PRINC เผยผู้ป่วยใหม่พุ่ง 30% หลังลุยขยายเตียง-ศูนย์เฉพาะทางกว่า 20 แห่งใน ปีนี้ ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท หนุนชดเชยรายได้โควิด-19 มั่นใจขยาย รพ. ตามแผน 20 แห่งในปี 67

30 ก.ย. 65 จ.สมุทรปราการ – นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนามโรงพยาบาล ‘เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ กล่าวว่าปัจจุบันการขยายโรงพยาบาล 20 แห่งภายในปี 2567 ยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกันผลจากการเร่งขยายศูนย์การเเพทย์และคลินิกเฉพาะทางกว่า 20 แห่ง ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท ตามแผนการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล ส่งผลให้สัดส่วนของผู้รับบริการใน    โรคอื่นๆ กลุ่ม Non-Covid ขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่ม Covid อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 65 ทิศทางการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้รับบริการรายวัน (Campus Visit per day) สูงขึ้นราว 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจำนวนผู้ป่วยใหม่ (New Patient) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพุ่งเกือบ 30% จากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการผ่าตัดทำคลอด, ผ่าตัดกระดูกสันหลัง-ข้อเข่าข้อสะโพก, ผ่าตัดต้อกระจกและโรคตา, การให้บริการวัคซีนเด็ก และการเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ป่วยรับบริการเพิ่มมากขึ้นตามฤดูกาล โรคที่มากับน้ำ โรคไวรัส RSV ฯลฯ ขณะที่โควิด-19 แม้มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนบ้าง แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ไม่เกิน 20-25 % ของจำนวนเตียงที่ให้บริการทั้งหมด

ส่วนการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ปี 65 นี้ ซึ่งเป็นช่วงหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นายธานีกล่าวถึงกลยุทธ์ที่สำคัญในการเปิดรับผู้ป่วยต่างชาติว่ามีการจัดทัพโรงพยาบาลขับเคลื่อนโดยเชื่อมโยงศักยภาพเครือข่ายของโรงพยาบาลตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำเลที่ตั้งและความต้องการการรับบริการในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (บางนา กม.7) ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ เน้นให้บริการผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน (Fly-in) ตั้งเป้าเป็นด่านหน้ารองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด ห่างเพียง 20 กิโลเมตร ขณะเดียวกันเร่งขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง อย่างศูนย์หัวใจและหลอดเลือด และเตรียมตั้งศูนย์ Cath lab (ศูนย์ปฏิบัติการเครื่องฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ) พร้อมให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 65 นี้ และเตรียมเปิด Elite Ward ยกระดับการให้บริการรักษาพยาบาลและอำนวยความสะดวก รองรับกลุ่มพรีเมี่ยมในย่านบางนา และกรุงเทพฝั่งตะวันออกด้วย ขณะเดียวกันได้ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ทั้งที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ที่มีอัตราการเติบโตของผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมารักษาในประเทศในรูปแบบ Drive-in ทะลุ 2,000 รายในช่วงไตรมาส 3 ปี 65 พร้อมประเมินหลังเปิดประเทศจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจากสปป.ลาว และกัมพูชาในภาพรวมฟื้นตัวราว 15%  สะท้อนถึงความโดดเด่นทางการแพทย์ของไทยในฐานะ Medical Hub ในระดับภูมิภาค

ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 65 นี้ บริษัทกำลังเร่งงบลงทุนขยายศูนย์การแพทย์และคลินิกเฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านเด็กและโรคระบบทางเดินอาหารซึ่งมีความต้องการสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่ม PRINC E-SARN ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนครซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะเดียวกันปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือ มีอัตราการครองเตียง (Bed Occupacy Rate) เต็มหลายแห่ง จำเป็นต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ โรงพยาบาล พิษณุเวช พิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ส่วนในพื้นที่ภาคกลางตอนบน โรงพยาบาลพริ้นซ์  ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จ.นครสวรรค์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาโรคเด็ก อยู่ระหว่างการขยายวอร์ด ICU เด็ก และล่าสุดตั้งศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการด้านเคมีบำบัดและการรักษามะเร็ง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี ที่เตรียมขยายบริการทางการแพทย์ด้วยการเปิดศูนย์เพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือ IUI (Intra-Uterine Insemination) รองรับความต้องการบริการการแพทย์โรคเฉพาะทางในพื้นที่

นายธานี ยังกล่าวย้ำว่า การขยายบริการทางการแพทย์ขั้นสูงไปยังโรงพยาบาลในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองรองภายใต้ค่าบริการที่สามารถเข้าถึงได้ ย่อมเกิดประโยชน์และเพิ่มทางเลือกในการรับบริการสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ ส่งผลต่อสัดส่วนของผู้รับบริการในโรคอื่นๆ ในกลุ่ม Non-Covid ขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่ม Covid