557 บริษัทย่อยภายใต้กลุ่มทรูวิชั่นส์ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติจำนวน 2 ใบอนุญาต สำหรับช่องรายการข่าว ‘TNN 24’ และช่องรายการวาไรตี้ ‘True4U’ ซึ่งนับเป็นโอกาสในการกระตุ้นการสมัครแพ็กเกจหรือบริการอื่นๆ เพิ่มเติม และผลักดันการเติบโตของรายได้ให้กับทรูวิชั่นส์” (อ้างแล้วข้างต้น)

ทรูวิชั่นส์กับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ถือว่าสำคัญมากๆ (ปรากฏในรายงานประจำปี 2564 บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น) คงจะเป็นตอนที่ระบุว่า “ทรูวิชั่นส์มุ่งเน้นในการสรรหาคอนเทนต์คุณภาพสูงที่หลากหลายทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการถ่ายทอดสดชั้นนำ…”

เรื่องราวอันตื่นเต้น กรณีทรูวิชั่นส์กับฟุตบอลโลก 2022 จึงเกิดขึ้น •