สนุกสัมผัส (2) | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

สนุกสัมผัส (2)

 

สัมผัสบังคับที่ใช้สระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด หรือใช้สระและตัวสะกดที่มีคำจำกัด เป็นสิ่งที่ท้าทายฝีมือการประพันธ์ สนุกทั่วถึงทั้งผู้แต่ง ผู้อ่าน และผู้ฟัง

สุนทรภู่พรรณนาภาพท้องฟ้ายามมีพายุ กึกก้องด้วยเสียงลมแรง สายฝนกระหน่ำไว้ใน “นิราศพระประธม” ว่า

“พอมืดมนฝนคลุ้มชอุ่มอับ โพยมพยับเป็นพยุระบุระบัด

เสียงลมลั่นบันลือกระพือพัด พิรุณซัดสาดสายลงพรายพราว”

ลีลากลอนจากสัมผัสบังคับคำตายอันเกิดจากสระเสียงสั้นรวมกับตัวสะกดมาตราแม่กบในคำว่า ‘อับ’ – ‘พยับ’ และมาตราแม่กดในคำว่า ‘ระบัด’ – ‘พัด’ – ‘ซัด’ ทำให้รู้สึกถึงความรวดเร็วรุนแรงของสภาพอากาศที่พลิกผันทันทีทันใด

ยิ่งไปกว่านั้น คำเป็นสระเสียงยาว เช่น ‘สระอู’ มี ง เป็นตัวสะกด คำรับส่งสัมผัสยิ่งมีน้อยลงไปอีก เช่น ‘ฝูง – ยูง – สูง’

แต่กวีก็สามารถใช้สามคำนี้ส่งรับสัมผัสได้เหมาะเจาะในคำประพันธ์ต่างๆ กัน

 

“สมุทรโฆษคำฉันท์” บรรยายถึงนกนานาพันธุ์ขณะพระสมุทรโฆษเดินทางว่า

“นกไส้พรั่นไส้แสบศัลย์ คู่คลาศคอยกัน

ครั้นเห็นก็เหิรหาฝูง

ยาบยาบหัวหางหายูง จับไม้ไหล้สูง

และกิ่งกระย่อนฟ้อนฟาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ตอนพระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีใช้บน ได้เห็นบทรักช้างพลายวุ่นวายกับช้างพัง ทั้งยังได้ยินเสียงเรไรไพเราะราวบรรเลงเพลงให้นกยูงร่ายรำเป็นที่เพลินอารมณ์ ดังที่กวีบรรยายว่า

“รอบรารุนรวกราม ดำฤษณ์กามจาบัลย์

ตระแตร้นในธารทรรป์ ทรหึงทรหวงฝูง

ไพเราะเรไรร้อง คือจำเรียงระบำยูง

อยู่แลนพฤกษาสูง สุดยอดฟ้อนกระหย้อนติง”

สุนทรภู่เองก็ไม่พลาดสามคำนี้ ดังจะเห็นได้จาก “โคลงนิราศสุพรรณ”

“ตัดทางหว่างต้นโตนด โขดสูง

เนื้อแยกแตกตื่นฝูง ฝุ่นฟุ้ง

แฝงดูหมู่นกยูง ยอบย่อง มองเอย

พรายพร่างอย่างศรีรุ้ง อร่ามเพี้ยนเขียนขน ฯ”

ที่พิเศษยิ่งกว่า สุนทรภู่เพิ่มคำว่า ‘จูง’ เข้ามาด้วยใน “นิราศเจ้าฟ้า”

“แต่แรกดูครู่หนึ่งจนถึงที่ เหมือนถอยหนีห่างเหินเดินไม่ไหว

เหมือนเรื่องรักชักชิดสนิทใน มากลับไกลเกรงกระดากต้องลากจูง

พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโตนดดินพูนเป็นมูลสูง

เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง เป็นฝูงฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย”

 

นอกจาก ‘สระอู มีตัว ง สะกด’ ยังมี ‘สระอิ ตัวสะกดแม่กบ’ ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” รัชกาลที่ 2 ทรงให้หกเขยเป่าหูท้าวสามลพ่อตาว่า เจ้าเงาะเขยเล็กไม่ใช่คน โดยใช้คำว่า ‘กะพริบ’ – ‘ผีดิบ’ – ‘กินทิพ’ และ ‘ยี่สิบ’ รับส่งสัมผัส

