กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (13) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (13)

 

กิติมา อมรทัต กับวรรณกรรมอินเดีย (ต่อ)

นักเขียนเรื่องสั้นในภาคเหนือของอินเดียจึงได้กล่าวถึงเรื่องการพัฒนาชุมชนและโครงการอื่นๆ เมื่อแคว้นเบงกอลประสบวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงครั้งใหญ่ ก็มีนักเขียนหลายคนเขียนเรื่องสั้นดีๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น เช่น มาโนช วสุ ประโภช กุมาร สัญญาล ปาริมาล กสวามิ นารายณ์ คงคาลี นินู ภอมิค มานิก วัณณญี และคนอื่นๆ อีก

เปรมจันทร์ เป็นผู้เริ่มเขียนเรื่องสั้นที่แท้จริงขึ้นในระยะปี 1930 ในขณะที่เปรมจันทร์พยายามที่จะสะท้อนภาพชีวิตคนจริงๆ ในชนบทและสอดใส่หลักศีลธรรมลงไป ในเรื่องของเขาในภาษาอุรดูและฮินดีนั้น นานัค สิงห์ นักเขียนรุ่นเดียวกับเปรมจันทร์ก็กำลังเขียนด้วยภาษาปัญจาบี

งานเขียนส่วนมากของเขามีแนวสั่งสอน เขาพยายามจะปฏิรูปสังคมโดยชี้ให้เห็นว่าควรเลิกขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าหลังเสีย ความสำนึกทางสังคมของเปรมจันทร์ทำให้เขามุ่งไปในทางของมาร์กซิสม์

ส่วนนานัค สิงห์ ยังยึดแบบโรแมนติกเก่าๆ อยู่ นักเขียนรุ่นต่อมาก็มีเยนินทร์ กุมาร วัตสยายัน ยัศปาล อุเพนทรานารถ อัศก์ กฤษาณ จันทร ราเชนทร์ สิงห์ เวท อิสมัท ชุกไตย สันต์ สิงห์ ศีขร สุญาณ สิงห์ กุรภัค สิงห์ และอื่นๆ งานวรรณกรรมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากนักเขียนต่างประเทศผู้มีชื่อเสียงอย่างเชคอฟ โมปัสซังค์ และกอร์กี้

เรื่องสั้นต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเล่มภาคภาษาไทย “ธุลีดิน” นี้ กิติมา อมรทัต ได้รวบรวมเลือกสรรมาแต่เรื่องที่มีแนวดังกล่าวทั้งสิ้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลิ้มรสวรรณกรรมเพื่อประชาชนคนสามัญดูบ้าง ส่วนที่ว่าใครจะรับไว้หรือจะคายออกมานั้นก็สุดแต่ความสมัครใจ

กิติมา อมรทัต กล่าวไว้ในท้ายที่สุดเมื่อพูดถึงวรรณกรรมอินเดียผ่านเรื่องสั้นธุลีดินว่า ผู้แปลมีแต่ความปรารถนาดีทั้งแก่ท่านผู้อ่านและแก่คนนับหมื่นนับแสน ที่ตัวแทนของเขากำลังแสดงบทบาทอยู่ในเรื่องต่างๆ ในเล่มนี้คือประชาชนคนสามัญผู้เปรียบเสมือน “ธุลีดิน” ที่มีค่ายิ่ง เนื่องด้วยเรื่องต่างๆ ที่ผู้แปลได้คัดเลือกไว้มีอยู่เป็นจำนวนมากมาย จนไม่สามารถจะนำมารวมอยู่ในเล่มนี้แต่เพียงเล่มเดียวได้ หากท่านผู้อ่านสนใจที่จะได้อ่านอีก ผู้แปลก็จะได้พยายามรวบรวมขึ้นเป็นเล่มใหม่อีกต่อไป

 

กิติมา อมรทัต

กับงานแปลวรรณกรรมเยาวชนเพื่อชีวิต

นอกจากงานแปลวรรณกรรมเยาวชนทั่วไปที่หลากหลายแล้ว กิติมา อมรทัต ยังพยายามนำเสนองานวรรณกรรมเยาวชนแนวเพื่อชีวิตอีกด้วย เช่น

นักดนตรีตาบอด (The Blind Musician) กิติมา อมรทัต แปลจากผลงานของวลาดีมีร์ โคโรเลนโก เป็นโครงการหนังสือสร้างสรรค์เยาวชน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2538 จำนวน 5,000 เล่ม ความยาว 199 หน้า ราคา 93 บาท

สำนักพิมพ์ได้นำเสนอเรื่องราวของนักดนตรีตาบอดเอาไว้ว่า ภายในโลกมืด สำหรับชีวิตหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางความมืดมิด…นัยน์ตาของเขาไม่อาจแลเห็นความงดงามของโลกที่ยังมีสิ่งอันน่ายลอยู่อีกมากมาย…เราจะถือว่าสิ่งนี้เป็นโศกนาฏกรรมทางความรู้สึกได้หรือไม่? … แต่ก็นั่นแหละ… ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยบนผืนโลกใบนี้ที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกันกับเขา…

เราจึงไม่อยากจะตัดสินว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมหรือเป็นอะไรกันแน่… เพราะนั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ และจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางสิ่งที่ขาดหายไปนั้น…

นับเป็นความอ่อนไหวบนความเข้มแข็งอย่างหนึ่ง เหตุใดเราจึงคิดเช่นนั้น?… “เขา” และผู้ที่ “เป็น” เช่นเขา… นับว่าเป็นบุคคลที่… “อ่อนไหว” ทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด… แต่ขณะเดียวกันก็ “เข้มแข็ง” ทางด้านการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่โดยไม่ให้สังคมรอบข้างดูถูกดูหมิ่น…

กระนั้น …แม้จะพยายามปกปิดความอ่อนไหวในสิ่งที่ขาดหายไปด้วยความเข้มแข็งสักเพียงไรก็ตาม… “เขา” ก็ยังถือเป็นบุคคลที่น่าสงสาร น่าเห็นใจอยู่เสมอที่ไม่อาจแลเห็นสรรพสิ่งและสีสันอันตระการตาของโลกใบนี้ได้เหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป

ด้วยพรสวรรค์ทางด้านดนตรีที่มีอยู่ในตัวอย่างเปี่ยมล้น… “เขา” …จึงเป็น “นักดนตรีตาบอด” ที่ “เข้าถึง” ศาสตร์ของดนตรีอย่างแท้จริง…มิใช่ความฉาบฉวยเพียงเพราะต้องการชื่อเสียง… แต่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นศิลปินที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดเรื่องนี้…

วลาดีมีร์ โคโรเลนโก นักเขียนชาวรัสเซียผู้ประพันธ์ ได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นความละเอียดลึกซึ้งของตัวละครเอกที่มีวิวัฒนาการไปตามลำดับขั้นตอนของวัยและอายุได้อย่างกระจ่างชัด

ประจวบกับท่านอาจารย์กิติมา อมรทัต ได้ถ่ายทอดถอดความจากฉบับภาษาอังกฤษมาให้เราๆ ท่านๆ อ่านได้อย่างประณีต จึงนับว่างานชิ้นนี้เป็นงานแปลที่มีคุณภาพอีกชิ้นหนึ่งซึ่งหนอนหนังสือไม่ควรพลาด กิติมา อมรทัต มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมในวันที่ 20 สิงหาคม 2539

 

กำแพงมิอาจกั้น

จากปลายปากกาของเอมิล อาญา (Emil Ajar) เป็นงานแปลว่าด้วยภาพชีวิตในโลกอาหรับระหว่างเด็กน้อยโมโมกับมาดามโรซา โดยบุญญรัตน์ จากสำนักพิมพ์เรือนบุญ ที่ตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้ในปี 2543 กล่าวถึงนวนิยายเล่มนี้พร้อมกล่าวถึงกิติมา อมรทัต ผู้แปล ด้วยดังนี้

ใครบางคนกล่าวว่าความรักเป็นสิ่งสวยงามเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าอภิรมย์ เป็นสิ่งเชิดชูสง่าราศีแห่งชีวิต

ใครอีกบางคนกล่าวว่าความรักเป็นสิ่งน่าชิงชังรังเกียจ เป็นสีดำ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตสิ้นสลายลงได้โดยง่าย

เอมิล อาญาร์ จึงได้จำลองภาพแห่งความรักในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ความรักระหว่างมาดามโรซาอดีตหญิงโสเภณี กับเด็กชายตัวน้อยชื่อ “โมโม” เด็กชายผู้มีแม่เป็นโสเภณีและมีพ่อเป็นฆาตกร

ความรักระหว่างโมโมกับมาดามโรซา ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย โดย “กิติมา อมรทัต”

ยังจะมีใครที่รักใคร่ในการอ่านหนังสือแปล ด้วยมีความรู้สึกว่าหนังสือแปลเป็นอีกวิถีทางหนึ่งในการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นแล้วจะไม่รู้จักชื่อ “กิติมา อมรทัต” ?

ณ วันนี้ สุภาพสตรีนักแปลท่านนี้ ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์เรือนบุญแล้ว “กำแพงมิอาจกั้น” เป็นเรื่องของความรักอันพิสุทธิ์ ระหว่างโสเภณีคนหนึ่งกับเด็กเร่ร่อนคนหนึ่ง…

ความรักที่ไม่ยอมแยกจากกัน แม้ในวันที่ความตายมาพราก…!

ความรักที่กิติมา อมรทัต อยากชี้ให้คุณเห็นว่า… ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนดำรงอยู่ได้ด้วยคุณค่าทางด้านความรู้สึก

และมีความรู้สึกของทุกสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของอันเป็นวัตถุ ล้วนจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความรักทั้งสิ้น

นี่คือเรื่องของความรักอันพิสุทธิ์ ที่สำนักพิมพ์เรือนบุญขอเสนอแด่ท่านด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง

ภาคภูมิใจเท่าเทียมกับที่เรามีกิติมา อมรทัต มาร่วมงานกับเรา

กิติมา อมรทัต มอบให้ผมโดยเขียนว่ามอบให้มะห์-นิง ไว้อ่านแล้วคิด พร้อมลายเซ็น ลงวันที่ 29 มีนาคม 2543