I USED TO BE FAMOUS / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

I USED TO BE FAMOUS

‘ดนตรีคือชีวิต’

 

กำกับการแสดง

Eddie Sternberg

นำแสดง

Ed Skrein

Leo Long

Eleanor Matsuura

Eoin Macken

 

สตีวี (ลีโอ ลอง) เป็นเด็กที่มีความผิดปกติทางการสื่อสารกับโลกภายนอกและการควบคุมอารมณ์

พูดด้วยภาษาทางการแพทย์ คือ เขาเป็นโรคออทิสม์ หรือเป็นเด็กออทิสติก

โรคออทิสม์นี้เริ่มเข้ามาอยู่ในความรับรู้ของคนทั่วไป จากหนังเรื่อง Rain Man (1988, ดัสติน ฮอฟแมน และทอม ครูส) ซึ่งชนะใจทั้งคนดูและสถาบันภาพยนตร์ใหญ่ๆ ไปอย่างถล่มทลาย และทำให้สาธารณชนเริ่มตระหนักถึง เข้าใจและทึ่งต่อคนที่มีความผิดปกติแบบนี้

ถึงแม้ว่าจะได้รับการวิจารณ์ว่า หนังเอาคนเป็นโรคสองโรคมาผนวกเข้าไว้ด้วยกันอย่างที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก

นั่นคือ โรคออทิสม์ กับโรคซาวองต์ซินโดรม ซึ่งเกิดขึ้นแก่คนจำนวนน้อยมาก โรคซาวองต์ซินโดรมคือความผิดปกติของการมีสติปัญญาหรือความจำที่น่าทึ่งเกินคนสามัญทั่วไป

ว่ากันว่า Rain Man ปลุกความรับรู้ของสาธารณะในโรคออทิสม์เสียจนทำให้วงการแพทย์ได้รับเงินสนับสนุนในการวิจัยเรื่องโรคนี้มากมายมหาศาล

นับเป็นคุณูปการที่ศิลปะของภาพยนตร์ซึ่งถือกันว่าเป็น “โลกมายา” สามารถมอบให้แก่สังคมในระดับกว้างและยิ่งใหญ่

ถ้าใครยังไม่เคยดู หรือเคยดูนานมาแล้ว ขอแนะนำให้ดูอีกครั้งนะคะ ครั้งที่สอง-สาม-สี่ก็ยังสนุก กินใจและตรึงตราแบบไปไหนไม่รอดเหมือนครั้งแรกที่ได้ดู

วกกลับมาที่ I Used to Be Famous นะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นการพูดถึงหนังคลาสสิคเก่ามากกว่าหนังปัจจุบันตรงหน้า

แอมเบอร์ (เอลินอร์ มัตสุอุระ) แม่เลี้ยงเดี่ยวของสตีวี ต้องทิ้งอาชีพนักเต้นบัลเล่ต์มาเลี้ยงดูประคับประคอง ประคบประหงมลูกชายคนเดียวให้เติบใหญ่ขึ้นจนถึงวัยสิบแปด

เธอพาลูกไปเข้าร่วมโครงการดนตรีบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต โดยมีครูผู้สอนที่คอยให้กำลังใจและกระตุ้นให้ผู้ร่วมโครงการแสดงออกด้วยจังหวะดนตรี

และดนตรีที่พวกเขาสร้างสรรค์เกิดจากไม้เคาะจังหวะเพียงสองอันเท่านั้น

เป็นหนังดีอีกเรื่องซึ่งเป็นเรื่องราวของนักตีกลอง เท่าที่นึกออกตอนนี้ ก่อนหน้านั้นก็มี Whiplash (2014) และ Sound of Metal (2019)

โปรยเรื่องมาเสียยืดยาวด้วยเรื่องของเด็กออทิสติก จนเสมือนว่าสตีวีจะเป็นตัวเดินเรื่อง…หามิได้ค่ะ…จริงๆ แล้ว หนังเดินเรื่องจากตัวเอกคือ วินซ์ (เอ็ด สไกรน์) ซึ่งเป็นตัวตนของสรรพนามบุรุษที่หนึ่งที่ใช้ในชื่อหนัง

I Used to Be Famous

หลายปีมาแล้ว วินซ์เคยเป็นนักดนตรีในวงบอยแบนด์ยอดนิยม เป็นนักร้องนำประจำวงที่โด่งดัง

