ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (1) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (1)

ทำไมเศรษฐกิจตลาดของยุโรปกลายเป็นทุนนิยม

แต่ของจีนไม่?

 

โฮเฟิง หง เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและประธานแห่งคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เมืองมัลติบอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา

เขามีเชื้อจีน เรียนจบปริญญาตรีจาก Chinese University of Hong Kong และต่อปริญญาโท-เอกในสหรัฐ นอกจากเชี่ยวชาญพิเศษเรื่องประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีนแล้ว เขายังค้นคว้าวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก การประท้วง การก่อตัวของรัฐชาติ ทฤษฎีสังคม และการพัฒนาในเอเชียตะวันออกด้วย

หนังสือตีพิมพ์ของเขาที่ผ่านมาได้แก่ China and the Transformation of Global Capitalism (2009), Protest with Chinese Characteristics : Demonstrations, Riots, and Petitions in the Mid-Qing Dynasty (2011), The China Boom (2015), และล่าสุด 2 เล่มปีเดียวกันคือ Clash of Empires : From ‘Chimerica’ to the ‘New Cold War’ และ City on the Edge : Hong Kong Under Chinese Rule (2022)

ผมเริ่มรู้จักงานของอาจารย์หงเมื่อสิบกว่าปีก่อน และได้อาศัยแนวคิดของเขาเรื่อง “คณะเสี่ยวเอ้อส่ง ออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” (https://newleftreview.org/issues/ii60/articles/ho-fung-hung-america-s-head-servant) มาประยุกต์อธิบายการปรับเปลี่ยนแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองครั้งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทยสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ใหม่แห่งการผงาดขึ้นมาของจีนในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการค้าของโลกหลังจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2001

(เกษียร เตชะพีระ, “อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน”, ฟ้าเดียวกัน, 16:2 (ก.ค.-ธ.ค. 2561), 128-33)

เมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ อาจารย์หงได้ให้สัมภาษณ์ทาง podcast กับ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีน โดยถกอภิปรายประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนเท่ห์ อาทิ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

– ทำไมจีนซึ่งมีเศรษฐกิจตลาดเฟื่องฟูสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงไม่พัฒนากลายเป็นทุนนิยม?

– ทั้งที่เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมในจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ดังเช่นที่เกิดในอังกฤษและยุโรป จีนขาดเหลืออะไรจึงไม่สามารถรวมศูนย์ส่วนเกินในชนบทแล้วสร้างขึ้นมาเป็นวิสาหกิจทุนนิยมในเมืองได้?

– ทำไมญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่สร้างอุตสากรรมล่าช้าทีหลังจึงพัฒนาทุนนิยมที่ชี้นำโดยรัฐสำเร็จเหมือนเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่จีนกลับล้มเหลว?

– การนำของเหมาเจ๋อตุงหลังการปฏิวัติจีนได้ชัยชนะพลิกโฉมรัฐและพัฒนาเศรษฐกิจจีนไปอย่างไรจนมันกลายเป็นพื้นฐานรองรับส่งเสริมการสร้างทุนนิยมจีนในสมัยปฏิรูปเปิดประเทศภายใต้เติ้ง เสี่ยวผิง?

– เหมาเจ๋อตุงช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงโครงการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบหักหาญเหมารวมของ IMF และดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปรายปลีกมาได้อย่างไร?

– อะไรคือฐานะบทบาทความสัมพันธ์ของภาครัฐวิสาหกิจ ภาคส่งออกเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ในเศรษฐกิจจีน?

– ทุนจีนโพ้นทะเลสำคัญอย่างไรในการสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งออกของจีน?

– เพราะเหตุใดนานาประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์จึงปรับเปลี่ยนแบบแผนการพัฒนาจากกระสวนห่านบินที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูงมาสู่คณะแพนด้าที่มีจีนเป็นตั้วเฮีย?

– อะไรคือลักษณะร่วมและลักษณะเฉพาะของทุนนิยมจีนเมื่อเทียบกับทุนนิยมประเทศอื่นๆ ในโลก? เป็นต้น

ดังที่ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

 

แดเนียล เดนเวอร์ : ปริศนาสำคัญหนึ่งในหนังสือของคุณคือ “ทำไมทุนนิยมถึงไม่ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นไปเองในจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งที่ตอนนั้นจีนมีเศรษฐกิจตลาดที่เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่นิยมชมชื่นที่สุดในโลกสมัยใหม่ตอนต้น?”

