Activist + Hacker = Hacktivist | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Activist + Hacker = Hacktivist

 

Activist เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นนักกิจกรรมในความหมายของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

Hacker คือนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้ง Hacker หมวกขาว (ฝ่ายธรรมะ) Hacker หมวกดำ (ฝ่ายอธรรม)

Hacktivist หมายถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกไซเบอร์ ผู้ผดุงความยุติธรรมผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ปฏิบัติการของ Hacktivist เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 โดยมักชุมนุมกันอยู่บน Usenet และเว็บบอร์ดต่างๆ โดย Hacktivist ชื่อดังในยุคนั้นคือ Omega หนึ่งในกลุ่ม Hacker ที่ชื่อ Cult of the Dead Cow ผู้ใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ในการก่อ “อารยะขัดขืน” เพื่อเป้าหมายรณรงค์ทางการเมือง และสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ขับเคลื่อนด้วย “อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย” ที่เป็นปฏิปักษ์กับทุนนิยม ผนวกกับความซุกซนที่ไร้การควบคุม และความชื่นชอบในการปั่นหัวฝูงชน นำไปสู่การเจาะรหัสเพื่อประท้วงสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อต้านนักการเมือง ผ่านเครื่องมือ และวิธีการที่หลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็น การโจมตี DDos (Distributed Denial of Service) เพื่อบุกทะลวงเว็บไซต์ด้วย Traffic ปลอม รวมถึงการปล่อย Malware หลากหลายรูปแบบ ในการขัดขวางการทำงานของระบบ

ไปจนถึงการขโมยไฟล์เพื่อทำการเปิดโปงข้อมูลทุจริตของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ รัฐบาลจอมฉ้อฉล หรือกลุ่มทุนที่บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่โดนข้อกล่าวหาเลี่ยงภาษี

 

หลังจาก Omega ในยุคแรก Hacktivist ยุคต่อมาก็ปรากฏขึ้นในนาม WANK (Worms Against Nuclear Killers) ในปี ค.ศ.1989 ซึ่งมีการปล่อย Malware ในระบบเครือข่ายของ NASA เพื่อประท้วงการปล่อยจรวดที่ใช้นิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิง

ดูเหมือนกลุ่ม WANK จะมีบทบาทและชื่อเสียงที่ยาวนานมาจนถึงทศวรรษที่ 2000 เพราะกว่าที่จะเกิด Hacktivist ยุคใหม่ที่ชื่อ Anonymous ซึ่งสิงสถิตอยู่ในเว็บบอร์ด 4Chan ของ Christopher Poole ในปี ค.ศ.2003

Anonymous เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกผู้ใช้บนเว็บบอร์ด 4Chan ระดับเก๋านานนับปี จนกระทั่งในปี ค.ศ.2005 ได้ประกาศเปิดตัวด้วยการถล่ม DDoS ของเว็บไซต์ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น VISA, Mastercard และ Paypal โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ ระดับโลก เช่น การประท้วงที่ประเทศอียิปต์ ซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างสูง ที่รู้จักกันในชื่อ The Arab Spring

Anonymous เป็นการรวมตัวของสมาชิกแบบหลวมๆ ไม่มีจัดตั้ง ไม่มีการนำ โดยปฏิบัติการของ Anonymous มุ่งเน้นความมัน ความสนุกสนาน เอาฮา เช่น การสั่งพิซซ่าจำนวนมากให้ไปส่งบ้านคนอื่น แต่คิดเงินกับเจ้าของบ้าน เป็นต้น

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Anonymous ขึ้นชั้นกลายเป็น Hacktivist ก็คือ ปฏิบัติการในปี ค.ศ.2008 คือการโจมตีลัทธิไซแอนโทโลจี (Church of Scientology) ปฏิบัติการดังกล่าวมีชื่อว่า Chanology ที่ตั้งชื่อเลียนแบบเว็บบอร์ด 4Chan

ภารกิจหลักๆ ของ Chanology คือการถล่ม DDos เว็บไซต์ของไซแอนโทโลจี ต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการประท้วงในโลกจริง ที่สำนักงานไซแอนโทโลจีหลายแห่ง

โดยสมาชิก Anonymous ต่างสวมหน้ากาก Guy Fawkes จากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นภาพจำของ Hacktivist ทั่วทุกมุมโลก

ผลงานชิ้นโบแดงของ Anonymous คือการรณรงค์ต่อสู้กับการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ทั่วโลก ผ่านร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ หรือ Stop Online Piracy Act : SOPA และร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี หรือ Protect Intellectual Property Act : PIPA

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Anonymous มีความพยายามโจมตีกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIS ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งเป้าไปที่การสกัดยุทธวิธีหาแนวร่วมของ ISIS ผ่านเว็บไชต์ และโซเชียลมีเดียที่ใช้ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม ISIS

