เทศมองไทย : “หยุด” แล้ว “คิดใหม่” คำวอนเพื่อ “เจ้าพระยา”

ข่าว “เวิร์ลด์ โมนูเมนต์ ฟันด์” หรือ กองทุนเพื่ออนุสรณ์สถานโลก (ดับเบิลยูเอ็มเอฟ) บรรจุ “เจ้าพระยา” ไว้ใน “เวิร์ลด์ โมนูเมนต์ วอตช์ ลิสต์” (ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล) รายชื่อสถานที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมทั้งเรียกร้องไทยให้ระงับโครงการก่อสร้างทางเดินยกระดับ 2 ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ เอาไว้ก่อน แล้วให้คิดเสียใหม่-ออกแบบใหม่ มีนัยสำคัญอยู่ในหลายๆ ทาง

เริ่มตั้งแต่ตัวองค์กรอย่าง ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เอง ซึ่งหากตรวจสอบย้อนกลับไป เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเก่าแก่ที่ทำงานด้านอนุรักษ์สถานที่สำคัญๆ ที่มี “นัยเชิงวัฒนธรรม” ทั่วโลก มานานกว่า 50 ปี ได้รับการยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย จนสามารถทำงานควบคู่กับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

เมื่อปี 1996 หรือ 21 ปีที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เริ่มจัดทำรายชื่อสถานที่สำคัญในหลายๆ ประเทศทั่วโลกออกมา เรียกว่า รายชื่ออนุสรณ์สถานที่ต้องเฝ้าระวัง (ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล)

จุดประสงค์เพื่อเตือนให้ได้รับรู้ทั่วกันว่า สถานที่สำคัญนั้นๆ กำลังถูกคุกคามในระดับที่ “เป็นอันตรายใหญ่หลวง”

พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิด หรือกำลังเกิดขึ้นต่อสถานที่นั้นๆ

รายชื่อดังกล่าวนี้จัดทำทุกๆ 2 ปี และมีส่วนสำคัญมากในการทำนุบำรุง และอนุรักษ์สถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมและมีความเป็นมรดกของโลกเอาไว้มากกว่า 800 สถานที่ใน 135 ประเทศทั่วโลก

 

รายชื่อ ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล หลังสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 ตุลาคมนี้ ก็คือรายชื่อที่จำต้องเฝ้าระวังสำหรับปี 2018 รวมทั้งสิ้น 25 สถานที่ใน 23 ประเทศ ครอบคลุมเกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก ตั้งแต่อเมริกาเหนือจรดอเมริกาใต้ จากตะวันออกไกลถึงตะวันออกกลาง เอเชีย และออสเตรเลีย

หนึ่งในสถานที่ดังกล่าวคือลำน้ำเจ้าพระยา ของไทย

ทำไมต้องระวัง “เจ้าพระยา”?

คำตอบมีอยู่ในรายละเอียดของถ้อยแถลงเกี่ยวกับสถานที่แต่ละแห่งว่ามีข้อต้องกังวลอย่างไร มีภัยคุกคามอย่างไร

ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

 

“แม่น้ำเจ้าพระยา-ริเวอร์ ออฟ คิงส์” ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก ถูกระบุว่า “กำลังถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับแม่น้ำไปโดยไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้อีกต่อไป”

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาทดังกล่าว คือโครงการก่อสร้าง “ทางเดินยกระดับ” เลียบริมเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้านในส่วนที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร

ดับเบิลยูเอ็มเอฟ ยอมรับว่า โครงการดังกล่าว อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในท้องถิ่นให้ “เข้าถึง” พื้นที่ริมน้ำได้มากขึ้นมหาศาล แต่ในเวลาเดียวกันก็เตือนด้วยว่า ความเสียหายทั้ง “ทางสังคมและวัฒนธรรม” ที่เกิดจากโครงการนี้ “ที่เป็นต้นทุนก็จะมีมูลค่ามหาศาลมากพอๆ กัน”

เราจะเสียอะไรไปบ้าง

 

แรกสุดก็คือ “ทางเดินคอนกรีตยกระดับ” ดังกล่าวจะบดบังทัศนียภาพของตัวเมืองกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมองมาจากฝั่งไหน “ภูมิทัศน์” ของตัวเมืองที่เคยเป็นที่ชื่นชม ติดตาตรึงใจใครต่อใครทั่วโลกจะหมดสิ้นไป

ถัดมา โครงการนี้จำเป็นต้องก่อสร้างเสาค้ำยันหรือตอม่อที่ต้องก่อขึ้นมาจากท้องน้ำ ซึ่งทำให้ “นักอุทกศาสตร์ ได้เตือนถึงผลกระทบเชิงนิเวศที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างนี้ อาทิ ภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดถี่ขึ้นในอนาคต”

ประการสุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุด และถูกเน้นมากเป็นพิเศษก็คือ โครงการนี้ทำให้จำเป็นต้อง “โยกย้ายชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา” จำนวนมากออกไปอย่างช่วยไม่ได้ และเริ่มเกิดขึ้นแล้วในเวลานี้

แล้วก็เตือนให้เราได้ตระหนักด้วยว่า โครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015 นี้ ถูกต่อต้านมากเพียงใด จากหลายๆ ฝ่ายมากแค่ไหน

 

ข้อดีที่สำคัญที่สุดในการจัดทำ “รายชื่อสถานที่สำคัญต้องเฝ้าระวัง” ครั้งนี้ ซึ่งผมเองชื่นชมเป็นพิเศษก็คือ ดับเบิลยูเอ็มเอฟ ไม่ได้เพียงแค่เตือน หรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและผลเสีย แต่ยัง “เสนอแนะทางออกที่ควรเป็น” เอาไว้ให้ด้วย

ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการลงชั่วคราวแล้ว “คิดใหม่หมด” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

โดย “ให้ผู้รับผิดชอบโครงการยึดคำคัดค้านที่ได้รับจากการไต่สวนสาธารณะมาเป็นหลักในการดำเนินการโครงการต่อไปในอนาคต”

พร้อมกันนั้นก็ยืนยันอย่างมั่นเหมาะว่า การออกแบบโครงการใหม่ เพื่อ “ให้สอดคล้อง กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมริมน้ำ” ให้มากขึ้นกว่าเดิม

และ “คำนึงถึงการอ้างสิทธิที่ชอบธรรมตามกฎหมายในอันที่จะยังใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำของชุมชนริมเจ้าพระยา” นั้นยังเป็นไปได้

บอกด้วยซ้ำไปว่า อาจจำเป็นต้องทำสวนธารณะลอยน้ำ หรือทางเดินลอยน้ำ เพื่อเลี่ยงการรื้อย้ายชุมชนดังกล่าว

สำหรับผม ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ซุกซ่อนอยู่ในรายชื่อสถานที่สำคัญต้องเฝ้าระวังประจำปี 2018 ครั้งนี้ อยู่ตรงที่ “การรับฟัง” ซึ่งกันและกันเป็นหลัก

ถ้าคนไทยด้วยกันไม่ทำใจให้กว้าง “รับฟัง” ข้อเรียกร้องหรือเสียงวิงวอน ซึ่งกันและกัน ในทำนอง “ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ” ไม่ว่าจะในเรื่องเจ้าพระยาหรือเรื่องไหนๆ

ก็คงต้องอาศัยคำเตือนจากคนอื่นเขาอยู่ร่ำไปอย่างนี้แหละครับ!