เรามาเริ่มกันโดยทบทวนดูว่าทุนนิยมปรากฏขึ้นมาได้อย่างไรในยุโรปและทฤษฎีต่างๆ นานาที่อธิบายว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้นดีไหมครับ คุณเขียนว่าเศรษฐกิจตลาดโดยเนื้อในของมันไม่ใช่เศรษฐกิจทุนนิยม และมันก็หาได้ปูพื้นฐานให้ทุนนิยมพุ่งทะยานขึ้นโดยอัตโนมัติไม่ ก่อนเราจะเข้าเรื่องประวัติศาสตร์ ผมอยากให้เรามานิยามแนวคิดพื้นฐานก่อน อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจตลาดกับทุนนิยมกันแน่ครับ?

โฮเฟิง หง : วงวิชาการและผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าตลาดกับทุนนิยมเป็นสิ่งเดียวกันครับ แต่ก็อย่างที่เฟอร์นานด์ บรอเดล นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (1902-85, เจ้าสำนัก Annales ผู้มีอิทธิพลเหนือวงการประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเขียนงานไตรภาคชุด Civilisation mat?rielle et capitalisme, XVe-XVIIIe si?cle อันลือชื่อ) ชี้ไว้นานแล้วนั่นล่ะครับว่าตลาดกับทุนนิยมน่ะไม่เพียงแต่ต่างกันเท่านั้น หากในหลายด้านมันยังแย้งกันด้วย เพราะมันดำเนินงานด้วยตรรกะที่แตกต่างกันครับ

มาร์กซ์สรุปเศรษฐกิจตลาด (market economy) หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าไว้เป็นสูตรว่า C-M-C กล่าวคือ คุณมีสินค้าหรือผลผลิตอย่างหนึ่ง (C – Commodity) คุณเอามันไปแลกเงิน (M – Money) แล้วคุณก็ใช้เงินนั้นค้าขายสินค้าหรือผลผลิตอื่นๆ ต่อ (C – Commodity) ที่ว่ามานี้คือการแลกเปลี่ยนในตลาด เหมือนคุณผลิตรองเท้าขึ้นมาคู่หนึ่งแล้วเอามันไปขายแลกเงิน จากนั้นคุณก็ใช้เงินซื้อหาอาหารนั่นแหละครับ

แต่ทุนนิยมน่ะต่างออกไปครับ เพราะในกิจการทุนนิยมนั้นแรงจูงใจคือกำไรกับการสะสมทุน อย่างที่มาร์กซ์ชี้ว่ามันคือ M-C-M หมายความว่าคุณมีเงินอยู่กระปุกหนึ่ง คุณเอามันไปแลกผลผลิตบางอย่าง แล้วจากนั้นคุณก็ขายผลผลิตนั้นแลกเอาเงินก้อนใหญ่กว่าเดิมมา ฉะนั้น เป้าประสงค์ทั้งมวลของทุนนิยมก็คือการสะสมเงินมากขึ้นๆ เพื่อการสะสมเงินนั่นเอง

บรอเดลแสดงให้เห็นมานานแล้วครับว่ากิจการทำกำไรประเภทนี้มักเรียกร้องต้องการบรรษัทขนาด ใหญ่ และกระทั่งต้องให้รัฐหรืออำนาจผูกขาดเข้าช่วยด้วย เพื่อประกันให้คุณทำกำไรได้ใหญ่โตขึ้นและสะสมความมั่งคั่งพอกพูนขึ้น

เราอาจคิดถึงความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างตลาดกับทุนนิยมได้โดยอาศัยอุปมาอุปไมยเรื่องตลาดเกษตรกรกับร้านขายของชำนะครับ ในตลาดเกษตรกรแบบดั้งเดิม ผู้คนค้าขายข้าวของแลกเงินกันแล้วใช้เงินนั้นไปซื้อหาสิ่งของต่อ ทว่า ในร้านขายของชำของบรรษัทขนาดยักษ์อย่างเซฟเวย์หรือไจแอนต์น่ะ กำไรทั้งหมด ถูกสะสมไว้แล้วเอาไปลงทุนใหม่กับร้านรวง กำไรเป็นเป้าหมายใจกลางของการประกอบการเชิงผูกขาดเหล่านี้ ซึ่งดำเนินงานด้วยตรรกะที่ต่างอย่างยิ่งกับตลาดธรรมดา

นั่นแหละครับคือความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างตลาดกับทุนนิยม

 

แดเนียล เดนเวอร์ : ถ้างั้นรัฐก็เป็นตัวการสำคัญตรงนี้ซีครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องของกระบวนการบังคับรวมศูนย์ทรัพยากรที่รู้จักกันในชื่อว่าการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ (primitive accumulation) ระบบระหว่างรัฐของยุโรปต้นสมัยใหม่สร้างสภาพเงื่อนไขให้รัฐทั้งหลายเข้าสนับสนุนการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิของทุนนิยมอย่างไรหรือครับ?