“ชะรอยเป็นปิศาจประหลาดใจ ดูตามันมิใคร่จะกะพริบ

วิปริตผิดมนุษย์นักหนา ข้าเห็นว่าอ้ายนี่เป็นผีดิบ

มีกำลังพลังดังกินทิพ เนื้อยี่สิบหาบมาถึงธานี”

ถึงตรงนี้นึกถึงอาขยานที่เคยท่องขึ้นมาได้ จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ขึ้นต้นว่า ‘ยกออกนอกเมืองสวรรคโลก ข้ามโคกเข้าป่าพนาศรี’ ตอนพลายงามชมดง มีข้อความกล่าวถึงภูเขาและหุบเหวเต็มไปด้วยหินสารพัดแบบ น่าตื่นตาตื่นใจ

“บ้างเป็นยอดกอดก่ายตะเกะตะกะ ตะขรุตะขระเหี้ยนหักเป็นหินห้อย

ขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย บ้างแหลมลอยเลื่อมสลับระยับยิบ

บ้างงอกเง้าเป็นเงี่ยงบ้างเกลี้ยงกลม บ้างโปปมเป็นปุ่มกะปุบกะปิบ

บ้างปอดแป้วเป็นพูดูลิบลิบ โล่งตะลิบแลตลอดยอดศิขรินทร์”

สัมผัสบังคับมีตั้งแต่ ‘ระยับยิบ – กะปุบกะปิบ – ลิบลิบ – ตะลิบ’ แต่ละคำสะท้อนถึงความสามารถใช้คำหลากหลายความหมาย มองเห็นรูปทรง แสงสี ระยะและปริมาณไปพร้อมๆ กัน

 

การใช้คำตายรับส่งสัมผัส ไม่เพียงแต่แสดงฝีมือการประพันธ์ของกวีท่านใดท่านหนึ่ง ยังเป็นการประชันไหวพริบปฏิภาณ ความสามารถระหว่างกวีสามท่านที่ร่วมแต่งสักวาบทเดียวกันอีกด้วย

รัชกาลที่ 2 { สักวาระเด่นมนตรี

{ จรลีเลยลงสรงในสระ

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ

สุนทรภู่ แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ

รัชกาลที่ 2 นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จงไปหักเอาแต่ตัวฝักบัวดิบ

สุนทรภู่ โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ

รัชกาลที่ 2 ให้ข้างในไปหยิบเอามาเอย

รัชกาลที่ 2 ทรงใช้คำว่า ‘สระ’ เป็นกรอบบังคับให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เดินตามด้วยคำว่า ‘ชำระ’ ไม่แกล้งก็เหมือนแกล้ง ทันทีที่สุนทรภู่ใช้คำว่า ‘พระ’ รับสัมผัสก็ลงท้ายบทอย่างจงใจด้วยคำว่า ‘กระซิบ’ แม้คำนี้ไม่มีผลต่อรัชกาลที่ 2 โดยตรง แต่ก็ทรงดักทางกวีต่อไปด้วยคำว่า ‘ฝัก’ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (หรือรัชกาลที่ 3 ในเวลาต่อมา) ต่อให้ถูกบังคับด้วยคำว่า ‘ฝัก’ ของรัชกาลที่ 2 และ ‘กระซิบ’ ของสุนทรภู่ ก็ทรงแก้ไขได้ไม่ยาก โดยใช้คำว่า ‘หัก’ รับสัมผัสกับ ‘ฝัก’ และใช้คำว่า ‘ดิบ’ ในคำ ‘ฝักบัวดิบ’ รับสัมผัสคำว่า ‘กระซิบ’ ต่อจากนั้นสุนทรภู่และรัชกาลที่ 2 ผ่านสบายๆ ด้วยคำว่า ‘ลิบลิบ’ และ ‘หยิบ’ ตามลำดับ

สักวาประวัติศาสตร์ เด็ดจริงๆ เฉือนกันไม่ลง •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร