กนง. เผยดอกเบี้ยนโยบาย 1% มีผลทันที เคาะอีกรอบ 30 พ.ย.นี้

กนง. เผยดอกเบี้ยนโยบาย 1% มีผลทันที เคาะอีกรอบ 30 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งได้คำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ เสียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพระบบการเงิน ขณะเดียวกันด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย คณะกรรมการจึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ก็มีความเสี่ยง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมจะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นถึง 9.5 ล้านคน และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 21 ล้านคน คิดเป็น 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะเดียวกันการส่งออกชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และคาดว่าจะขยายตัวระดับ 9.1% จากเดิมคาดว่าไว้ที่ 7.1% แต่ไม่ได้เป็นผลกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

นายปิติกล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และปี 2566 จะกลับสู่ระดับพื้นฐานที่ 2.6% โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และปี 2566 จะกลับสู่ระดับ 2.4% ตามลำดับ ซึ่งสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่ปรับราคาสินค้า หรืออาจปรับขึ้นไม่เกิน 5%

นอกจากนี้ เงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับสูงสุดช่วงไตรมาส 3/2565 ระหว่างนี้เป็นช่วงขาลงแล้ว และคาดว่าจะลดลงได้ตามกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในไตรมาส 2-3/2566 แต่สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดช่วงไตรมาส 4/2565 และจะลดลดลงช่วงไตรมาส 1/2566 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

นายปิติกล่าวว่า ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค และการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม อีกทั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น 18% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งค่าเงินบาทอ่อนลงที่ 12.1% เป็นระดับปลานกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เกาหลีอ่อนค่า 16.4% ไตหวัน 12.6% ฟิลิปปินส์ 13.6% เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า ผลกระทบต่อไทยมีอย่างจำกัด ซึ่งความกังวลเรื่องเงินไหลออกประเทศก็มีความเสี่ยง แต่ข้อมูลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิยังเป็นบวก โดยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเงินทุนสุทธิยังอยู่ระดับ 4,474 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดหุ้นยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเสถียรภาพทางการเงินไทยยังแข็งแกร่ง เนื่องจากเงินทุนสำรองของไทยที่มีอยู่เมื่อเทียบกับจีดีพีของโลก ไทยอยู่ลำดับที่ 6 ของโลกซึ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศ

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และค่าเงินบาทอ่อนลงก็ช่วยผู้ส่งออกระดับหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือต้นทุนที่สูงขึ้น โดยการนำเข้าเผชิญกับค่าเงินบาทที่อ่อนลงส่งผลให้ต้องใช้เงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง

นายปิติกล่าวว่า สำหรับการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยปกติธนาคารพาณิชย์จะทยอยส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะค่อยๆ ทยอยส่งผ่าน คาดว่าหลังจาก กนง.ปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 น่าจะเห็นการส่งผ่านไปสู่ธนาคารพาณิชย์ไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกลไกปกติที่มีการส่งผ่านตามกลไกปกติ และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในระบบเศรษฐกิจมากนัก

โดยการส่งผ่านจะมาก หรือน้อยลงกว่าอดีตที่เคยส่งผ่านถึง 40-50% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั้น ซึ่งมองว่าการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์รอบนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากความเปราะบางของกลุ่มลูกหนี้ยังมีเยอะกว่าปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤติ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์คงจะดูแลลูกหนี้ให้มีความามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จึงมีการส่งผ่านที่คาดว่าจะไม่สูงมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กนง.ในวันนี้ เป็นรอบการประชุมครั้งที่ 5 ของปี 2565 โดย กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง คือในการประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา และในวันนี้ ที่ปรับดอกเบี้ยเพิ่มครั้งละ 0.25% ซึ่งการประชุม กนง.ยังเหลืออีก 1 ครั้ง โดยจะเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2565 ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565