ประธานสภาและคติอำนาจแบบไทย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมออกจะประหลาดใจนะครับที่คุณชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภา พยายามขัดขวางมิให้คุณอมรัตน์ โชติมิตต์กุล ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายปัญหาของการที่ศาล ไม่ยอมเบิกหลักฐานที่ยืนยันคำกล่าวของฝ่ายจำเลยในกรณีที่ทนายอานนท์ นำภา ถูกฟ้องร้อง คือเอกสารที่แสดงว่ามีการโอนทรัพย์สินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เดิม ไปไว้ในชื่อของพระเจ้าอยู่หัว และเอกสารการเดินทางไปประเทศเยอรมนีของพระเจ้าอยู่หัว

ท่านประธานสภาวิตกว่า คำอภิปรายของคุณอมรัตน์อาจกระทบถึงสถาบันกษัตริย์ได้

ข้อวิตกนี้อาจเป็นไปได้ และอาจเป็นไปไม่ได้ ผมแปลกใจตรงที่ท่านประธานคิดว่าเป็นไปได้นี่แหละครับ ตกลงในห้องรับแขกของเรามีช้างตัวโตอยู่หรือไม่ แล้วท่านประธานเห็นช้างหรือไม่ครับ

อันที่จริงนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งของไทย หวาดสะดุ้งและหวั่นไหวต่อช้างซึ่งไม่รู้ว่ามีอยู่ในห้องหรือไม่เสมอมา หลายครั้งในการประชุม ก่อนที่ประธานจะออกมาเบรกการอภิปรายของ ส.ส.เพราะเกรงว่าอาจจะเฉี่ยวชนช้าง ก็มักมี ส.ส.ท่านอื่น แม้แต่อยู่ในพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน ออกมาร้องเรียนให้ประธานยุติการอภิปรายเสีย เพราะหวาดเสียวเกินไปอยู่เสมอ

นอกจากช้างแล้ว อีกกลุ่มที่นักการเมืองไทยหวาดสะดุ้งคือนายทุนใหญ่ อย่าได้เอ่ยชื่อออกมาเป็นอันขาด ทำได้มากที่สุดเพียงใช้อักษรย่อ แม้แต่เมื่ออภิปรายถึงการทุจริตคดโกงหรือการผูกขาดตลาดของบุคคลนั้นๆ ด้วยมูลค่ากำไรเป็นพันๆ ล้านก็ตาม

ผมเข้าใจตลอดมาว่า หน้าที่สำคัญของประธานสภาก็คือ เปิดโอกาสอันเสรีและเท่าเทียมให้ตัวแทนประชาชน มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งคิดถึงสภาพที่สภาผู้แทนราษฎรไทยถูกรอนอำนาจ, สิทธิ และบทบาทให้เหลือน้อยที่สุดตลอดมา เรื่องโอกาสอันเสรีในการแสดงออกของ ส.ส. ยิ่งกลายเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของประธานสภา แม้ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่ลืมไปแล้วหรือว่า รัฐธรรมนูญก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ชนชั้นนำใช้รอนอำนาจและสิทธิของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ประธานสภาไทยมักไม่คิดว่าการผลักดันประชาธิปไตยของสังคมให้กว้างและลึกขึ้นเป็นภารกิจของตน เพราะไม่เกี่ยวกับการบังคับควบคุมการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้

แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดของผมเอง ประธานสภาไม่อาจทำอะไรได้ เพราะกฎหมายและข้อบังคับการประชุมได้ระบุไว้แล้วว่าห้ามอภิปรายอะไรที่กระทบกษัตริย์ หรือคนอื่นที่ไม่อาจแก้ข้อกล่าวหาในสภาได้

ผมจึงกลับไปค้นรัฐธรรมนูญไทยดูตั้งแต่ฉบับแรกสุดคือฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รวมทั้งตรวจสอบข้อบังคับการประชุมสภาด้วย

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็ระบุไว้ชัดเจนใน ม.24 ว่า “สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใดๆ ที่ได้กล่าวหรือแสดงความเห็น…ผู้ใดจะว่ากล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่”

นี่เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทั้งโลก ถ้าประชาชนเลือกผู้แทนฯ ของเขาไปพูดในสภาได้เฉพาะเรื่องที่อำนาจอนุญาตให้พูดเท่านั้น การเลือกตั้งจะมีความหมายอะไร

และที่ควรสำเหนียกไว้ก็คือ รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับหลังจากนั้น รวมแม้แต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินอีกหลายฉบับที่ใช้ในระหว่างการยึดอำนาจของกองทัพ (ซึ่งบางครั้งใช้กันเกิน 10 ปี) ก็ยังประกันสิทธิเสรีข้อนี้ของ ส.ส.สืบมา รวมรัฐธรรมนูญ “ใต้ตุ่ม” 2490, รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปัตย์ 2492, รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495, ธรรมนูญ 2502 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกโอกาสเสรีนี้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้อาจพูดได้ว่า ผู้แทนราษฎรในช่วงนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ หลายครั้งทั้งสภามาจากการแต่งตั้งของรัฐประหารทั้งหมดเลยก็มี เขาจึงปล่อยให้พูดอะไรโดยเสรีได้ แต่อย่างน้อยก็ยังละอายพอจะเหลือหลักการสำคัญของสภาผู้แทนราษฎรที่ขาดไม่ได้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

น่าประหลาดนะครับ กฎหมายสูงสุดฉบับแรกที่สร้างเงื่อนไขให้แก่เสรีภาพในการแสดงออกของ ส.ส.กลับเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2511 ไม่ใช่ใน “ธรรมนูญ” การปกครองแผ่นดินของคณะรัฐประหารชุดใด เงื่อนไขดังกล่าวคือหากการประชุมครั้งใดมีการถ่ายทอดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะอภิปรายได้โดยปลอดจากการฟ้องร้องกล่าวโทษก็จะหมดไป

เงื่อนไขสำคัญที่เอกสิทธิ์นี้จะมีหรือไม่อยู่ที่ “ถ่ายทอด” ถ้าไม่ใช้คำนี้เป็นศัพท์เทคนิคของการสื่อคำพูดหรือเหตุการณ์ตามเวลาจริง (real time) ถ่ายทอดในภาษาไทยก็อาจหมายถึงการบอกเล่าผ่านคำพูดของบุคคลที่สาม หรือผ่านลายลักษณ์อักษรก็ได้ ก็ก่อนหน้าที่เทคโนโลยีการถ่ายทอดเสียงและถ่ายทอดภาพในเวลาจริงของไทยจะพร้อมมูล การประชุมสภาก็ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว

รัฐสภาที่ไหนๆ ในโลกก็ต้องจัดที่ให้ประชาชนคนนอกเข้าฟังและสังเกตการณ์การประชุม ก็เพราะสภาแห่งนี้จะทำอะไรได้ ไม่ว่าออกกฎหมายหรือมอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรี ก็ล้วนทำด้วยอำนาจของประชาชนทั้งนั้น สิทธิการรับรู้และตรวจสอบสภาจึงเป็นของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ที่รายงานการประชุม หรือการเข้าไปฟังสังเกตการณ์เอง ก็ล้วนเป็นการเสริมให้สิทธิของประชาชนเป็นจริงมากขึ้น วิทยุและโทรทัศน์ก็ทำเช่นนั้น คือเสริมและขยายสิทธิการรับรู้ของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ไม่อาจเป็นเหตุลิดรอนเอกสิทธิ์ข้อนี้ของ ส.ส.ไปได้เลย

แม้แต่รัฐธรรมนูญเผด็จการทั้งหลายก็ไม่ได้ห้ามขาด เพียงแต่ไม่เว้นความรับผิดทางกฏหมายแก่ ส.ส.ผู้อภิปราย ซึ่งถ้า ส.ส.ผู้อภิปรายท่านใดพร้อมจะรับการฟ้องร้องกล่าวโทษของผู้ที่ถูกเอ่ยนาม หรือพร้อมจะเผชิญกับผลของคำอภิปรายหากถูกกระบวนการยุติธรรมเห็นว่าเป็นความผิดทางอาญา รัฐธรรมนูญ (แม้แต่ฉบับ 2560) เพียงแต่ระบุว่า หากผู้เสียหายที่เป็นบุคคลภายนอกร้องประธานว่าตนได้รับความเสียหายจากผู้อภิปรายภายในกำหนดเวลาอันหนึ่ง ประธานก็มีหน้าที่วินิจฉัยคำร้องนั้น หากพบว่าจริง ก็จะโฆษณาคำชี้แจงของผู้เสียหายให้ปรากฏแก่คนทั่วไปเท่านั้น

นั่นเป็นความรับผิดชอบอันเดียวของประธาน ส่วนเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นธุระของผู้อภิปราย

 

