ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (2) | เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (2)

 

จีนไม่กลายเป็นทุนนิยม

เพราะอคติของราชการต่อพ่อค้า

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

 

แดเนียล เดนเวอร์ : คุณเขียนไว้ว่าเป็นเวลาช้านานที่งานวิชาการทั้งหลายบรรยายจักรวรรดิจีนตอนปลายว่าหมกมุ่นแต่เรื่องภายในและตัดขาดจากโลกภายนอก ทว่า เอาเข้าจริงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 อุปสงค์ต่อผ้าไหมและเครื่องดินเผาจีนกลับระเบิดเถิดเทิงขึ้นในตลาดโลก และพอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จีนก็ซึมซับรับเอาแร่เงินส่วนใหญ่ที่พวกชาวอาณานิคมยุโรปกำลังขุดได้จากเหมืองในทวีปอเมริกาซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงที่ได้เรียนรู้นะครับ และมาตรฐานการครองชีพของจีนตอนนั้นอย่างน้อยก็เทียบเคียงได้กับในยุโรปตะวันตกทีเดียว

การไหลทะลักเข้ามาของแร่เงินเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจจีนไปอย่างไรบ้างครับ?

ฐานะของเศรษฐกิจจีนสมัยนั้นจัดอยู่ระดับไหนกันแน่ครับในระบบโลก?

แล้วในเมื่อมีความมั่งคั่งมโหฬารเหลือเชื่อขนาดนี้ ทำไมจีนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงไม่สามารถดำเนินการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิซึ่งจำเป็นแก่การพุ่งทะยานขึ้นของ ทุนนิยมล่ะครับ?

โฮเฟิง หง : นี่เป็นบทตอนที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์จีนครับ ความเข้าใจผิดที่มีกันทั่วไปก็คือว่าจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18 นั้น จีนไม่ต้องการสิ่งใดจากโลก แต่โลกต่างหากที่ต้องการแร่เงินของจีน ชาจีนและผ้าฝ้ายจีน นั่นเป็นเรื่องเข้าใจผิด

เพราะเอาเข้าจริงจีนต้องการสิ่งต่างๆ จากโลกนะครับโดยเฉพาะแร่เงิน เรามักมองแร่เงินในยุคสมัยใหม่ตอนต้นว่ามันเป็นแค่เงินตราหรือมาตรวัดมูลค่าอย่างหนึ่ง ทว่า ไม่มีคุณค่าให้เอาไปใช้สอยอันใด ตัวมันเองก็มีประโยชน์ใช้สอยอยู่แล้วในตัว

แต่นั่นเป็นความจริงหรือครับ?

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 นั้น จีนตกอยู่ในวิกฤตทางการเงิน มันแก้ตกไปได้ก็โดยการไหลทะลักเข้ามาของแร่เงินจากทวีปอเมริกาผ่านพวกพ่อค้าชาวยุโรปผู้ใช้แร่เงินที่ว่าซื้อหาสินค้าจีนนี่แหละ มันเข้ามาจากเครือข่ายการค้าอาณานิคมของโปรตุเกสผ่านกรุงมะนิลาซึ่งเชื่อมต่อตลอดทางจนจรดเมืองมาเก๊าและมณฑลกวางตุ้ง แน่ล่ะครับว่าต่อมาชาวดัตช์และชาวบริติชก็เข้าร่วมซื้อสินค้าจีนด้วยแร่เงินอเมริกันด้วย

แร่เงินที่ว่านี้สำคัญยิ่งเพราะระบบเงินตราจีนเคยพึ่งพาอาศัยตั๋วแลกเงินและเหรียญทองแดง แต่ข้อด้อยของตั๋วแลกเงินอยู่ตรงมันปลอมง่ายครับและยากมากที่จะรักษามูลค่าของมันไว้

ทางราชการอาจจะพิมพ์มันออกมามากไปแล้วทำให้มูลค่าของมันตกฮวบลงและผู้คนไม่เชื่อถือมันอีกต่อไปก็ได้

