ในประเทศ/’บิ๊กสร้าง’ ประสานรอยร้าว ปฏิรูปตำรวจปมอัยการถ่วงดุลทำคดี

ในประเทศ

‘บิ๊กสร้าง’ ประสานรอยร้าว
ปฏิรูปตำรวจปมอัยการถ่วงดุลทำคดี

หลังจากที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จรดปากกาแต่งตั้งอาจารย์ของเจ้าตัว ดีกรีระดับด๊อกเตอร์ จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ สหรัฐอเมริกา อย่าง “บิ๊กสร้าง” พล.อ.ดร.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (ตท.6) เพื่อนร่วมรุ่นของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เพื่อสานฝันการปฏิรูปวงการตำรวจให้เป็นจริงได้
ทว่า การปฏิรูปวงการตำรวจนับว่าเป็นโจทย์หินและโจทย์ยากที่คาราคาซังมาหลายต่อหลายรัฐบาล
มิหนำซ้ำคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี “พล.อ.บุญสร้าง” นั่งกุมบังเหียนนั้น ยังมีข้อครหาในสายตาประชาชนตามมาว่าการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการ ที่เอาทหารมาปฏิรูปตำรวจ จะสำเร็จหรือไม่
ฉะนั้น งานปฏิรูปตำรวจจึงถือเป็น “โจทย์ใหญ่” และ “งานหิน” ที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคให้ได้เพื่อปฏิรูปวงการตำรวจให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม

เพราะว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 260 บัญญัติไว้ว่า “ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
1. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็นข้าราชการตํารวจมาก่อน เป็นประธาน
2. ผู้เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตํารวจซึ่งอย่างน้อยต้องมีผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติรวมอยู่ด้วย มีจํานวนตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด เป็นกรรมการ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็นข้าราชการตํารวจมาก่อน มีจํานวนเท่ากับกรรมการตาม (2) เป็นกรรมการ
4. ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสํานักงาน ศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งแล้ว จะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปตำรวจต้องดำเนินการจัดทำแผนงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มาตรา 8 (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม
เพราะฉะนั้น หากเริ่มนับหนึ่งจากวันที่ 6 เมษายน อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ที่เป็นวันแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ก็กินเวลา 3 เดือนแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการภายใต้การนำของ “บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง จะเหลือเวลาแค่เพียง 9 เดือนในการปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จ
ซึ่งระยะเวลาเพียงน้อยนิดจะปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือ

แต่กระนั้น พล.อ.บุญสร้างได้ยืนยันเจตนารมณ์ในการเข้ามาทำงานปฏิรูปตำรวจอย่างมั่นใจว่า “ผมเชื่อมั่นว่าจะใช้เวลา 9 เดือนทำเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้แล้วเสร็จ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีข้อขัดข้องหรือแรงต่อต้านมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ทว่า การดำเนินการผ่านไปแค่ 3 เดือน เริ่มมีรอยปริร้าวและข้อขัดข้องในคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบการสอบสวนคดีอาญาเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อ “บิ๊กเปี๊ยก” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่คร่ำหวอดงานของวงการสีกากี โดยเฉพาะงานด้านสำนวนคดีมากว่า 37 ปี ได้ขอโบกมือลา “ไขก๊อก” จากตำแหน่งคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบการสอบสวนคดีอาญา
ซึ่ง “บิ๊กเปี๊ยก” ได้ให้เหตุผลการลาออกนั้นว่า
“สาเหตุจากการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ในเรื่องการปฏิรูปการสอบสวน คล้ายๆ กับมีพิมพ์เขียวเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่เสนอให้อัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนก่อนแจ้งข้อหาผู้ต้องหา ที่ผ่านมาพยายามเสนอความเห็นที่แตกต่าง เพราะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่มักถูกตัดบท ไม่เปิดโอกาสให้พูด เพื่อเสนอความเห็น”
ซึ่งข้อเสนอให้อัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนก่อนแจ้งข้อหาผู้ต้องหา กลายมาเป็นปมชนวนขัดแย้งในหมู่คณะอนุกรรมการ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ออกโรงสนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้าน

