จิตต์สุภา ฉิน : “แลร์รี่ เพจ” ผู้ถวิลรถยนต์บินได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
แลร์รี่ เพจ (AFP PHOTO)

สัปดาห์ที่แล้วเราพูดถึงอีลอน มัสค์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเทสล่า มอเตอร์ส และสเปซเอ็กซ์ ที่ทำเอาวงการสั่นสะเทือนหลังจากที่เขาได้ให้ความเห็นว่าเขาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าตอนนี้เราทุกคนไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริง แต่อยู่ในโลกจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งสารภาพตามตรงว่าเรื่องนี้ทำให้ซู่ชิงเก็บเอาไปคิดอยู่นานเป็นสัปดาห์เลยค่ะ

ผู้นำด้านเทคโนโลยีจากซิลิคอนแวลลีย์และเศรษฐีระดับโลกทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่คิดแหวกแนวและไม่กลัวแม้แต่ไอเดียที่ดูกล้าบ้าบิ่นที่สุดในโลก นอกจากอีลอน มัสค์ จะคิดว่าเราเป็นตัวละครในเกม The Sims แล้ว เขากับเจฟ เบซอส แห่งอเมซอน ก็มีความใฝ่ฝันตรงกันที่จะออกไปล่าอาณานิคมในดาวดวงอื่น บิลล์ เกตส์ ก็มุมานะปฏิบัติภารกิจที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่และดูจะเกินเอื้อมอย่างการต้องการกำจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกใบนี้ ในขณะที่มหาเศรษฐีชาวรัสเซียอย่างดิมิทรี อิทสคอฟ ก็วุ่นอยู่กับการหาหนทางที่จะทำให้เราเป็นอมตะและอยู่บนโลกได้นิรันดร์ผ่านทางหุ่นยนต์ที่เราควบคุมด้วยสมอง ลิสต์ของมหาเศรษฐีที่ “กล้า” ที่จะคิดในไอเดียที่ดู “บ้า” นี่ยาวเหยียดคุยกันเป็นวันก็ไม่จบค่ะ แต่เรามาดูความฝันล่าสุดของอีกหนึ่งคนดังแห่งซิลิคอนแวลลีย์ อย่างแลร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกูเกิลกันดีกว่าค่ะ

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวออกมาว่า แลร์รี่ เพจ ได้แอบให้ทุนสนับสนุนบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า ซีแอโร (Zee.Aero) และบริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทที่เชื่อกันว่ากำลังพัฒนารถยนต์บินได้นั่นเอง ส่วนที่บอกว่าแอบก็เป็นเพราะว่าเขาลงทุนแบบลับๆ ไม่ให้เป็นข่าวใหญ่ แต่ในที่สุดก็ปิดไม่อยู่และกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาจนได้

เนื้อข่าวระบุว่าเพจได้ให้เงินสนับสนุนบริษัทแห่งนี้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่การเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทในปี 2010 โดยมีห้องทำงานส่วนตัวอยู่ในออฟฟิศของบริษัทด้วย และยิ่งเห็นได้ชัดว่าเขาเอาจริงเอาจังกับการไล่ตามความฝันของการสร้างรถยนต์บินได้มากขึ้นไปอีกเมื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่าเพจไม่ได้ลงทุนในบริษัทนี้บริษัทเดียว แต่ยังให้ทุนกับบริษัทชื่อ คิตตี้ ฮอว์ก (Kitty Hawk) ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอีกเช่นเดียวกัน

สิทธิบัตรที่ Zee.Aero จดไว้ในปี 2012
สิทธิบัตรที่ Zee.Aero จดไว้ในปี 2012

เว็บไซต์ของซีแอโรระบุไว้ว่าภารกิจของบริษัทคือการ “ปฏิวัติรูปแบบการคมนาคมใหม่” และกำลังอยู่ในระหว่างการรับสมัครวิศวกรเพิ่ม โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดอะไรมากไปกว่านั้น แต่มีข่าวว่าซีแอโรเคยทดลองรถยนต์บินได้รุ่นต้นแบบของตัวเองในสนามบินที่อยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่ของกูเกิลในเมืองเมาเท่นวิวเพียงชั่วโมงเดียว และที่ผ่านมาก็ได้ทดลองรถยนต์บินได้แบบที่นั่งเดียวทั้งหมดสองรุ่น รุ่นหนึ่งหน้าตาเหมือนเครื่องบินขนาดเล็ก อีกรุ่นมีใบพัดติดตั้งอยู่ข้างตัวรถ โดยทั้งสองรุ่นนี้สอดคล้องกับสิทธิบัตรที่บริษัทเคยจดเอาไว้ในปี 2012 ว่าเป็นอากาศยานที่สามารถเทคออฟและแลนดิ้งได้แบบแนวดิ่ง ปลอดภัย ไร้เสียง ควบคุมง่าย มีประสิทธิภาพ และขนาดที่กะทัดรัด ซึ่งหากดูจากคำอธิบายแล้วน่าจะใกล้เคียงกับเครื่องบินมากกว่ารถยนต์บินได้อีกค่ะ

