ฐากูร บุนปาน : สายใยสถาบันกับประชาชน

ในแผ่นดินที่สงัดงันไปด้วยความระลึกอาลัย

อัดอึ้งจนนึกไม่ออกว่าจะเขียนบรรยายอย่างไรได้ให้ตรงกับใจนั้น

หยิบ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ขึ้นมาย้อนอ่านอีกครั้งเพราะฉุกคิดได้ว่า

ในความสูญเสียของแผ่นดินและพสกนิกรนั้น อันที่จริงที่สูญเสียยิ่งกว่าก็คือพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหลาย ผู้สูญเสียพระชนกอันเป็นผู้ให้กำเนิด

แล้วยังจะต้องถูกบังคับด้วยภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ให้จัดการงานพระบรมศพนั้น

อ่านบทที่เกี่ยวกับงานพระบรมศพแล้วก็ต้องไปหยิบ “ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย” มาประกอบกันอีกเล่ม

แล้วจึงเห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ และความรักในไพร่ฟ้าประชากรของพระมหากษัตริย์แต่โบราณยิ่ง

ในกรณีนี้คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “พระปิยมหาราช” ของคนไทย แต่ครั้งยังทรงพระชนม์ชีพจนปัจจุบัน

พระมหากรุณาธิคุณนั้นคืออย่างไร

มีพระราชกระแสบันทึกไว้เป็นหลักฐานดังนี้

“แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด

เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์

ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับที่การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวไปเท่าใด

ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับจะเป็นความเดือดร้อน

ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศที่สมควรจะได้

แต่เมื่อถึงตัวฉันเองแล้วเห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด

จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควร ในท้องสนามหลวง

แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”

โดยในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อปี พ.ศ.2437

ทรงมีพระราชดำริว่า

การกะเกณฑ์ไพร่พลมาก่อสร้างพระเมรุใหญ่ที่สนามหลวง สร้างความเดือดร้อนแก่ไพร่พลและสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์

กับทั้งเป็นของชั่วคราว เมื่อเสร็จงานแล้วต้องรื้อทิ้งสาบสูญหมด

จึงสมควรสร้างอาคารถาวรขึ้นเรียกว่า “สังฆิกเสนาศน์วิทยาลัย” ตรงวัดมหาธาตุ ด้านหน้าติดกับท้องสนามหลวง

ในยามปกติใช้เป็นที่เล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ต่อเมื่อมีงานพระศพจึงใช้ประดิษฐานพระศพ

ส่วนพระเมรุสร้างเป็นพระเมรุน้อยที่ท้องสนามหลวงสำหรับพระราชทานเพลิง

อาจารย์นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวอรรถาธิบายต่อไปด้วยว่า

“แนวพระราชดำริได้รับการสนองจากองค์รัชทายาทคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงปรับปรุงรูปแบบของการสร้างพระเมรุมาศ ทั้งรูปทรงและวัสดุก่อสร้าง

การใช้เสาไม้ที่ต้องให้ไพร่พลเข้าป่าไปตัดมาถูกยกเลิก

เพราะไม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ไพร่พลต้องป่วยไข้ล้มตายเพื่อการนี้อีก

จึงทรงประยุกต์ให้ใช้เสาเหล็กแทน โดยมีกระทรวงโยธาธิการรับผิดชอบ

วัสดุชนิดนี้ได้เป็นโครงสร้างหลักของพระเมรุมาศและพระเมรุมาจนปัจจุบัน”

พระมหากรุณาธิคุณในอดีตก็ดี

กระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ว่าการผ่อนคลายข้อบังคับเรื่องการปรับโทนสีหน้าจอโทรทัศน์ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม เป็นต้นมาก็ดี

หรือความห่วงใยพสกนิกรที่เดินทางมาร่วมในพระราชพิธี ที่ไม่ทรงประสงค์ให้ประชาชนที่มาร่วมงานต้องรู้สึกอึดอัดกับข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย จึงทรงมีรับสั่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนที่มาร่วมในพระราชพิธีเป็นอย่างดีก็ดี

คือสายใยที่ผูกพันสถาบันกับประชาชนเอาไว้

กราบส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเถิดพระเจ้าข้า