หันมาดูข้อบังคับการประชุมสภา ถ้าประธานเห็นว่าการปกป้องเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการอภิปรายเป็นส่วนสำคัญในภารกิจของตน ก็มีทางออกได้หลายทาง เช่น เสนอแนะให้ทำเป็นประชุมลับ ส.ส.หนึ่งในสี่ หรือ ครม.อาจเห็นด้วย ก็ทำเป็นประชุมลับได้ และสภาอาจมีมติห้ามโฆษณาข้อความการอภิปรายนั้นๆ ก็ได้ (แน่นอนว่าจะเท่ากับสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน กระทำการลับหลังประชาชนด้วยข้ออ้างว่าจำเป็น นี่เป็นการกระทำทางการเมืองอันต้องมีผลต่อนักการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)

ใน ม.124 ของรัฐธรรมนูญ ยังกำหนดว่า “… ห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใด โดยไม่จำเป็น” (ผมเน้นเอง) จำเป็นหรือไม่จึงอยู่ที่วินิจฉัยของประธาน ฉะนั้น ขอให้เราตราไว้ด้วยว่า สิ่งที่คุณอมรัตน์มุ่งอภิปราย (การละเลยมาตรการที่จำเป็นในกระบวนการไต่สวนของศาล) คือสิ่งที่คุณชวน หลีกภัย เห็นว่าไม่จำเป็น (ต่อความยุติธรรมที่ประชาชนไทยพึงได้รับจากศาลสถิตยุติธรรม)

อันที่จริงเอกสิทธิ์ด้านนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. คือการให้อำนาจแก่สภาในการตรวจสอบถ่วงดุล “อำนาจ” อื่นในสังคม ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอำนาจที่มาจากอธิปไตยของปวงชนเพียงอย่างเดียวด้วย เพราะในสังคมที่เป็นจริง มีอำนาจอื่นๆ อีกมากที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอธิปไตยของปวงชนเลย เช่น อำนาจผูกขาดของเจ้าสัว, อำนาจที่ถูกใช้อย่างผิดๆ (abusal of power) ของตำรวจ, ศุลกากร, ตรวจคนเข้าเมือง, ศาล, ปลัดกระทรวง, อธิบดี ฯลฯ ในขณะที่อำนาจของ ส.ส.เองก็อาจถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้จากอำนาจอื่นเช่นกัน เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ, และกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งพรรคการเมืองอื่นและองค์กรประชาสังคม และสื่อ

ประชาธิปไตยจะประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริง ก็ต่อเมื่ออำนาจอันหลากหลายในสังคมนั้นๆ สามารถตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ ด้วยกฎหมายบ้าง, ด้วยการเมืองบ้าง, ด้วยการแทรกแซงทางสังคมบ้าง ด้วยการประเมินคุณค่าของการกระทำนั้นๆ ให้สูงหรือต่ำ อันอาจเรียกได้ว่าเป็นการแทรกแซงทางวัฒนธรรม

อำนาจอันหลากหลายจึงตั้งอยู่บนระนาบเดียวกัน แม้แต่อำนาจที่เคยมีมาตามประเพณีและเป็นที่ยอมรับมานาน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกลับพยายามจะเสนอตัวบนระนาบเดียวกับอำนาจอื่น เพราะรู้ว่าการเสนอตัวเหนือระนาบ มักทำให้ความนิยมเสื่อมลง แทนที่จะมากขึ้น

พูดให้เข้าใจง่ายๆ แก่คนไทยโบราณก็คือ “บารมี” ยังมีความสำคัญอยู่ แต่น้อยลงไปแยะแล้ว เพราะต้องพยุงด้วยปัจจัยอันเป็นภววิสัยในปัจจุบัน บารมีจึงกลับมาสร้างอำนาจได้ใหม่

 

ในปรัชญาสังคมของไทย อำนาจอันหลากหลายไม่ได้สัมพันธ์กันเชิงระนาบ นั่นเป็นสภาวะ “ป่าเถื่อน” ต่างหาก โจรซ่องนี้ไปเรียกผลประโยชน์ในถิ่นของโจรอีกซ่องหนึ่ง ผลก็คือต้องยกพวกออกมาตีกันให้รู้ว่าใครใหญ่กว่าใคร ไม่ต่างจากเสือสิงห์กระทิงแรดในป่า ถิ่นใครถิ่นมัน เพราะต่างสัมพันธ์กันในเชิงระนาบทั้งสิ้น ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร

