รัฐทำเกินกว่าเหตุ!? : สำรวจ “การประณาม” เจ้าหน้าที่-รัฐ สกัดม็อบต้านเอเปค ขัดหลัดสากลชัด?

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ของ “กลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน ในจำนวนนั้นเป็นสื่อมวลชน 4 คน และมีผู้ชุมนุม 25 คนถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ โดยตำรวจแถลงว่ามี “ตำรวจ คฝ.” ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 นาย ทำให้หลายพรรคการเมือง หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคนดังต่างออกมาสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย ทางมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ขอรวบรวมไว้ ดังนี้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าการชุมนุมและเดินขบวนของผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นอกจากนั้นผู้ชุมนุมยังได้แจ้งการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งผู้ชุมนุมไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขที่ตกลง หรือที่กำหนดไว้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลง หรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลผู้ชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ยุติการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม จึงจะมีอำนาจในการสลายการชุมนุม โดยต้องปฏิบัติตามหลักสากล

การเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงและจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวจึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และ ครป.ยังมีคำถามว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งนี้เป็นการปฏิบัติอย่างผิดขั้นตอน มิได้เป็นไปตามหลักสากล ไม่เป็นสัดส่วน และใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่

ครป.เห็นว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการกับการชุมนุม ทั้งที่สามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ที่สำคัญอีกประการก็คือ การชุมนุมทางการเมืองระหว่างการประชุมครั้งสำคัญทั่วโลกเป็นที่รับรู้และยอมรับการชุมนุมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ที่กติการะหว่างประเทศให้การรับรอง อีกทั้งยังเป็นดัชนีที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด เคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นอำนาจนิยมโดยสมบูรณ์เฉกเช่นพม่าที่ล้าหลังอย่างมิอาจปฏิเสธได้
ในกรณีนี้ รัฐยังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ โดยการให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไปยื่นหนังสือก็จะไม่มีภาพของการใช้ความรุนแรง และรัฐบาลเองก็จะได้รับเสียงชื่นชมในสายตาของประชาคมโลก ดังนั้น ครป. จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและสังคมไทยดังนี้

ประการที่หนึ่ง ขอให้สังคมร่วมกันประณามรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และการจับกุมผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว ที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และขัดต่อกฎหมายจากการสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสากล

ประการที่สอง ขอให้องค์กรที่อิสระและเป็นกลาง ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นการสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมฝูงชนไม่ได้ขออำนาจศาล บริเวณที่มีการสลายการชุมนุมมิได้ถูกประกาศตามพระราชกฤษฎีกาในสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะอยู่นอกเขตรัศมี 5 กิโลเมตร การใช้กระสุนยางข้ามขั้นตอนและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

ประการที่สาม ให้รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขโดยทันที เนื่องจากการจับกุมโดยมิชอบ และหยุดสั่งดำเนินคดีกลั่นแกล้งคุกคามแกนนำภาคประชาชนทันที

ประการที่สี่ รัฐบาลต้องดูแล และชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ด้วยความสมานฉันท์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของประชาชนที่รวมตัวกันการสลายชุมนุมของตำรวจต่อกลุ่ม ‘ราษฎรหยุดเอเปค 2022’ ที่ต้องการเพียงแค่เดินขบวนจากลานคนเมือง มุ่งหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นบุกจับกุม มีคนถูกกระสุนยาง แก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมาก โดยพิธา ระบุว่าถือเป็นความอับอายที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเช่นนี้ทั้งที่การประชุม APEC ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่แค่เพื่อพูดคุยตกลงกันในระดับผู้นำประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชน ภาคประชาสังคมต่างๆ ด้วย

ในอดีต การประชุมระดับนี้ในประเทศอื่นๆ ก็มักจะมีการรวมตัวชุมนุมของประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงเหล่าผู้นำประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะมีความเปิดกว้างและรับมือกับสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายได้แค่ไหน

ธิดารัตน์ โฆษกพรรคไทยสร้างไทยติงรัฐบาลทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุโดยใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมกรณีประชาชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปค’” พยายามเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่จัดประชุมเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อที่ประชุมเอเปค โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา พร้อมทั้งจับกุมผู้ชุมนุมอีกหลายราย