โฮเฟิง หง : ในสถานการณ์ของตลาด หลังจากผู้คนค้นพบว่าเงินมีประโยชน์ ย่อมเป็นธรรมดาที่บางคนจะอยากสะสมมันมากขึ้นๆ ดังนั้น ทุนนิยมจึงอาจผุดโผล่ขึ้นมาจากเศรษฐกิจตลาดได้ ทว่า ระบบทุนนิยมจะไม่ผุดโผล่ขึ้นมาจากเศรษฐกิจตลาดอย่างอัตโนมัตินะครับ ในอารยธรรมของโลกหลายแหล่ง เมื่อใดที่พ่อค้าม้าขายโผล่ขึ้นมาจากเศรษฐกิจตลาดแล้วสะสมทุนเพื่อการสะสมทุนนั้นเอง มันจะมีการลงทัณฑ์ทางศีลธรรม หรือศาสนา หรือการเมืองบางอย่างต่อคนเหล่านั้น

เราเห็นเรื่องราวทำนองนี้มากในศาสนจักรคาทอลิก ศาสนาอิสลามและจีนใต้ลัทธิขงจื๊อครับ กล่าวคือ ผู้ปกครองมากหลายเห็นการสะสมความมั่งคั่งเป็นตัวสั่นคลอนสายใยสังคมและก่อความปั่นป่วนเสียกระบวน ดังนั้น จึงมีการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อพวกพ่อค้าหรือชนชั้นกระฎุมพีผู้มีทรัพย์มาก และบางที่บางสมัยกระทั่งมีกฎหมายห้ามกิจการประเภทนี้ด้วยซ้ำไปเพื่อปกป้องระเบียบความเป็นอยู่ตามธรรมชาติก่อนทุนนิยมเอาไว้

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปก็คือ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ทั่วทั้งทวีปก็ตกอยู่ในสงครามยืดเยื้อระหว่างรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบราชาธิปไตยหรือมหาชนรัฐ รัฐเหล่านี้ล้วนต้องการหาเงินมาทำศึกสงครามกันทั้งนั้นเนื่องจากพบว่าสงครามสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง ถ้าหากคุณเกิดแพ้สงครามให้ข้าศึกคู่แข่งในระบบระหว่างประเทศขึ้นมาแล้วละก็ ราษฎรของคุณก็จะก่อกบฏซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่างๆ นานามากมาย

ดังนั้น พวกเขาก็เลยต้องต่อสู้และเอาชนะศึกสงครามให้จงได้ล่ะครับ เพื่อการนั้น พวกเขาจึงต้องระดมทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายทำสงครามในรูปการณ์ออกพันธบัตร พวกเขาขายพันธบัตรให้เหล่าพ่อค้าและนายธนาคาร จะได้สามารถระดมทหารรับจ้างและพัฒนา หรือซื้อหาอาวุธก้าวหน้ามาใช้ได้

ในสถานการณ์ของยุโรปเยี่ยงนี้ การคิดคำนวณของผู้ปกครองก็เลยเปลี่ยนแปลงไปครับ ในอารยธรรมแหล่งอื่นส่วนใหญ่ของโลกและแม้กระทั่งในพื้นที่ส่วนมากในยุคกลางของยุโรปเอง ผู้ปกครองห่วงใยเรื่องเสถียรภาพทางสังคมกับลำดับชั้นทางการเมืองเป็นหลัก ดังนั้น ก็เลยลงโทษและกีดกันพวกพ่อค้าและชนชั้นกระฎุมพีผู้มีทรัพย์ ทว่า ในสถานการณ์สงครามยืดเยื้อเรื้อรัง ผู้ปกครองก็หันมาใส่ใจเรื่องการชนะศึกสงครามภายนอกยิ่งกว่าธำรงรักษาเสถียรภาพทางสังคมภายใน

ถ้าคุณชนะสงคราม คุณสามารถปล้นสะดมทรัพย์สินมามากมายและเสริมสร้างฐานะผู้ปกครองของคุณ แต่ถ้าคุณแพ้ศึก คุณก็หัวขาดล่ะครับ ไอ้ภาวะทางแพร่งในยามสงครามที่ว่านี่แหละครับที่ผลักดันผู้ปกครองให้สถาปนาพันธมิตรกับชนชั้นกระฎุมพีผู้มีทรัพย์ขึ้นมา เพราะคนเหล่านี้เป็นพวกเดียวที่เก่งกาจสามารถพอจะหาเงินมาเป็นค่าทำสงครามได้ จากที่ว่ามานี้แหละครับที่รัฐทุนนิยมถือกำเนิดขึ้น

และนี่ก็เป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ทำไมเศรษฐกิจตลาดซึ่งเอาเข้าจริงแพร่หลายในที่ต่างๆ มากมายหลายแห่งทั่วโลกจากยุคกลางมาสู่ยุคต้นสมัยใหม่กลับนำไปสู่การที่กิจการทุนนิยมผงาดขึ้นและเข้าครอบงำเฉพาะในยุโรปเท่านั้น

 

แดเนียล เดนเวอร์ : ทำไมถึงคิดว่าการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิเป็นจังหวะเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคับขันต่อการพุ่งทะยานของทุนนิยมล่ะครับ?

โฮเฟิง หง : การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิหรือที่เรียกกันว่า “การสะสมทุนขั้นเริ่มแรก” ในคำแปลนิพนธ์ของมาร์กซ์บางฉบับนั้นก็คือความคิดที่ว่า ณ จุดเริ่มต้นของกิจกรรมการสะสมทุนของทุนนิยม ชนชั้นผู้มีทรัพย์ต้องแย่งยึดเอาปัจจัยการผลิตหรือความมั่งคั่งของคนอื่นมาเสียก่อน เพื่อให้ได้ทองกระปุกแรกมาว่างั้นเถอะนะครับ การปิดรั้วรวบริบที่ดินส่วนรวมมาเป็นของเอกชน (Enclosure, มีการออกกฎหมายรับรองในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1773) คือตัวอย่างที่มาร์กซ์อ้างถึง กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว พวกนายทุนใช้อำนาจรัฐแย่งยึดเอาที่ดินชาวนามาเป็นสมบัติพัสถานชิ้นแรกของตน

ว่ากันตามสูตรเริ่มแรกที่มาร์กซ์สรุปขึ้นมานั้น หลังได้สมบัติพัสถานชิ้นแรกเหล่านี้มาแล้ว พวกนายทุนก็เอาไปลงทุนในเทคโนโลยี เครื่องจักรและสิ่งอื่นๆ จากนั้น พวกเขาก็ครอบครองวิสาหกิจทุนนิยมที่สามารถสะสมความมั่งคั่งต่อไปผ่านการรีดเค้นส่วนเกินจากแรงงานรับจ้างและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยไม่ต้องรวบริบเอาทรัพย์สมบัติและปัจจัยการผลิตของผู้คนอย่างดิบเถื่อนอีก ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิคือจุดกำเนิดของการครอบงำครับ

แต่แน่ล่ะครับว่าบรรดางานศึกษาชั้นหลังนี้แสดงให้เห็นว่าการสะสมทุนขั้นปฐมภูมินั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยจะปฐมภูมิสักเท่าไหร่ในนัยที่ว่ามันยังคงดำเนินอยู่เลยแม้แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ใช่ว่าทุนนิยมจะโอนอ่อนผ่อนปรนขึ้นหลังผ่านขั้นแรกสุดของมันมาแล้วก็หามิได้

ตัวอย่างการสะสมทุนขั้นปฐมภูมิประเภทที่ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งก็คือการสะสมทุนโดยผ่านการรวบริบ หรือแย่งยึด ได้แก่ การบังคับเอาทรัพย์จำนองหลุด (foreclosure) ภายหลังวิกฤตการเงินซับไพรม์ในสหรัฐ และหลายประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า (ดู เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555) คุณติดหนี้จำนองบ้านกับธนาคาร แต่พอการประเมินมูลค่าบ้านของคุณตกฮวบลง คุณก็ไม่มีปัญญาจ่าย หรือไม่คุณก็ตกงานและไม่มีปัญญาจ่ายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณี