แมลงวันในไร่ส้ม/”บิ๊กตู่” ประกาศแล้ว เลือกตั้ง พ.ย.2561 ลงหลังเสือหรือ “ไปต่อ”

แมลงวันในไร่ส้ม

“บิ๊กตู่” ประกาศแล้ว เลือกตั้ง พ.ย.2561 ลงหลังเสือหรือ “ไปต่อ”

ข่าวสารการเมืองยุติลงชั่วคราว เนื่องจากเข้าสู่ห้วงเวลาของพระราชพิธี ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สู่สวรรคาลัย 25-29 ตุลาคม 2560

ข่าวการเมืองสำคัญ ก่อนที่หน้านี้ก็คือ การประกาศวันเลือกตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แม้ยืนยันกับสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่เมื่อซักถามเข้าจริงๆ บรรดาแกนนำรัฐบาลและ คสช. ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ไม่ระบุชัดเจน กล่าวแต่เพียงว่า ในปี 2561 จะ “ประกาศวันเลือกตั้ง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนบ่ายวันที่ 10 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม คสช. และคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุม คสช. ได้รับทราบการประกาศใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ซึ่ง คสช. ก็จะพิจารณาห้วงเวลาในการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสม เพื่อเป็นการผ่อนคลายในสิ่งที่จำเป็น ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อไป

“ผมไม่ต้องการที่จะหน่วงเวลาอะไรไว้ทั้งสิ้น ขอยืนยันตรงนี้ ในส่วนของเดือนตุลาคมนี้ เป็นช่วงที่คนไทยทุกคนอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าอาลัย ขอให้ทุกอย่างอยู่บนสถานการณ์แห่งความสงบ และในส่วนตรงนี้พูดได้ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 ก็จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง วันนี้ก็มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง ขอให้อยู่ในความสงบ ซึ่งก็จะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ประกาศวันเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ยืนยันใช่หรือไม่ว่าเป็นไปตามไทม์ไลน์ของโรดแม็ป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ใช่ ก็ผมบอกแล้วไงว่าจะเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน”

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า การประกาศวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการประกาศด้วยตัวเองเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ ที่ระบุว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 นั้น ก็เป็นไปตามขั้นตอนและกำหนดเวลา ซึ่งกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ ซึ่งจะมีขั้นตอนการพิจารณาตามกรอบเวลาอีก 3 เดือน จากนั้นก็เป็นขั้นตอนทางธุรการอีก 3 เดือน ซึ่งจะลงล็อกในเดือนมิถุนายน 2561ซึ่งจะต้องใช้เวลาตามกฎหมายอีก 150 วัน ก็จะตรงกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่จะมีการเลือกตั้ง

การประกาศเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน ส่งผลให้ดัชนีหุ้นบวกรับข่าวนี้อย่างครึกโครม

ปัญหาต่อมาได้แก่ การปลดล็อก เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีข้อกำหนดใหม่หลายเรื่อง อาทิ การคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวต ซึ่งต้องมีตัวแทนสาขาพรรคและสมาชิกพรรคของแต่ละเขตเลือกตั้งมาลงมติ ก่อนส่งกรรมการบริหารเห็นชอบ รวมถึงการเคลียร์บัญชีจำนวนสมาชิก

พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส. หลายสมัย ออกมาตำหนิการกำหนดให้ใช้ไพรมารีโหวตทันที แทนที่จะเป็นสมัยที่สอง เพื่อให้พรรคได้เตรียมความพร้อมและเรียกร้องให้ คสช. พิจารณาปลดล็อก

เช่นเดียวกับ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ระบบไพรมารีโหวตหัวใจหลักคือต้องการให้สาขาพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นำมาบัญญัติใช้เป็นครั้งแรก เป็นระบบใหม่ มีขั้นตอนหลายอย่าง ดังนั้น พรรคการเมืองต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต่อกรอบระยะเวลา

ส่วนที่มีการเสนอให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่สองเพราะเกรงว่าพรรคจะเตรียมตัวไม่ทันนั้น กรณีนี้ต้องมีบทเฉพาะกาลระบุไว้ ตราบใดที่ไม่มีก็ต้องรีบดำเนินการ ดังนั้น หากผ่านพระราชพิธีสำคัญในเดือนนี้เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็น่าจะปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมการ

นางสดศรี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่ายอดจำนวนสมาชิกของพรรค ปชป. ไม่ตรงกับ กกต. นั้น เรื่องนี้ทาง กกต. จะต้องรีบวางระเบียบเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยสมัยตนเป็น กกต. เราได้ตรวจสอบโดยให้ทุกพรรคการเมืองเอารายชื่อมาตรวจสอบว่าตรงกับ กกต. หรือไม่ ถ้าไม่ตรงหรือเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนก็จะตัดออกไป คือ ถ้าเป็นสมาชิกพรรคหนึ่งก่อนที่จะไปสมัครอีกพรรคหนึ่งก็จะตัดชื่อในพรรคที่สองออกไป ซึ่งระบบการตรวจสอบก็ต้องขึ้นอยู่กับ กกต. และพรรคการเมือง ควรตรวจสอบได้แล้ว ยกตัวอย่าง พรรค ปชป. มีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน บางคนถึงแก่กรรม บางคนลาออก แต่ไม่ได้แจ้ง กกต.

ดังนั้น กกต. ต้องเรียกประชุมพรรคการเมืองเพื่อสังคายนาว่าบุคลใดยังเป็นสมาชิกพรรค ต้องตรวจสอบตัวตน เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็นปัญหาได้

การประกาศวันเลือกตั้งถือเป็นข่าวดี แม้ว่าบางส่วนในรัฐบาลและกองเชียร์ คสช. เอง ยังไม่มั่นใจว่า การเลือกตั้งจะเป็นผลดีกับแนวทางการปฏิรูปของ คสช. และเกรงว่าจะเกิดรายการ “เสียของ” ที่หวาดผวากันมาตลอด

ส่วนพรรคการเมือง ยังรอลุ้นการปลดล็อกที่คาดหมายจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ข่าวสารการเมืองระยะนี้ จึงมุ่งไปที่การวิเคราะห์วิจารณ์และหาข้อมูลแนวโน้มของการเมืองหลังปลดล็อกและก่อนเลือกตั้ง ว่าแต่ละพรรคจะมีความพร้อมแค่ไหน

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของสายสนับสนุนทหาร นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกาศมานานแล้วว่าจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ยืนยันที่จะเดินหน้าจัดตั้งพรรคการเมืองที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง จะต้องไม่เป็นพรรคของนายทุน ไม่ใช่พรรคนอมินี ไม่ใช่พรรคของทหาร แต่จะต้องเป็นพรรคของประชาชน

เพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชนในการนำไปสู่การปฏิรูปเรื่องต่างๆ เช่น ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ปฏิรูปการเพิ่มอำนาจประชาชนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยกัน และปฏิรูปนักการเมืองรวมทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ต้องการให้พรรคการเมืองนี้เป็นเครื่องมือของประชาชนในการเลือกนายกฯ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถ

โดยนายกฯ ที่เลือกไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ยกตัวอย่าง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมองว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในตอนนี้ เมื่อเทียบกับบุคคลอื่นๆ และจะหลีกเลี่ยง หรือไม่เอาอดีต ส.ส. มาร่วม เพราะต้องการให้คนใหม่ๆ ที่มีจิตสาธารณะเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคและลง ส.ส. ของพรรค

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะลงจากหลังเสือ หรือจะ “ไปต่อ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองในห้วงเวลาต่อไปนี้