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้มีคำสั่งที่ 115/2565 ลง 17 พฤศจิกายน 2565 กำหนดเงื่อนไข คำสั่ง ในการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมฯ โดยมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีหนังสือแจ้งการปฏิบัติในการชุมนุมสาธารณะ ตลอดจนได้ชี้การกระทำที่อาจกระทำผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ ให้กับตัวแทนทราบแล้ว ซึ่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ถือเป็น 1 ในสถานที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามชุมนุมไว้ก่อนหน้านี้ตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ตาม การประกาศห้ามชุมนุมตามมาตรา 8 ดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดหลักปฏิบัติสากลที่ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ แต่อาจถูกจำกัดสิทธิได้โดยกฎหมาย (The right of peaceful assembly) ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

สำหรับข้อเรียกร้องที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการยื่นต่อผู้นำโลก ประกอบด้วย 1) เรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) เพราะมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศและสร้างผลกระทบให้กับประชาชน 2) เรียกร้องให้นายกฯ ยุติบทบาทการเป็นประธานการประชุมเอเปค เพราะไม่มีความชอบธรรมในการลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่มเอเปค และ 3) เรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา เปิดให้มีการเลือกตั้ง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

ทั้งนี้ นางสาวธิดารัตน์เห็นว่าการเคลื่อนไหวประท้วงและขึ้นป้ายประท้วง เป็นไปตามหลักสากล โดยชี้ให้เห็นไม่ว่าจะมีการจัดการประชุมนานาชาติหรือการประชุมที่ต่างประเทศ จะมีการจัดเตรียมการจัดเวทีสำหรับประชาชนไว้คู่ขนานกับการประชุมนั้นๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากข้อเสนอภาครัฐ และเป็นการแสดงการยอมรับและเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และสอดคล้องกับศีลธรรมความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิภาพโดยทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย พร้อมทั้งประณามการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาล และทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็ดอย่างน้อย 3 ราย

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมผู้ชุมนุม  ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ  และเป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง

“ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใดๆ แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ มีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา มีสื่อมวลชนที่ถูกทุบตี ได้รับบาดเจ็บ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขากล้าที่จะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”

“ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งมีมาตรการรับมือและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง  และยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย”

          “เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”  

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

ข้อมูลพื้นฐาน

การชุมนุมของ “ราษฎรหยุดAPEC2022” จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 พฤศจิกายน 2565 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยกเลิกนโยบาย BCG ประยุทธ์ต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในการประชุมเอเปกเนื่องจากไม่มีความชอบธรรม และจะต้องยุบสภาอีกทั้งเปิดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มชุมนุมประกาศว่า จะเดินเท้าจากลานคนเมือง ไปศูนย์ประชุมสิริกิตวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้นำชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. ระหว่างการเคลื่อนขบวนการชุมนุมประท้วงจากลานคนเมือง ที่บริเวณถนนดินสอ ตำรวจควบคุมฝูงชนได้นำรถและรั้วถนนขวางกลางถนน ก่อนที่ตำรวจจะประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมและเข้าจับกุมประชาชนอย่างน้อย 25 คน โดยนำตัวไปสถานีทุ่งสองห้องซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ที่เกิดเหตุ

อีกทั้งเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 9 คน ได้รับการบาดเจ็บ ในจำนวนนี้รวมสื่อแล้ว 4 คน ซึ่งใส่ปลอกแขนและตะโกนร้องเพื่อยืนยันตนว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่ยังคงโดนกระบองฟาดและทำร้ายบริเวณศีรษะ ตามแถลงการณ์ของ The Matter หรือถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ตามแถลงการณ์ของ The Isaan Record

หนึ่งในประชาชนที่ได้รับการบาดเจ็บ ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่เบ้าตา อาจส่งผลให้ตาบอดได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นายกรัฐมนตรีออกประกาศให้ 20 สถานที่และถนน รวมถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่ตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่

ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ ผู้จัดการชุมนุมขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อทางการไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