ประชามติพร้อมเลือกตั้ง เส้นทางยังยาวไกล | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 323 : 0 เห็นชอบในญัตติส่งเรื่องการเห็นสมควรทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการโดยมีคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”

ท่ามกลางความปีติที่เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นตรงกันอย่างมีเอกภาพแบบเอกฉันท์ทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่ต่างก็เห็นไปในทางเดียวกันให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่เส้นทางไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นไปโดยง่ายนัก

เนื่องจากยังมีด่านของวุฒิสภา และด่านของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกติกาการจัดทำประชามติที่ไม่ง่ายต่อการดำเนินการ

มติของสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นของเส้นทางที่ยังอีกยาวไกล

ขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย

(Photo by BORJA SANCHEZ-TRILLO / AFP)

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 การออกเสียงประชามติจะเกิดขึ้นได้ใน 5 กรณี คือ

1) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกรณีที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การแก้หมวด 1 หมวด 2 การแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ และการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ เป็นต้น

2) กรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร

3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง เช่น ตาม พ.ร.บ.เทศบาล ตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ เป็นต้น

4) กรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ

และ 5) กรณีประชาชน ไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อเข้าชื่อให้มีการออกเสียงประชามติ

ในกรณีที่ 4 กรณีที่รัฐสภาให้พิจารณาและมีมติเห็นสมควรให้มีการจัดการออกเสียงประชามตินั้น กลับมีความซับซ้อนและวกวน เนื่องจากมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กำหนดเงื่อนไขของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาไว้ 16 กรณี อาทิ การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การแถลงนโยบายของรัฐบาล และอื่นๆ เป็นต้น

แต่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการทำประชามติ

การที่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติของรัฐสภา จึงกลายเป็นสองขยักที่ต้องกระทำทีละสภา

(Photo by MUNIR UZ ZAMAN / AFP)

หากเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบจึงส่งต่อไปคณะรัฐมนตรี หากไม่เห็นชอบ ญัตติดังกล่าวก็ตกไป เดินต่อไม่ได้

ในทางกลับกัน หากเสนอโดยสมาชิกวุฒิสภา และผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อนแล้ว ก็ต้องส่งเรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ จึงจะส่งออกถึงคณะรัฐมนตรีได้ หากไม่ผ่านก็จบเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องลุ้นกันต่อ จึงเป็นประเด็นว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบอย่างท่วมท้นแล้ว ญัตติดังกล่าวจะสามารถผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือไม่ เพราะหากวุฒิสภาเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องไปร่างกันใหม่ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติ ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้

ผ่านสองสภา ยังมีด่านคณะรัฐมนตรี

(Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 นั้น ไม่ว่าช่องทางการริเริ่มให้มีการออกเสียงประชามติจะมาจากช่องทางใด แต่ด่านสุดท้ายของการตัดสินใจว่าจะให้มีการประชามติหรือไม่นั้นอยู่คณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้เพราะการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง หากเป็นการลงประชามติในระดับประเทศต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 3,000-4,000 ล้านบาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารที่ดูแลงบประมาณของแผ่นดินจึงจำเป็นต้องเป็นผู้ตัดสินใจในครั้งสุดท้ายว่าจะสมควรหรือไม่

ส่วนการตัดสินใจจะขึ้นอยู่บนเหตุผล ความจำเป็น ดูประโยชน์และความคุ้มค่า หรือจะพิจารณาจากเหตุผลทางการเมืองว่า ประชามติแล้วฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า คณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองมักใช้ประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบมากกว่าเหตุผลความจำเป็นเป็นหลัก ยกเว้นว่าจะมีแรงกดดันทางการเมืองจากประชาชนภายนอกที่รุนแรง

จึงสรุปได้ไม่ยากถึงวิบากกรรมของการทำประชามติว่า ด่านแต่ละด่านที่เหลือนั้นยังยากเย็นนัก

การทำประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งทั่วไป

แนวคิดที่พรรคก้าวไกลและองค์กรภาคประชาชน พยายามเสนอให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมไปกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันเดียวกันนั้น เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่น่าสนใจ

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้ช่องทางการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อนำเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับไม่จำเป็นต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือรอลุ้นจากวุฒิสภาว่าจะเห็นตรงกันอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในช่องนี้ก็ยังคงเป็นคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้ายเช่นกัน

หากแต่ความประหลาดของกฎเกณฑ์กติกาในบ้านเมืองนี้เนื่องเพราะกฎหมายสองฉบับที่เกี่ยวข้องหากจะดำเนินการออกเสียงประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กลับไม่มีจุดเชื่อมที่จะให้ดำเนินการร่วมกันอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

กฎหมายสองฉบับ ต่างคนต่างเขียนคนละที เหมือนสร้างดาวคนละดวง

แต่ละฉบับจึงเป็นกติกาของตนเอง ไม่สามารถเอื้อต่อการนำมาใช้ร่วมกัน

อาทิ เขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบ่งตามเขตเลือกตั้งโดยแบ่งประเทศเป็น 400 เขต แต่เขตการออกเสียงประชามติให้ใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียง การออกเสียงเลือกตั้งต้องใช้บัตรเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การออกเสียงประชามติสามารถใช้วิธีการอื่น เช่น เครื่องลงคะแนนหรือการลงคะแนนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติมได้ กรรมการประจำหน่วยของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 9 คน ส่วนกรรมการประจำหน่วยของการออกเสียงประชามติมี 5 คน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 400 คน ที่ต่างจากผู้อำนวยการเขตการออกเสียงประชามติมี 77 คนตามจำนวนจังหวัด (รวม กทม.) เป็นต้น

ในขั้นของการร่างกฎหมายประชามตินั้น ได้มีความพยายามให้เกิดการผสมผสานหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันแต่ไม่เป็นผล เพราะสมาชิกรัฐสภานั้นให้ความเห็นชอบตามร่างของคณะรัฐมนตรีที่คงความแตกต่างและขาดจุดเชื่อมต่อ

(Photo by BORJA SANCHEZ-TRILLO / AFP)

จินตภาพของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการออกเสียงประชามติในวันเดียวกันหากจะเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ เมื่อประชาชนออกจากบ้านไปใช้สิทธิก็จะพบเต็นท์ 2 เต็นท์ กรรมการ 2 ชุด คูหาลงคะแนน 2 ชุด ต้องเข้าคิวใช้สิทธิ 2 รอบ คือไปเลือกตั้งเสร็จในเต็นท์หนึ่งแล้ว ต้องไปต่อแถวเพื่อใช้สิทธิออกเสียงประชามติในอีกเต็นท์หนึ่ง

ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะประหยัดได้ด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันจึงไม่เกิดขึ้น กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับการจัดแยกคนละวัน ยกเว้นว่าจากนี้จะหาวิธีการแก้กฎหมายให้เข้าท่าขึ้นกว่านี้

ในประเทศที่ก้าวหน้าทางประชาธิปไตย เขาเห็นความสำคัญของการสอบถามประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ ดังนั้น เมื่อรัฐจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ความเห็นของประชาชนผ่านการทำประชามติจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง ทั้งสามารถสอดแทรกไปกับการจัดการเลือกตั้งในวันเดียวกัน โดยยึดหลักประหยัดและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการออกมาใช้สิทธิ

แต่คงไม่ใช่กับประเทศที่ชื่อว่า ประเทศไทย เพราะเราไม่เคยคิดแบบนั้น