ถนนยังไม่ทันแห้ง…รัฐคิดข้ามช็อต ออก 10 มาตรการ หยุดภัยแล้ง ป้องฝนทิ้งช่วง…แน่นะวิ!

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าไทยข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้ในหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขัง จากพายุดีเปรสชั่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ทั่วประเทศต้องเผชิญกับพายุฝนฟ้าคะนองกันถ้วนหน้า

แต่จากการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่ามี 61 จังหวัดที่ได้รับกระทบด้านพืช ตีเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,509 ล้านบาท ด้านประมง เสียหายประมาณ 51 ล้านบาท ส่วนด้านปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสำรวจ

แม้ผลกระทบจากอุทกภัยยังไม่สิ้นสุดลง แต่คนไทยต้องกุมขมับอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว

ซึ่งสิ่งที่จะตามมาในฤดูหนาวคือ ภัยแล้ง ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลได้เตรียมรับมือโดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ

รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เสนอ

โดยโครงการดังกล่าวมีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านน้ำต้นทุน ด้านความต้องการใช้น้ำ และด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10 มาตรการ

ดังนี้

 (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท คือการสูบน้ำเป็นทอดๆ จากแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมาย ส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง

2. เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง

3. ปฏิบัติการเติมน้ำ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง และปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

4. เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

5. สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ

6. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนพร้อมสรุปบทเรียน

7. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผนและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องในกรณีที่ฝนขาดช่วง

8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร

9. เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง โดยการสนับสนุนจัดสรรน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี) และจัดทำแผนการรับน้ำเข้า-ออกพื้นที่ลุ่มต่ำในการเพาะปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

และ 10. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง รวมถึงแหล่งน้ำที่รับน้ำจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชน รวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหาและแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ

 (Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP) 

นอกจากนี้ ในส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดในพื้นที่ทั่วประเทศหรือจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วน

อาทิ ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ก่อสร้าง ปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลและระบบประปา เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้แก่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่ใกล้เคียง ในระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมชลประทาน (ชป.) ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั้งประเทศ ตามปริมาณน้ำต้นทุนรวม 43,740 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยแบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 63% ของปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 2566 รวม 16,055 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 37% ของปริมาณน้ำต้นทุน ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั้งประเทศไปแล้ว 862 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 4% ของแผน

เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 135 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 2% ของแผน

 (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง ได้เข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำ พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ให้สามารถมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ทั้งประเทศ จำนวน 16.30 ล้านไร่

แบ่งเป็น ข้าว 13.55 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.75 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 9.23 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 8.51 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.72 ล้านไร่

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/2566 (ข้อมูล ณ 9 พฤศจิกายน 2565) ทั้งประเทศ จำนวน 0.22 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 0.15 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.07 ล้านไร่คิดเป็น 1.35% ของแผน ลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 0.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 0.08 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.04 ล้านไร่ คิดเป็น 1.30% ของแผน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง จำนวน 447 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 63,919 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุ ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 39,969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76% ของความจุ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 93.63 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 111.37 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 12,705 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เมื่อเทียบปริมาณในปี 2564 อยู่ที่ 59,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% ซึ่งปัจจุบันในปี 2565 มีปริมาณน้ำมากกว่า 4,575 ล้าน ลบ.ม.

แม้รัฐได้เตรียมแผนในการสกัดภัยแล้งไว้เรียบร้อยแล้วเช่นทุกปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีแผนที่รัดกุมแล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าภัยธรรมชาติก็ยากที่จะควบคุมอยู่ดี

ดังนั้น ต้องติดตามว่าสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2565/2566 นี้จะผ่านไปด้วยดี หรือคนไทยจะต้องเผชิญกับน้ำท่วมสลับแล้งที่เป็นภัยซ้ำซากนี้ต่อไป