แต่บัดนี้วินซ์ดิ้นรนอยู่กับความพยายามจะได้เข้าไปเล่นในบาร์ท้องถิ่นในตอนใต้ของลอนดอน ด้วยเพลงใหม่ที่เขาแต่งเอง เพื่อเป็นสะพานก้าวไปสู่การมีแมวมองมาสนใจ ได้ออกอัลบั้มและกลับเข้าสู่วงการดนตรีอีกครั้ง

เขากลายเป็นนักดนตรีไส้แห้ง แทบไม่มีเงินติดกระเป๋า วันๆ ก็ลากคีย์บอร์ดติดตัวไปขอเข้าเล่นดนตรีในบาร์ และใช้เวลาฝึกซ้อมริมถนนที่ผู้คนสัญจรเดินผ่านไปมาโดยแทบไม่มีใครสนใจหรือจำได้ว่าเขาเคยเป็นคนดังระดับดารามาก่อน

จนกระทั่งอยู่ดีๆ ก็มีเด็กหนุ่มขี้อายเข้ามาแจมด้วยการให้จังหวะเหมือนเสียงกลอง แรกทีเดียววินซ์ก็นึกว่าโดนป่วนและออกปากขับไล่ แต่เด็กหนุ่มก็ไม่โต้ตอบอะไร เพียงแต่ตอบสนองด้วยเสียงจังหวะการตีอันคล่องแคล่วชำนิชำนาญทุกครั้งที่วินซ์เริ่มเล่นคีย์บอร์ด

แม่ของเด็กหนุ่มมาตามหาลูกและพาตัวกลับไปอย่างปกป้องทะนุถนอม

ปรากฏว่าการแสดงดนตรีข้างถนนที่สตีวีมานั่งตีกลองร่วมกับวินซ์ มีคนบันทึกไว้และเอาไปอัพโหลดขึ้นบนแพลตฟอร์มสาธารณะ โดยที่ตัวเลขผู้ติดตามคลิปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปรากฏการณ์ในโลกสังคมออนไลน์แบบนี้ ทำให้วินซ์ได้รับโอกาสให้ไปแสดงในบาร์อย่างที่เขาใฝ่ฝัน โดยมีข้อแม้ว่าเขาต้องเล่นร่วมกับมือกลองหนุ่มน้อยคนนั้นด้วย

วินซ์จำต้องติดตามหาตัวสตีวีให้เจอ และต้องฝ่าด่านที่เอลินอร์ แม่ผู้ปกป้องของสตีวี ตั้งกำแพงไว้กีดกั้นลูกไว้จากความเสี่ยงของการที่คนป่วยด้วยโรคออทิสม์จะต้องเปิดตัวออกสื่อสารกับโลกภายนอก

วินซ์เองก็มีปัญหาในชีวิตครอบครัวของเขาเอง จากการสูญเสียน้องชายให้แก่โรคร้ายไปโดยที่เขาติดภารกิจอยู่กับการออกทัวร์ไปกับวงดนตรีจนแม่เขาทำใจยอมรับไม่ได้

เรื่องราวแบบนี้มักจะมีสูตรในการเดินเรื่องอยู่ ซึ่งหนังก็ดูเหมือนจะเดินตามสูตรนั้นโดยไม่อยู่เหนือความคาดเดาของคนดู

แต่อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกดีๆ โดยไม่ได้ให้ทางออกสมบูรณ์แบบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและตลอดปลอดโปร่งลุล่วง แก่ชีวิตทางอารมณ์ของคนเป็นโรคออทิสม์ ซึ่งอาจต้องไปเจอเข้ากับสถานการณ์ที่เสี่ยงกับแฟนเพลงและคนดูที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ

แต่หนังก็จบอย่างลงตัวดี ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างวินซ์กับสตีวี

สตีวีพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถยืนหยัดใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่ต้องคอยแม่แจอยู่เหมือนไข่ในหิน และเปิดโอกาสให้แม่กลับไปใช้ชีวิตเดินตามความฝันของตัวเอง

ขณะที่วินซ์ก็ได้ไถ่โทษจากความรู้สึกผิดในเรื่องที่สูญเสียน้องชายไป โดยได้น้องชายคนใหม่มา

ความเด่นดังตามความหมายของชื่อหนัง จึงไม่ใช่ประเด็นสำหรับชีวิตของวินซ์อีกต่อไป ตราบเท่าที่เขายังมีอะไรที่จะ “ให้” และช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเขาได้…

เป็น feel-good movie ค่ะ •