ส่วนคิตตี้ ฮอว์ก อีกบริษัทที่เขาลงทุนนั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับซีแอโรเลย แหล่งข่าวรายงานว่าบริษัทแห่งนี้กำลังผลิตยานพาหนะที่คล้ายกับโดรนสี่ใบพัดขนาดใหญ่ที่หน้าตาคล้ายๆ โดรนโดยสารของอี้หาง บริษัทสัญชาติจีน ที่ซู่ชิงเคยไปดูมาในงาน CES 2016 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั่นเองค่ะ

กลับมาที่แลร์รี่ เพจ ค่ะ แม้ว่ากูเกิลจะประสบความสำเร็จในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับจนทำให้รถยนต์แบบนี้กลายเป็นอนาคตแห่งรถยนต์ที่กำลังจะมาถึงเราทุกคนกันในไม่ช้า แต่การลงทุนในรถยนต์บินได้ของเขาครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัทอัลฟาเบ็ตหรือกูเกิลเลย แต่เป็นการลงทุนด้วยการควักกระเป๋าสตางค์ส่วนตัวและมาจากความชอบและความฝันของตัวเองล้วนๆ

จะว่าไปความฝันของการมีรถยนต์บินได้นับว่าอยู่คู่กับมนุษย์เรามานานพอสมควรเลยนะคะ เราเกือบทุกคนน่าจะเคยผ่านการคิดจินตนาการกันมาแล้วว่าในยามช่วงเวลาที่รถติดอยู่กลางถนนที่อัดแน่นไปด้วยรถยนต์ของเพื่อนร่วมเดินทางนั้น จะดีสักแค่ไหนถ้าเราจะกดปุ่มสีแดงสักปุ่มแล้วจู่ๆ รถยนต์ก็กางปีกออกมา พาเราขึ้นบินเหนือรถยนต์คันอื่น ให้เราได้หันไปส่งเสียงเย้ยหยันอย่างผู้ชนะใส่ทุกคนที่มองตาละห้อยมาจากเบื้องล่าง (อันนี้อยู่ในฐานคิดว่าเราเป็นคนเดียวที่มีรถยนต์บินได้นะคะ ไม่อย่างนั้นก็กดปุ่มกันหมดจนกลายเป็นถนนโล่งไปเสียอย่างนั้น)

ดังนั้นการที่แลร์รี่ เพจ ลงมือสนับสนุนโปรเจ็กต์รถยนต์บินได้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจเลย อันที่จริงต้องบอกว่าเขาไม่ใช่มหาเศรษฐีคนแรกที่มีความลุ่มหลงในรถยนต์บินได้เสียด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปในปี 1927 เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี หรือแบรนด์รถยนต์ฟอร์ดที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ได้เผยโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า ฟอร์ด ฟลิฟเวอร์ (Ford Flivver) รถยนต์บินได้ในคอนเซ็ปต์ของเขาเองที่เขาวาดฝันเอาไว้ว่าจะกลายเป็นเครื่องบินกึ่งรถยนต์ที่จอดอยู่ในโรงจอดรถของทุกบ้าน แต่โปรเจ็กต์นี้มีอันต้องพับไปเพราะล้มเหลวอย่างน่าเศร้าหลังการเสียชีวิตของนักบินที่กำลังทดลองขับฟอร์ด ฟลิฟเวอร์

ตอนนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 90 ปี ก็ยังไม่มีวี่แววของรถยนต์บินได้ให้เราเห็นอยู่บนถนนหรือท้องฟ้าเลย

ซู่ชิงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทั้งเรื่องรถยนต์และเครื่องบินดังนั้นจึงไม่สามารถออกความเห็นทางด้านเทคนิคได้ว่ารถยนต์บินได้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คนที่ไม่รู้เรื่องการขับเครื่องบินหรือรู้แบบงูๆ ปลาๆ ก็สามารถบังคับเครื่องบินให้เทคออฟและแลนดิ้งด้วยตัวเองได้ (อย่างในกรณีของโดรนอี้หางเป็นต้น) ทั้งหมดนี้น่าจะสามารถทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้นทุกวันถ้าหากเรายังไม่ล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน

แต่คำถามที่น่าตอบมากกว่านั้นคือรถยนต์บินได้จะช่วยแก้ปัญหาที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ นอกเหนือไปจากความเท่ของการขับได้และบินได้ไปพร้อมๆ กันแล้ว มันจะสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้แค่ไหน และยังมีคำถามที่ต้องตอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของการจราจรทางอากาศที่เมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้นมาอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าการเป็นแค่รถยนต์เฉยๆ ด้วย

ในที่สุดแล้วซู่ชิงเชื่อว่ารถยนต์บินได้น่าจะโน้มเอียงไปในคอนเซ็ปต์ของการเป็นเครื่องบินขนาดเล็กส่วนตัวมากกว่าการเป็นรถยนต์ ส่วนฟังก์ชันของการขับบนถนนได้นั้นน่าจะเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งก็ล้อกันกับความฝันของเฮนรี่ ฟอร์ด ว่า ในเมื่อเขาทำให้รถยนต์ไปจอดอยู่ในโรงรถของทุกบ้านได้ แล้วทำไมจะทำแบบเดียวกันกับเครื่องบินขนาดเล็กไม่ได้

ไม่ว่าจะอย่างไรการได้เฝ้าดูโฉมหน้าของการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็จะยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจเสมอค่ะ