อุษาวิถี (2) ความเป็นมา (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (2)

ความเป็นมา (ต่อ)

 

หลังจากนั้นจึงออกมาในรูปคำที่เราได้ยินเมื่อกว่า 20 ปีก่อนว่า ค่านิยมเอเชีย (Asian Value) หรือเอเชียวิถี (Asian Way)

คำหลังนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชุดบทความนี้ใช้คำว่า อุษาวิถี

การเกิดขึ้นของคำดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักสิทธิมนุษยชนอยู่ไม่น้อย ว่าเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำในระบอบอำนาจนิยม ให้ได้ใช้อำนาจเช่นนั้นกับประชาชนใต้การปกครองของตนต่อไป

คำวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้มีประเด็นที่ชวนให้คิดพิจารณาอยู่ไม่น้อย

นั่นคือ ในประการแรก คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้จะมีส่วนจริงยิ่งขึ้น ตราบใดผู้นำของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถทำสังคมของตนให้เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในประการต่อมา หากผู้นำรัฐเหล่านี้ทำอย่างที่ว่าได้ก็หมายความว่า ผู้นำเหล่านี้สามารถใช้เกณฑ์คุณค่าที่เรียกว่า “อุษาวิถี” มาพัฒนาให้สังคมของตนเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้สำเร็จ

แต่ความจริงก็คือว่า นับแต่ที่ “อุษาวิถี” ถูกนำมาสัมพันธ์กับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั้น กลับไม่ปรากฏว่าจะมีผู้นำในรัฐดังกล่าวจะนำสิ่งที่เรียกว่า “อุษาวิถี” มาพัฒนาหรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในสังคมของตนให้เป็นที่ยอมรับกันได้

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้นำเหล่านี้สามารถทำให้เป็นที่ยอมรับกันได้ กลับเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่อิงกับข้อกำหนดของตะวันตก โดยเฉพาะในกรณีจีนกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิพลเมืองของตนมากที่สุดรัฐหนึ่งในขณะนั้น

และเป็นรัฐที่ชูอุษาวิถีเอาไว้สูงเด่นเช่นกัน

 

ความลักลั่นขัดแย้งกันเองเช่นนี้ ในด้านหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นความมีอยู่จริงและข้อจำกัดของสิ่งที่เรียกว่า อุษาวิถี พร้อมกันไปด้วยในตัว

ความมีอยู่จริงและข้อจำกัดของอุษาวิถีดังกล่าว จึงนับเป็นประเด็นที่น่าศึกษาค้นคว้าไม่น้อย อย่างน้อยที่สุดคำตอบที่ได้จะทำให้เข้าใจภาพความขัดแย้งในประเด็นสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะกับสังคมเอเชียหรือสังคมตะวันออก รวมทั้งสังคมไทยด้วย

กล่าวสำหรับสังคมไทยแล้ว ที่ผ่านมาแม้จะไม่ใช่รัฐที่ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า สังคมไทยเป็นหนึ่งในสังคมเอเชียที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันออกมาใช้ในสังคมของตนมาอย่างยาวนาน

และเป็นสังคมที่ยังมากด้วยปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่นับวันจะมีแต่ทวีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกขณะ การศึกษาประเด็นอุษาวิถีจึงบังเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้

 

นิยามและปัญหาในการศึกษา

แม้สาระหลักของสิ่งที่เรียกว่าอุษาวิถี จะวนเวียนอยู่กับการอธิบายตัวตนของสังคมเอเชียหรือตะวันออก ว่ามีความแตกต่างกับสังคมตะวันตกอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเกิดขึ้นของอุษาวิถีจะปราศจากซึ่งการพัฒนาที่ก้าวหน้าไม่

อย่างน้อยที่สุดการพัฒนานี้ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะยืนยันตัวตน หรือเลือกที่จะก้าวไปตามวิถีทางเศรษฐกิจการเมืองที่ตนเป็นผู้เลือก โดยไม่หวั่นเกรงและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสังคมตะวันตกอย่างท้าทาย

ซึ่งแตกต่างกับเมื่อครั้งอดีต ที่สังคมตะวันออกตกเป็นเบี้ยล่างแก่สังคมตะวันตกภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคม

