เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (4)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (3)

ความรู้ภูมิศาสตร์แบบใหม่มาถึงสยามในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง-ภูมิปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชนชั้นนำไทยหัวใหม่ ผู้พยายามประสานดัดแปลงตัดแต่งความรู้เก่าของสยามแต่เดิมเข้ากับความรู้ใหม่จากมหาอำนาจอาณานิคมตะวันตก

ในหมู่ชนชั้นนำไทยหัวใหม่ผู้มีผลงานโดดเด่นก็เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค, พ.ศ.2356-2413) ว่าราชการกรมท่าซึ่งรับผิดชอบดูแลการติดต่อค้าขายกับต่างชาติในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411) สืบต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค หรือ องค์ใหญ่, พ.ศ.2331-2398) ผู้เป็นบิดาที่ถึงแก่พิราลัย อีกทั้งท่านยังเป็นน้องต่างมารดาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, พ.ศ.2351-2425) สมุหพระกลาโหมในสมัยเดียวกัน ผู้จะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในตอนต้นรัชกาลที่ 5 ต่อไป

ใน Siam Mapped ธงชัย วินิจจะกูล ได้ประมวลสรุปแบบแผนของการปฏิรูปการเมือง-ภูมิปัญญาในสมัยนั้น อันกลายมาเป็นกระบวนท่าหลักของสังคมไทยในการรับอารยธรรมและวิทยาการจากฝรั่งตะวันตกสืบต่อมาว่า :

กระบวนการปฏิรูปทางการเมือง-ภูมิปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชนชั้นนำหัวใหม่ร่วมสมัย

เรื่องทางโลก เรื่องทางธรรม

จักรวาลวิทยาเดิม vs. วิทยาศาสตร์ตะวันตก พุทธศาสนา vs. คริสต์ศาสนา

กล่าวโดยสรุปคือ สำหรับความรู้เรื่องทางโลก ฝ่ายปฏิรูปปฏิเสธจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิพระร่วงเดิม แล้วหันไปรับวิทยาศาสตร์ตะวันตกแทน ส่วนเรื่องทางธรรม ฝ่ายปฏิรูปยึดพุทธศาสนาของสยามเป็นที่ตั้ง ปฏิเสธคริสต์ศาสนาของฝรั่งที่จะเข้ามาแทนที่

ในการนี้ ฝ่ายปฏิรูปต้องต่อสู้โต้แย้งถกเถียงกับฝ่ายที่ยึดมั่นถือมั่นบรรดาความรู้อันตั้งอยู่บนจักรวาลวิทยาแบบเดิมโดยเฉพาะโหราศาสตร์ในสยามอย่างดื้อดึง เช่น โหรหลวงและขุนนางชั้นผู้ใหญ่มากหลายซึ่งมักเล่าเรียนโหราศาสตร์ระหว่างบวชเรียนมา ทั้งที่การคำนวณวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กำหนดฤกษ์ยาม พยากรณ์ฝนฟ้าน้ำท่าบนฐานโหราศาสตร์แบบเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนเบี่ยงเบน ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตำหนิโหรหัวเก่าเหล่านี้ว่า “โหรซุ่มซ่าม”, “เถร”, “งมเถร”, “ระยำเถร”, “ลายเถร” เป็นต้น (Siam Mapped, p.44)

พระองค์ทรงแยกความเชื่อด้านโหราพยากรณ์ ออกจากเทคนิควิธีศึกษาคำนวณการโคจรของดวงดาวในโหราศาสตร์ไทย ทรงประยุกต์ตำราคำนวณการโคจรของดวงดาวอันแหวกแนวของโหราศาสตร์มอญที่แม่นยำกว่ามาปรับใช้กับโหราศาสตร์ไทย ควบคู่ประกอบกับดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์สมัยใหม่ของตะวันตก จนทรงคำนวณและระบุวันเวลาสถานที่ที่จะสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอได้ล่วงหน้าหลายเดือนอย่างแม่นยำ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพกับคณะอาคันตุกะชาวตะวันตกหน้าพลับพลา
ที่ประทับค่ายหลวง ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในการเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง 18
สิงหาคม พ.ศ.2411

และทรงเชิญคณะอาคันตุกะชาวตะวันตกให้ร่วมขบวนเสด็จไปทอดพระเนตรเป็นสักขีพยานถึงพลังและความถูกต้องแม่นยำของความรู้โหราศาสตร์แบบเดิมของสยามที่ปรับปรุงประยุกต์ให้สอดรับกับความรู้วิทยาศาสตร์แบบใหม่ของตะวันตกจนประสบความสำเร็จอย่างงดงามน่าภาคภูมิด้วย

ปรากฏว่าบรรดาโหรหลวงและขุนนางผู้ใหญ่มากหลายเองกลับไม่เชื่อว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนาย กระทั่งไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ จึงไม่ได้ตามเสด็จไปหว้ากอ

มิเพียงเท่านั้น ยังไม่ได้คอยสังเกตบันทึกปรากฏการณ์สุริยุปราคาระหว่างอยู่ในเมืองหลวงด้วย

เมื่อพระองค์เสด็จกลับและไต่ถามถึง ก็จนด้วยคำตอบ จึงทรงลงพระราชอาชญาให้ไปทำงานหนักในพระราชอุทยานหนึ่งวัน จำขังไว้แปดวัน และคัดลอกหนังสือที่พระองค์ทรงตำหนิวิจารณ์ข้อบกพร่องของพวกตนด้วยลายมือเพื่อให้หลาบจำ (Siam Mapped, pp.46-47)

