นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมามีช่วงเวลาในการส่งผ่าน เพราะดอกเบี้ยจะไปกระทบกับการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ขอให้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เพราะฉะนั้นผลกระทบจริงอาจอ่อนลง

“ถึงแม้ว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว แต่ธปท.จะพยายามวางมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว คงไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียว” นายนณริฏ กล่าว

นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันคนไทยกำลังเผชิญปัญหาสำคัญคือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี ปัจจุบันมีการก่อหนี้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้จ่ายส่วนบุคคล บัตรเครดิต การซื้อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ หรือสินเชื่อเพื่อการศึกษา รวมหนี้ปัจจุบันถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)

สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงนั้น เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้อน ดังนั้นหากเจอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น