ฉะนั้น ปัญหาก็คือตั๋วแลกเงินนี่ไว้ใจไม่ค่อยได้

ส่วนทองแดงก็มีให้ขุดค้นจากเหมืองล้นเหลือเฟือฟาย ทั้งคู่จึงไม่ใช่วิธีที่สะดวกนักในการวัดมูลค่าสินค้าราคาแพงหรือสินค้าเทกองในเส้นทางการค้าระยะไกล

ในแง่นี้แร่เงินเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะมันมีค่ามากพอที่จะคงมูลค่าปริมาณมากเอาไว้ได้ในระยะทางยาวไกล

เดิมทีจีนเคยพึ่งพาซัพพลายแร่เงินจากญี่ปุ่นเพราะจีนเองไม่ได้ทำเหมืองแร่เงินในประเทศมากนักครับ แต่เผอิญญี่ปุ่นหันไปดำเนินนโยบายปลีกตัวปิดประเทศตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็เลยหยุดขนแร่เงินไปเมืองจีน จีนจึงต้องพึ่งพาแร่เงินอเมริกันเป็นเงินตราหลักในเศรษฐกิจของตนแทน

ทางราชการจีนเรียกเก็บภาษีเป็นแร่เงินซึ่งหมายความว่าผู้คนต้องจ่ายภาษีเป็นแร่เงินแม้ตนจะหารายได้มาในรูปเหรียญทองแดงก็ตาม คนเหล่านี้ต้องเอาเหรียญทองแดงไปแลกแร่เงินมาครับ การค้าทางไกลทั้งหมดในจีนก็ใช้แร่เงินเป็นเงินตราด้วย และแร่เงินที่ว่านี้ก็มาจากเหมืองในทวีปอเมริกา

ดังนั้น เศรษฐกิจจีนจึงเสียบติดเชื่อมต่อเข้ากับเศรษฐกิจโลกในนัยกระแสไหลเวียนของแร่เงินที่ว่ามานี้แหละครับ

ก้อนเงินตราจีนโบราณที่เชื่อมเศรษฐกิจจีนกับการค้าจากทวีปอเมริกา

ที่คุณถามว่า ถ้าหากจีนมีเศรษฐกิจตลาดดังกล่าว ทำไมจีนถึงไม่มีช่วงการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ทุนนิยม) ล่ะ? ผมต้องบอกก่อนว่าเอาเข้าจริงวิถีโคจรเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจตลาดไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมนี้น่ะแพร่หลายอย่างยิ่งนะครับ เอาเป็นว่ามันเป็นสถานการณ์ปกติทั่วโลกเลยก็แล้วกัน เพราะอย่างที่ผมบอกนั่นแหละครับว่าเมื่อคุณมีเศรษฐกิจตลาดกว้างใหญ่ไพศาล มันก็จะมีพวกพ่อค้าที่อยากสะสมเงินเพื่อการสะสมเงินนั้นเองอยู่เสมอแหละ คนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นนายทุนเงินกู้หน้าเลือดและนายธนาคารอะไรพรรค์นั้น

ถ้าคนเหล่านี้มีไม่มากนักและไม่ร่ำรวยอู้ฟู่เกินไปนักละก็ พวกเขาก็ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนสะดวกดีอยู่ครับ แต่ถ้าพวกเขามั่งคั่งใหญ่โตเกินไป มันก็จะยั่วให้ผู้คนนึกหมั่นไส้เหม็นขี้หน้า แล้วทางราชการก็จะเริ่มเห็นพ่อค้ามั่งคั่งพวกนี้เป็นคู่แข่งอำนาจที่คุกคามการปกครองของกษัตริย์

เนื่องจากกิจการสะสมเงินดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนรวนเรทางการเมืองและสังคม มันจึงทำให้ทางราชการริบทรัพย์และเล่นงานพวกพ่อค้าด้วยข้อหาทุจริตฉ้อฉลเป็นพักๆ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในจีน ในโลกอิสลาม เอเชียใต้และยุโรปคาทอลิกยุคกลาง เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปสมัยใหม่ตอนต้น (ชนชั้นปกครองหันมาสร้างพันธมิตรกับพวกพ่อค้ากระฎุมพีผู้มีทรัพย์) เนื่องจากการทำสงครามยืดเยื้อเรื้อรังนั้นเป็นกรณีพิเศษนะครับ

