“ธนาธร” เยี่ยมฟาร์มเกษตรคนรุ่นใหม่ยะลา ต่อยอดความร่วมมือยูเอ็น-คณะก้าวหน้า

ธนาธร เยี่ยมชมฟาร์มเกษตรคนรุ่นใหม่ที่ อ.บันนังสะตา จ.ยะลา ชื่นชมแนวคิดรวมกลุ่มทำวิสาหกิจเกษตร สู่การฟื้นฟูชุมชน สร้างงานและความมั่นคงทางอาหาร ชูเป็นทางเลือกต้นแบบสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากทำเกษตรในอนาคต

 

วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เยี่ยมชมสวนเกษตร ONEPAT Farm ที่ ต.บาเจาะ อ.บันนังสะตา จ.ยะลา พร้อมร่วมวงสนทนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ร่วมกับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ในพื้นที่
.
สวนเกษตร ONEPAT Farm เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ กริยา มูซอ (วันอาลี) ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงอุปสรรคสำหรับคนรุ่นใหม่ในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเกษตร ที่ทำให้คนจำนวนมากกำลังละทิ้งอาชีพของรุ่นพ่อแม่ รวมถึงการเกษตรที่เน้นแต่พืชเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่กลับต้องนำเข้าพืชผักพื้นฐานจากนอกพื้นที่มากกว่า 97% ของที่บริโภคทั้งหมด

คนรุ่นใหม่ในชุมชนจึงได้ริเริ่มรวมตัวกันในละแวกบ้านจัดตั้งวิสาหกิจขึ้นมา ระดมทุนกันเองโดยปราศจากการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก บริหารโดยอาศัยแนวคิดสมัยใหม่ เช่น คอนเซปต์ “co-farming space” หรือการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกันในการประกอบอาชีพเกษตร ให้สามารถเข้าถึงศักยภาพและองค์ความรู้ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากประกอบอาชีพนี้ ปัจจุบันรวมกลุ่มดำเนินการมาได้ 8 เดือนแล้ว เริ่มจากการเพาะเห็ดและพืชผักสวนครัวในช่วงแรกนี้ และกำลังมีแผนการขยายไปสู่ปศุสัตว์ พืชสวนเศรษฐกิจ และสวนป่าในอนาคต
.
ซี่งล่าสุด ONEPAT Farm เพิ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการของ UNDP (United Nations Developmental Program) ผ่านการประสานงานโดยคณะก้าวหน้า ซึ่งทางวิสาหกิจจะนำไปพัฒนาบุคลากรที่ผ่านการคัดเลือกในชุมชนจำนวน 45 คน มาเรียนในหลักสูตรด้านการทำเกษตรสมัยใหม่อย่างเข้มข้น ให้นำไปสู่การนำเสนอแผนธุรกิจ และการเป็นหัวขบวนของคนรุ่นใหม่ในภาคเกษตรที่บาเจาะต่อไปในอนาคต
.
หลังเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและการทำงานของสวนเกษตรแล้ว ธนาธรได้ร่วมวงพูดคุยกับเกษตรกรทั้งคนรุ่นใหม่และเครือข่ายเกษตรกรในชุมชน โดยกล่าวชื่นชมทุกคนที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา พร้อมระบุว่าจากการเดินทางไปทั่วประเทศ ตัวเองได้เห็นว่าชนบททุกที่ต่างมีปัญหาร่วมกันเรื่องหนึ่ง คือการขาดแคลนงานที่มีคุณภาพ ไม่มีตำแหน่งงานที่มากพอให้คนรุ่นใหม่มีงานทำใกล้บ้านได้ จนทำให้คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ต้องออกไปตามเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ไม่ได้อยู่สร้างชุมชนของตัวเอง

ดังนั้น สิ่งที่ ONEPAT Farm ทำสำเร็จในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นความหวังและรูปแบบธุรกิจที่จะทำให้วิถีการเกษตรสามารถสร้างรายได้เพียงพอเลี้ยงคนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะในยามที่พืชเศรษฐกิจหลักทุกตัวมีปัญหาด้านราคา และผักส่วนใหญ่ในชุมชนทุกวันนี้ต่างมาจากนอกพื้นที่ สวนผักจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิต คุณภาพ และตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง ได้ง่ายขึ้น และปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีราคาที่ถูกลงและหาได้ง่ายขึ้นแล้ว
.
“การมีสวนผักในพื้นที่โดยไม่ต้องนำเข้าจากที่อื่น สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนได้ และยังสร้างงานในพื้นที่ได้ด้วย แต่ด้วยความที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ จึงอาจจะยังขาดโครงสร้างที่จำเป็นอยู่ จุดนี้หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างท้องถิ่น สามารถเข้ามาช่วยประสานงาน ทำศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า มีห้องเย็น มีระบบการขนส่งไปถึงกลางทางและปลายทาง ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ได้” ธนาธรกล่าว