ในประการต่อมา อุษาวิถีในปัจจุบันมีสาระหลักในการอธิบายตัวตนของตะวันออก ที่มุ่งไปสู่ประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยโดยตรง อันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่และมีความสลับซับซ้อนสำหรับหลายรัฐในเอเชีย

รัฐในเอเชียโดยส่วนใหญ่แล้ว มักมีประสบการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบใดแบบหนึ่งจากที่ผ่านมา เช่น เป็นรัฐในอาณานิคมอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นรัฐเผด็จการทหารที่สหรัฐ หรือยุโรปให้การสนับสนุน หรือเป็นรัฐสังคมนิยมที่จีนและอดีตสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนอยู่ เป็นต้น ภายใต้สาระหลักของประเด็นปัญหาดังกล่าวสิ่งที่อุษาวิถีนำมาใช้อธิบายคือ รากฐานทางวัฒนธรรม

รากฐานวัฒนธรรมในที่นี้หมายถึง รากฐานอารยธรรมดั้งเดิมของเอเชีย ที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จนปรากฏอัตลักษณ์ (identity) ที่เป็นของตนเอง

รากฐานนี้มีทั้งที่เกิดเฉพาะพื้นที่และมีรับเอามาจากนอกพื้นที่ และเป็นพื้นที่ในสังคมเอเชีย และเนื่องจากรากฐานดังกล่าวสัมพันธ์กับอดีต การใช้ภาษาไทยแทนคำว่า Asian Way ในที่นี้ด้วยคำว่า อุษาวิถี เป็นไปโดยล้อกับภาษาไทยที่ใช้กันในอดีต ไม่ใช่การใช้ภาษาไทยแบบผิดหลักเกณฑ์แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนั้น นิยามเบื้องต้นของคำว่าอุษาวิถี ในที่นี้จึงคือ แนวทางเศรษฐกิจการเมืองที่สังคมตะวันออกหรือเอเชียเลือกเดินด้วยตนเอง โดยอิงกับรากฐานวัฒนธรรมเดิมของตน และไม่ละทิ้งหรือปฏิเสธแนวทาง หรือรากฐานเดียวกันนี้ของนอกสังคมของตนอย่างสิ้นเชิง

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้อำนาจจากนอกสังคมของตนเข้ามาแทรกแซงวิถีที่ตนเลือกเดิน เพราะนั่นถูกถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในรัฐของตน

 

จากนิยามหรือความหมายในเบื้องต้นดังกล่าว เป็นการประมวลจากงานศึกษาจำนวนหนึ่ง และจากการติดตามความคิดเห็นของผู้นำเอเชียบางคน เมื่อเขาเหล่านั้นอธิบายถึงสิ่งที่ตนเรียกว่าอุษาวิถี หรืออื่นใดที่เกี่ยวข้อง

และโดยมากมักจะมุ่งไปสู่การอธิบายความคิดอย่างเป็นด้านหลัก และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการศึกษาในที่นี้จึงใช้คำว่า “เบื้องต้น” กำกับการให้นิยามหรือความหมายเอาไว้

ซึ่งในแง่นี้ย่อมหมายความไปด้วยว่า การศึกษาในที่นี้ด้านหนึ่งจึงยังเป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อจำกัดจากการศึกษาในที่นี้จึงอาจเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

โดยเฉพาะเมื่อนำเอาสิ่งที่เรียกว่าอุษาวิถี มาผูกเข้ากับสังคมไทย หรือที่ในที่นี้เรียกให้แคบลงว่า รากฐานวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะขอแยกอธิบายปัญหาหรือข้อจำกัดที่ว่า ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การศึกษาในที่นี้มีสมมุติฐานว่า สังคมไทยแม้จะมีรากฐานวัฒนธรรมเดิมของตนมาช้านานก็ตาม แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ รากฐานจากกระแสภายนอกที่สังคมไทยรับเอามาใช้ และมีอิทธิพลอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น โดยหลักแล้วมาจากสองกระแสด้วยกัน

กระแสหนึ่งคือ อินเดีย อีกกระแสหนึ่งคือ จีน