ขณะเดียวกันในกรณีจีน คุณประสบสถานการณ์ปกติที่ทางราชการพบว่าพวกพ่อค้ามีประโยชน์อยู่ แต่ก็เล่นงานคนเหล่านี้ด้วยถ้าหากพ่อค้ามีจำนวนมากเกินไปหรือมั่งคั่งเกินไป และข้อที่น่าสนใจคือเวลาพวกพ่อค้าเกิดขัดแย้งกับชาวนาชาวไร่ ช่างฝีมือหรือราษฎรสามัญซึ่งร้องอุทธรณ์ว่าข้าวปลาแพงเหลือเกินและพ่อค้าข้าวกักตุนข้าวไว้ละก็ ทางราชการจะเข้ามาช่วยเหลือกู้ภัยให้

ปกติทางราชการมักจะเข้าข้างลูกจ้างคนงาน ชาวนาชาวไร่และคนยากไร้ แล้วบังคับพวกพ่อค้าให้บริจาคข้าวปลาอาหารเป็นทาน หรือไม่ก็ลดราคาอาหารลงมา ฉะนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ก็มีการควบคุมราคาในจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 แหละครับ ผลลัพธ์ก็คือถ้าหากคุณอยู่ในตระกูลพ่อค้า มันจะเป็นธรรมเนียมแบบฉบับอย่างยิ่งเลยว่าเมื่อคุณทำมาค้าขายได้ร่ำรวยพอตัวแล้ว คุณจะเริ่มทุ่มทุนให้ลูกหลานเรียนหนังสือเพื่อเตรียมสอบจอหงวน (หรือสอบคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นขุนนาง)

ในระบบสอบจอหงวนของจีน ถ้าคุณสอบได้ดีมาก คุณก็จะได้เข้ารับราชการเป็นขุนนาง เนื่องจากกลุ่มพ่อค้าและนายธนาคารที่ประสบความสำเร็จมักถูกทางราชการเล่นงานในจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 มันจึงเป็นการเล็งการณ์ล่วงหน้าอย่างเฉลียวฉลาดที่จะลงทุนให้คนรุ่นลูกหลานเรียนหนังสือไว้ซะ เพื่อว่าพวกเขาจะได้เข้ารับราชการและคุณก็จะกลายเป็นตระกูลที่มีเส้นสายทางการเมือง

มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญยิ่งครับที่ตระกูลพ่อค้ามั่งคั่งจะกลับกลายเป็นตระกูลขุนนาง หรือนัยหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไป

นี่ไม่เหมือนในยุโรปที่คุณเห็นบริษัทต่างๆ ดำเนินธุรกิจการเงินของตระกูลหลายชั่วคนต่อกันอย่างตระกูลรอธส์ไชลด์เป็นต้น (https://th.wikipedia.org/wiki/ตระกูลรอธส์ไชลด์)

ทว่า สำหรับตระกูลพ่อค้าและนายธนาคารจีนนั้น วิถีทางที่ดีกว่าในการสืบทอดฐานะชนชั้นนำคือการป้องกันไม่ให้รัฐเข้ามายึดทรัพย์ของพวกตนโดยกลับกลายเป็นตระกูลขุนนางเสีย

 

แดเนียล เดนเวอร์ : ถ้างั้นข้อแตกต่างใจกลางก็อยู่ตรงนี้ใช่ไหมครับ คือรัฐจีนสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งมุ่งรักษาเสถียรภาพและความบรรสานกลมกลืนทางสังคมไว้นั้น เอาใจใส่สดับตรับฟังข้อเรียกร้องของลูกจ้างคนงาน ทว่า โดยเปรียบตัดต่างกัน บรรดารัฐยุโรปทั้งหลายกลับแสวงหาพันธมิตรกับพวกพ่อค้าอย่างกระตือรือร้นเพื่อบดขยี้การก่อความไม่สงบของราษฎรให้ราบคาบไปเสียเมื่อใดก็ตามที่มันปรากฏขึ้นมา และดังนั้นก็เลยส่งผลให้การค้าพาณิชย์ในยุโรปไม่ถูกตราหน้าและกดปราบไปเสียหมด