อีกหนึ่งเหตุการณ์อันน่าจดจำของ Anonymous ก็คือ หลังการเสียชีวิตของ George Floyd เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2020 โดย Anonymous ได้รวมตัวกันเพื่อปิดเว็บไซต์สำนักงานตำรวจ Minneapolis รัฐ Minnesota ซึ่งเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของ George Floyd นั่นเอง

หลังจากเปิดตัวด้วยความหวือหวา และปฏิบัติภารกิจสะเทือนโลกอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าชื่อเสียงของ Anonymous ค่อยๆ จืดจางห่างหายไปจากโลกไซเบอร์ โดยมี Hacktivist รุ่นใหม่ขึ้นชั้นมาแทน

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว WikiLeaks องค์กรสื่อที่ไม่แสวงหาผลกำไรของ Julian Assange ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2006

ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของ WikiLeaks คือการนำเอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนขนาดใหญ่มาตีแผ่ต่อสาธารณชน นั่นจึงทำให้ WikiLeaks เป็นที่รู้จักในฐานะ “เว็บไซต์จอมแฉ”

ผลงานชิ้นโบดำของ WikiLeaks คือการรวบรวมและจัดเก็บ “เอกสารลับ” ดังกล่าว มากถึง 1.2 ล้านฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผยแพร่เอกสารลับ Afghan War กว่า 400,000 ฉบับ และการเปิดเผยการทารุณกรรมต่อนักโทษในคุกอ่าวกวนตานาโมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยมี CIA ชักใยอยู่เบื้องหลัง

 

นอกจาก WikiLeaks ยังมี Hacktivist อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงไม่แพ้กัน นั่นคือ LulzSec

Lulz มีที่มาจากคำว่า Laugh ซึ่งแปลว่า “หัวเราะ” เมื่อมาผสมกับคำว่า Sec ที่มาจากศัพท์ Security อันหมายถึง “ความปลอดภัย” รวมกันเป็น LulzSec หรือ “การรักษาความปลอดภัยที่น่าขำ”

LulzSec ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นการรวมตัวของ Hacker น้องใหม่กลุ่มเล็กๆ ในห้องแชตลับแห่งหนึ่ง ซึ่งสมาชิกของ LulzSec มีลักษณะต่างคนต่างทำงานบนโลกออนไลน์ โดยที่แต่ละคนจะไม่รู้จักกัน และไม่เคยเจอกันในโลกแห่งความเป็นจริง

ผลงานที่มีชื่อเสียงของ LulzSec คือบุกทะลวงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของวุฒิสภาสหรัฐ รวมถึงเว็บไซต์ของสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ หรือ CIA และบริษัท Sony’s PlayStation Network

ที่ถือเป็นการโจมตีที่โด่งดังระดับโลก กับการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิตของสมาชิก Sony’s PlayStation Network ไปเปิดเผยต่อสาธารณะในปี ค.ศ.2011 เกือบ 5 ล้านแอ็กเคาต์

หลังจากมีกวาดจับสมาชิก LulzSec พวกเขาได้สารภาพว่า จุดมุ่งหมายของ LulzSec คือการเข้าไปขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าบริษัทเอกชน หรือองค์กรต่างๆ เหตุผลก็คือ เพื่อเป็นการเยาะเย้ยมาตรการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทห้างร้านทั้งหลาย

 

นอกจาก Anonymous, WikiLeaks และ LulzSec แล้ว ยังมี Hacktivist อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม ได้ทำการเจาะระบบผู้รับเหมารายใหญ่แห่งรายหนึ่งซึ่งทำสัญญากับหน่วยข่าวกรองลับ และหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย หรือ Federal Security Service of the Russian Federation : FSB

โดยคนกลุ่มนี้ได้ทำการล้วงลึกข้อมูลลับกว่า 7.5TB เพื่อนำไปออกเผยแพร่ให้ Hacktivist กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อสารมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการไอทีของรัฐบาลมอสโก

จากเป้าหมายเพื่อความบันเทิง พัฒนาสู่การมีส่วนร่วมในการเรียกร้องทางการเมือง Hacktivist จึงมักโจมตีผู้ที่ขัดขวางเสรีภาพในการรับข่าวสารของประชาชน

ดังนั้น Hacktivist จึงได้รับการขนานนามว่า Hacker ผู้มีจิตสำนึก เพราะกิจกรรมของพวกเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อเงิน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือ ทุกสังคม ทุกกลุ่ม ย่อมปะปนอยู่ด้วยคนดีและคนร้าย

Hacktivist แหกคอกบางคนจึงถูกโยงเข้ากับการก่ออาชญากรรมที่มุ่งเจาะรหัสเพื่อโจมตีเว็บไซต์ หรือปล่อย Malware เพื่อเรียกค่าไถ่นั่นเองครับ!