ในทางกลับกัน ฝ่ายปฏิรูปก็ต้องคอยโต้แย้งพวกหมอสอนศาสนาฝรั่งที่พยายามใช้ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เจาะทะลวงเข้ามาในสยาม ไม่เพียงเพื่อโจมตีจักรวาลวิทยาแบบเก่าเท่านั้น แต่ล่วงล้ำไปสั่นคลอนพุทธศาสนาเพื่อเปิดช่องให้คริสต์ศาสนาเข้าทดแทนด้วย เช่น

รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตีพิมพ์พระราชหัตถเลขาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอของหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาและบุกเบิกการพิมพ์ของเอกชนในสยาม พ.ศ.2347-2416) ด้านหนึ่งเพื่อทรงร่วมวิจารณ์ความผิดพลาดล้าหลังในการอธิบายภูมิศาสตร์โลกของจักรวาลวิทยาแบบเก่ากับหมอบรัดเลย์ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทรงท้าทายเนื้อหาของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์โดยอาศัยเกณฑ์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เดียวกันนั้นด้วยเช่นกัน (Siam Mapped, p.40)

ทำนองเดียวกัน ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ก็จำต้องหาทางรอมชอมผสานพุทธศาสนาอันเป็นความรู้หลักทางธรรม เข้ากับวิทยาศาสตร์ตะวันตกอันเป็นความรู้หลักใหม่ในทางโลกให้ได้ด้วย เช่น เถียงว่า “ถ้าคนใดคิดเหนว่าแผ่นดินแบนก็จะถูกกับที่เขาถือว่ามีผู้สร้างให้เปน ถ้าถือว่าพิภพกลมก็จะถูกกับคำพระพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ว่าธรรมดานิยม”

หรือเรื่องในพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมแก่มารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านก็อธิบายแก้ต่างให้ตกไปว่า น่าจะเป็นความจริง และไม่จำต้องขัดกับความรู้ภูมิศาสตร์สมัยใหม่ เพราะดาวดึงส์อาจอยู่บนดาวเคราะห์ทรงกลมอีกใบหนึ่งที่ห่างไกลออกไปก็เป็นได้ เป็นต้น (ดู กำเนิดสยามจากแผนที่, น.59)

ด้วยเหตุแห่งโครงการปฏิรูปที่พยายามตัดแต่งประสานความรู้เก่าของสยามกับความรู้ใหม่จากตะวันตกเข้าด้วยกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปราชญ์ฝ่ายปฏิรูปจะมีลักษณะพันทางด้านญาณวิทยา (epistemological hybrid)

ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับถวายการยกย่องให้เป็นทั้ง “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ “พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” ไปพร้อมกัน (https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสะท้อนออกเป็นรูปธรรมในระหว่างการเสด็จทอดพระเนตรสุริยคราสที่หว้ากอว่า “เมื่อคราสเริ่มคลายออก ขณะที่อาคันตุกะชาวยุโรปยังคงสาละวนอยู่กับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ท่านก็เริ่มพิธีสักการะบูชาเพื่อตอบแทนเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” (กำเนิดสยามจากแผนที่, น.66)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญแห่งการมาถึงของภูมิศาสตร์แบบใหม่ในกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง-ภูมิปัญญาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ตรงมันได้เริ่มปูพื้นฐานให้แก่ไวยากรณ์การคิดแผนที่ชาติขึ้นในสยาม เพราะเราไม่สามารถคิดถึงชาติในเชิงพื้นที่ได้หากไม่มีเส้นพรมแดน (boundary lines)

งานเขียนสำคัญของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ได้แก่ หนังสือแสดงกิจจานุกิจ (พ.ศ.2410) อันเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และศาสนาสมัยใหม่โดยประสานคัดสรรตัดแต่งความรู้จากตะวันตกดังกล่าวเข้ากับความรู้เก่าของสยาม

การมาถึงสยามของลูกโลกทรงกลม อันประกอบไปด้วยนานาชาติตั้งเรียงรายติดต่อกันอยู่บนพื้นผิวลูกโลกใบนั้น โดยแบ่งแยกเขตแดนของแต่ละชาติจากกันด้วยเส้นพรมแดน ได้ช่วยสร้างเงื่อนไขอันเป็นไปได้ที่จะคิดถึง “ชาติสยาม” สมทบลงไปอยู่บนลูกโลกใบนั้นด้วย

โดยอยู่ ณ จุดที่ตั้งระหว่างเส้นรุ้งที่เท่านั้นๆ ถึงเท่านั้นๆ และเส้นแวงที่เท่านั้นๆ ถึงเท่านั้นๆ

และรายรอบด้วยเขตแดนของชาติอื่นๆ ที่ประชิดติดกัน ทำให้สามารถกำหนดนึกสำเหนียกหมาย/จินตนากรรมเส้นพรมแดนของ “ชาติสยาม” ขึ้นบนแผนที่ได้

เพื่อที่จะสร้าง “ชาติสยาม” ขึ้นในทางพื้นที่ โดยขีดลากเส้นพรมแดนลงบนแผนที่ต่อไปในที่สุด ตามลำดับในความเป็นจริงคือ :

{จินตนากรรม [แนวคิดชาติ] -> ติดตั้งลงบน [แผนที่] -> โดยขีดลาก [เส้นพรมแดน] ของสยามและชาติอื่นๆ ที่รายรอบขึ้นมา}