ขึ้นชื่อว่าสังคมแล้ว ต้องมี “ระเบียบ” และ “ระเบียบสังคม” ที่คนไทยเห็น คืออำนาจสัมพันธ์กันในเชิงแนวตั้ง อำนาจแต่ละอำนาจต้องถูกกำกับด้วยอำนาจอื่นที่เหนือกว่า (ด้วยกำลัง, เกียรติยศ, โภคทรัพย์, บารมี, คุณธรรม หรืออะไรก็ตามที) คุณ “สังกัด” กับใคร สำคัญแก่อัตลักษณ์ของคุณกว่าคุณเป็นคนเมืองอะไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “นาย” เป็นส่วนสำคัญในอัตลักษณ์บุคคลยิ่งกว่าถิ่นกำเนิด เพราะเมื่อรู้ว่าคุณมีใครเป็น “นาย” แล้ว คู่สัมพันธ์ของคุณก็จะประเมินได้ถูกว่า จะวางคุณไว้ตรงไหนในความสัมพันธ์

ในสังคมที่อำนาจถูกเรียงลำดับไว้เป็นชั้นๆ เช่นนี้ การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจจึงเป็นไปไม่ได้ มีแต่อำนาจที่เหนือกว่าเท่านั้นที่จะกำกับควบคุมได้ และด้วยเหตุดังนั้น การปกครองของไทยจึงต้องเป็นการปกครองของ “คนดี” เสมอ (ไม่ว่าจะมีการันต์ยอข้างหลังหรือไม่) อย่างน้อยถึงตัวไม่ได้ชื่อว่า “ดี” นายของตัวก็ต้องได้ชื่อว่า “ดี”

 

ผมเข้าใจว่า คติเกี่ยวกับอำนาจของไทยไม่ต่างจากของชวานัก (ดังคำอธิบายของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน) นั่นคือธรรมชาติของอำนาจย่อมเป็นเอกภาพหรืออยู่ในก้อนเดียวกันหมด จะมีอำนาจเกิดขึ้นภายนอกอย่างเป็นอิสระจากก้อนอำนาจอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม ย่อมเป็นไปไม่ได้ หากเกิดขึ้น นั่นคือความตึงเครียดที่ส่อไปทางความไม่สงบ กลับสู่ธรรมชาติอันปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะ “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน”

ถ้าอำนาจเป็นเอกภาพ การคานและถ่วงดุลอำนาจก็เป็นไปไม่ได้ หรือฝืนธรรมชาติ

สังเกตนะครับว่า ฝ่ายบริหารของไทย แม้แต่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยกอำนาจทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรี ครม.เป็นเหมือนลูกน้องเท่านั้น ที่จริงแล้วอำนาจบริหารนั้นถูกคานและถ่วงดุลไม่ใช่โดยฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการเพียงเท่านั้น แม้ในฝ่ายบริหารเองก็อาจตรวจสอบถ่วงดุลกันเองได้ด้วย นับตั้งแต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ก็ต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุมกว่าจะผ่านมติสำคัญๆ ออกมาได้ ระบบราชการทั้งระบบ แม้ว่าจัดแบ่งหน้าที่และอำนาจเป็นลำดับชั้น แต่กฎระเบียบต้องเปิดช่องให้มีการคานอำนาจและถ่วงดุลกันภายใน พูดง่ายๆ คือผู้น้อยคัดค้านด้วยเหตุผล ถึงผู้ใหญ่ไม่ฟัง ก็จะไม่เป็นภัยแก่อาชีพการงานของผู้น้อย

แน่นอนครับมีหลายเรื่องในวัฒนธรรมไทยที่ขัดกับประชาธิปไตย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมไทยเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง จะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย วัฒนธรรมก็แปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยอื่นๆ ตลอดมา (ทั้งภายในและภายนอก) และปัจจัยต่างๆ ที่ผลักดันให้วัฒนธรรมเปลี่ยนนั้น ทำให้เราต้องคิดถึงระบอบปกครองใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการต่อสู้แย่งชิงกันด้วยความรุนแรงในสังคม

ระบอบปกครองที่จะป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อกันได้ดีที่สุดคือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโดยตัวของมันเองก็ไม่ใช่ระบอบที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ต้องรักษาหลักการสำคัญบางอย่างให้สืบเนื่องไว้เท่านั้น เช่นสิทธิเสรีภาพของบุคคล และสิทธิการปกครองตนเองของพลเมืองเป็นต้น ส่วนรูปแบบจะผันแปรไปอย่างไรก็ได้