หนึ่งในคณะอนุกรรมการ อย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” ออกมาให้ความเห็นไว้อย่างแหลมคมว่า “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ต้องคิด 2 ทาง ไม่ใช่บอกตำรวจทำไม่ดีแล้วเอางานสอบสวนไปไว้ที่อัยการ แค่นี้ยังไม่พอ ต้องคิดต่อไปด้วยว่า แล้วหากอัยการทำไม่ดี แล้วจะทำอย่างไรต่อไปด้วย นี่คือปัญหาที่แท้จริง
เรื่องความพร้อมหรือความไม่พร้อม เถียงกันได้ไม่รู้จบ หากตั้งใจจะปฏิรูปแล้วบอกว่าไม่พร้อม ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้พร้อม แต่หากไม่คิดจะปฏิรูป ถึงแม้มีความพร้อม ก็จะไม่มีปฏิรูปได้ เพราะเราไม่ตั้งใจจะปฏิรูป ปฏิรูปก็ไม่มีทางเกิดได้”
ด้วยเหตุนี้เอง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ จึงรู้สึกเสมือนน้อยใจไม่มีบทบาทในการแสดงความเห็น จึงถอดใจลาออกในคณะอนุกรรมการชุดนี้ในที่สุด
แต่ว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยังสวมหมวกนั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดใหญ่อยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กสร้าง” ได้ออกมาสยบถึงประเด็นเกาเหลาในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอีกว่า “ไม่มีปัญหาอะไรและไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ผมยืนยันว่าการดำเนินการปฏิรูปตำรวจในคณะไม่มีความขัดแย้งกันอย่างใด
พร้อมทั้งยืนยันอีกว่า คณะกรรมการทุกคนที่เข้ามาทำงานก็มีแนวคิดและความคิดเห็นเป็นของตนเองที่จะปฏิรูปตำรวจ ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นได้ ไม่ได้ปิดกั้นอะไร อย่างไรก็ตาม ผมขอยืนยันว่าคณะกรรมการของผมไม่ได้รับพิมพ์เขียวจากผู้มีอำนาจ คนที่พูดแบบนี้จะทำให้สับสน และไม่เป็นความจริง”
แล้วความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจจะเดินไปสู่แนวทางใด การดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน พล.อ.บุญสร้างชี้แจงข้อสงสัยนี้ว่า ความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ ผมยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ อะไรที่สามารถทำได้เราก็ทำ แก้ไขไว้แล้ว ส่วนที่ยังไม่เสร็จเราก็กำลังดำเนินการกันอยู่ ซึ่งการปฏิรูปตำรวจนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ทำเต็มที่เต็มความสามารถ และไม่มีอุปสรรคการดำเนินการ
กระนั้นก็ตาม ความชัดเจนในเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องรอให้ผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีสำคัญของประเทศไปก่อน จึงจะมีการหารือถึงทางออกกันอีกครั้ง เพื่อจะสมานรอยร้าว ลบความขัดแย้ง เดินหน้าปฏิรูปตำรวจต่อไปให้แล้วเสร็จตามห้วงระยะเวลา
เพราะการปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในการปฏิรูป 11 ด้านที่รัฐบาลและ คสช. กำหนดเอาไว้
หากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมีปมขัดแย้ง มีรอยร้าว แล้วดำเนินการไม่เสร็จภายใน 1 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจกลายเป็นข้อครหาในสายตาประชาชน
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ย่อมส่งผลให้ความน่าเชื่อถือถึงการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ลดลงไปด้วย
สุดท้ายแล้วผลงานการปฏิรูปตำรวจจะเดินไปถึงฝั่งฝัน กลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงหรือต้องล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่
ในเมื่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ แค่เพียงเริ่มทำงานก็เริ่มกินเกาเหลากันแล้ว