ในจีนนั้น พวกผู้ดีท้องถิ่นชนบทและชนชั้นนำของรัฐทุ่มเงินมากมายเข้าไปในการค้าพาณิชย์ แต่บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายแทนที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นเป็นตระกูลเรืองอำนาจหลายชั่วคนอย่างตระกูลรอธส์ไชลด์ในยุโรป พวกเขากลับทุ่มเททรัพย์สินเปลี่ยนแปรตัวเองให้กลายเป็นชนชั้นนำตัวจริง กล่าวคือ เป็นพวกผู้ดีและขุนนาง

โฮเฟิง หง : ในบริบทของยุโรป เราได้เห็นผู้ปกครองอุปถัมภ์ที่พยายามเห็นอกเห็นใจมวลชนและต่อต้านพวกพ่อค้าเหมือนกัน แต่กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้วมีน้อยกว่าในจีนครับ เพราะพวกผู้ปกครองยุโรปต้องการการจัดหาเงินและทรัพยากรการเงินของพวกพ่อค้ามาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสงครามของตน

ส่วนในจีน พวกผู้ปกครองห่วงกังวลความไม่สงบทางสังคมมากกว่าเพราะในช่วงรุ่งเรืองของราชวงศ์ชิงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้น พวกเขาถูกมองว่าเป็นราชวงศ์ต่างชาติที่เข้ามายึดครองครับ

เดิมทีชาวแมนจูเป็นชนชาติกึ่งเร่ร่อนพวกหนึ่ง ตอนแรกเริ่มพวกเขากระทั่งพูดและเขียนภาษาจีนไม่ได้ด้วยซ้ำไปเพราะพวกเขามีภาษาแมนจูของตัวเองน่ะครับ กล่าวในแง่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและความเกี่ยวดองทางวัฒนธรรมแล้ว ชาวแมนจูใกล้ชิดกับชาวมองโกลและชนชาติเอเชียกลางอื่นๆ มากกว่า ชาวแมนจูเข้ามารุกรานจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ครับ พวกเขาบดขยี้แล้วก็กำจัดราชวงศ์หมิงทิ้งซึ่งถือเป็นราชวงศ์ชนชาติ ฮั่นสุดท้ายของจีน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พวกผู้ดีชนชาติฮั่นจำนวนมากยังกำลังต่อต้านการปกครองของแมนจูอยู่เหมือน ที่พวกเขาเคยต่อต้านการปกครองของมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 นั่นแหละครับ ตลอดช่วงที่ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีน ชาวแมนจูจึงห่วงกังวลที่ตัวเองถูกมองว่าเป็นราชวงศ์ต่างชาติผู้รุกราน มิหนำซ้ำ เป็นเวลาอันยาวนานในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ชาวฮั่นไม่ได้รับอนุญาตให้ข้าร่วมกองทหารชั้นนำซึ่งเป็นหน่วยบริหารด้วยในตัวของแมนจูซึ่งเรียกว่ากองธง (https://th.wikipedia.org/wiki/แปดกองธง) อันสงวนไว้สำหรับชาวแมนจู ชาวมองโกลและชนชาติกึ่งเร่ร่อนอื่นๆ เท่านั้นอีกด้วย

ดังนั้น ในบางแง่มันก็จริงที่ว่าชาวแมนจูเป็นราชวงศ์ต่างชาติผู้ยึดครอง และเนื่องจากราชวงศ์ชิงวิตกเหลือเกินเรื่องความชอบธรรม พวกเขาก็เลยกระตือรือร้นกว่าที่จะเข้าข้างผู้เสียเปรียบเวลาเกิดความขัดแย้งทางชนชั้นขึ้นมา จะได้แสดงตนว่าเป็นผู้ปกป้องอุปถัมภ์ประชาสามัญชน ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ระแวงสงสัยพวกพ่อค้าและชนชั้นกระฎุมพีผู้มีทรัพย์มากกว่าเนื่องจากพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น ฉะนั้น มันก็มีมิติทางชาติพันธุ์อยู่ในพลวัตนี้ด้วยครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)