ปุจฉา-วิสัชนา ใส่บาตรให้คนต่างชาติ-ไม่ใช่พุทธ เขาได้รับ’ผลบุญ’ไหม?

ธงทอง จันทรางศุ

บ้านของผมอยู่ที่ซอยรัชดาภิเษก 32 ซึ่งต้องถือว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยใหม่ของชาวพระนคร เพราะเพิ่งเจริญเติบโตและเป็นชุมชนหนาแน่นขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง วัดที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดมีสองวัด วัดแรกคือวัดใหม่เสนานิคม ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดสิริกมลาวาส อีกวัดหนึ่งคือวัดลาดพร้าว ซึ่งชาวลาดพร้าวน่าจะรู้จักวัดทั้งสองแห่งนี้เป็นอย่างดีแล้ว

แต่ถ้าถามว่าวัดไหนอยู่ใกล้บ้านผมมากกว่ากัน ก็ต้องเฉลยว่าวัดใหม่เสนานิคม ตามเส้นทางถนนที่คดเคี้ยวไปมาแล้ว ที่ตั้งของวัดน่าจะอยู่ห่างจากบ้านของผมในราว 2 กิโลเมตร หรืออาจมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย

เพราะฉะนั้น ทุกเช้าพระภิกษุจากวัดใหม่เสนานิคมจึงเดินมารับบิณฑบาตในละแวกบ้านผมอยู่เป็นประจำ

ขยายความอีกนิดหนึ่งว่า ถนนหนทางแถวบ้านผมเป็นซอยเล็กซอยน้อย บ้านของผมจริงๆ เลี้ยวเข้าซอยแยกมาอีกหน่อยหนึ่ง ไม่ใช่เส้นทางหลักที่พระผู้มารับบิณฑบาตท่านเดินผ่าน ญาติโยมที่อยู่ซอยย่อยแบบผมก็ต้องไปคอยดักใส่บาตรท่านระหว่างหนทางเส้นหลัก โชคดีหน่อยที่ไม่ไกลจากบ้านผม

และในเส้นทางที่ท่านเดินผ่านมีบ้านของเพื่อนรุ่นน้องของผมหลังหนึ่ง ทำให้วันใดก็ตามที่ผมคิดจะใส่บาตร ผมจะสามารถนำภัตตาหารบิณฑบาตไปรออยู่ที่บ้านหลังนั้นจนกว่าพระท่านจะเดินผ่านมาก็จะได้ใส่บาตรตามประสงค์

เมื่อตอนเป็นเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่ซอยบ้านกล้วยใต้หรือสุขุมวิท 40 หลวงตาดำ เป็นชื่อของพระที่เดินมาไกลโขจากวัดสะพาน ใกล้กับท่าเรือคลองเตยโน่น เมตตามารับบิณฑบาตที่บ้านของเราเป็นประจำ

ในครั้งกระนั้น แม่ของผมเป็นผู้อำนวยการให้มีภัตตาหารใส่บาตรได้ทุกวันโดยมีพี่เลี้ยงของผมเป็นทีมงาน

ยังจำได้ดีว่าของใส่บาตรโดยปกติแล้วมีเพียงสองสิ่ง อย่างแรกคือข้าวหุงใหม่เพิ่งสุกจากหม้อ มีควันฉุยลอยอ้อยอิ่งสวยงามมาก อีกอย่างหนึ่งคืออาหารคาวหนึ่งอย่าง ผลัดเปลี่ยนไปในแต่ละวัน ทั้งข้าวและกับข้าวใส่อยู่ในชามทรงมะนาวตัดเขียนลวดลายสีน้ำเงินรูปผักชี อย่างที่บ้านของแม่เรียกว่า ถ้วยลายผักชี

ถ้วยแบบนี้สมัยก่อนเห็นใช้กันเกร่อไป เดี๋ยวนี้กลายเป็นของหายากเต็มทนแล้ว เหลือแต่ผักชีโรยหน้าเวลารัฐมนตรีไปตรวจราชการเท่านั้น ฮา!

มาถึงยุคสมัยของผม ยอมรับตามตรงครับว่าไม่มีปัญญาใส่บาตรทุกวัน ถ้าจะหาข้ออ้างมาแก้ตัวก็หาได้สารพัด จะให้พูดมากไปกว่านี้ก็ละอายปาก สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการขวนขวายหาภัตตาหารบิณฑบาตไปรอใส่บาตรในวันเสาร์อาทิตย์ในเส้นทางที่พระเดินผ่าน

สัปดาห์ใดมีวันที่มีความหมายพิเศษ เช่น เป็นวันเกิดของตัวเอง เป็นวันคล้ายวันเกิดของพ่อหรือแม่ วันคล้ายวันตายของพ่อหรือแม่ ของใส่บาตรก็จะจัดหนักจัดเต็มมากกว่าวันเสาร์-อาทิตย์ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพยายามหาของที่พ่อแม่ชอบกินชอบใช้

ใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลขอให้ท่านได้รับบุญกุศลที่เราอุทิศให้ในครั้งนี้

เคยอ่านหนังสือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อราว 50 ปีล่วงมาแล้ว ท่านบอกว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นพระเป็นตู้ไปรษณีย์

อยากจะอุทิศสิ่งใดให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็เอาสิ่งนั้นไปถวายพระ แล้วกรวดน้ำส่งผลบุญไปให้

ถ้าคุณชายยังมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ ท่านคงได้ขานชื่อบริษัทส่งของทั้งหลายให้แพรวพราวไปเลยทีเดียว

ท่านเล่าว่าวันหนึ่ง ท่านได้ด้วงโสนมาจำนวนหนึ่ง ด้วงโสนนี้เป็นของหายาก เมื่อได้มาแล้วก็มาผัดตีกระเทียมเข้า เป็นกับข้าวยอดนิยมอย่างหนึ่งในบ้านของท่าน และเป็นอาหารโปรดของท่านพ่อและหม่อมแม่ของท่านด้วย

ด้วยความอยากจะส่งไปรษณีย์ไปให้ผู้ล่วงลับ ท่านจึงนำด้วงโสนผัดกระเทียมจานนี้ไปถวายเพลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร พอสมเด็จทอดพระเนตรเห็นอาหารจานนี้เข้าก็รับสั่งทันทีว่า “วันนี้ไปรษณีย์ปิด” เพราะไม่ทรงสันทัดที่จะเสวยอาหารจานนี้

คุณชายคึกฤทธิ์ทูลเว้าวอนขอให้ท่านเสวยสักหน่อย สักองค์สององค์ก็ยังดี สมเด็จก็คงยังปฏิเสธเหมือนเดิมและรับสั่งให้คุณชายคึกฤทธิ์กินด้วงโสนผัดกระเทียมจานนั้นเองต่อหน้าพระพักตร์ ทรงอธิบายว่า ถ้าท่านพ่อและหม่อมแม่ของคุณชายได้รู้ว่าลูกชายได้กินของโปรด ของหายาก ความปีติยินดีว่าจะมีขึ้นในใจของท่านทั้งสองอย่างแน่นอน

คุณชายบอกว่ารับสั่งคราวนั้นจับใจเหลือเกิน ระหว่างรับประทานด้วงโสนจานนั้นถึงกับน้ำตาคลอเลยทีเดียว

ผมคิดว่าคนไทยทั้งหลายรวมถึงตัวผมเองด้วยก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปในทำนองนี้ คือเห็นว่าพระเป็นตู้ไปรษณีย์ และได้ใช้บริการนี้กันอยู่เนืองๆ

สองวันก่อนหลังเกิดกรณีสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแล้ว ผมกับรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันคนหนึ่ง ชวนคุยกันฟุ้งซ่านเรื่องการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายที่ล่วงลับไปแล้วว่า ถ้าเป็นคนต่างศาสนา เราซึ่งเป็นชาวพุทธตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้ ผลบุญนั้นจะไปถึงปลายทางหรือไม่หนอ

เรื่องมันชวนสงสัยไหมล่ะครับว่า ศาสนาแต่ละศาสนาจะมีพรมแดนในการทำบุญเป็นขีดขั้นเป็นกติกาของเขาหรือไม่ หรือว่าจะต้องไปแลกเปลี่ยนเป็นอัตราหน่วยทำบุญสากล บุญกุศลจึงจะสามารถส่งต่อถึงกันและไปใช้ประโยชน์ได้

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอัตราหน่วยทำบุญสากลนี้คืออะไรและอยู่ที่ไหน

ความสงสัยข้อนี้ทำให้เราย้อนกลับไปอ่านหนังสือที่เคยผ่านตามาแล้วหลายครั้ง เอากลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่งก็ยังได้สติปัญญาเหมือนเดิมครับ

เรื่องมีอยู่ว่า คราวหนึ่งในรัชกาลที่หก ขณะประทับอยู่ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ในวันจันทร์ที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2466 ทรงมีพระราชปุจฉาว่า หากทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงผู้มีอุปการคุณแด่พระองค์แต่หนหลัง ซึ่งล่วงลับไปสู่ปรโลกแล้ว มีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลพระราชทานไปให้ แต่ว่าผู้นั้นเป็นคนต่างชาติและไม่ได้อยู่ในพระพุทธศาสนา พระราชประสงค์อย่างนี้ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จเป็นผลบุญแก่ผู้นั้น

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ได้เชิญพระราชปุจฉาไปถวายพระเถรานุเถระเพื่อช่วยกันถวายวิสัชนา

คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยสิครับ ได้มีการประชุมสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพร้อมด้วยพระเถรานุเถระอีก 18 รูป ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ หารือกันอยู่ในราวหนึ่งชั่วโมง แล้วมีหนังสือถวายพระพรมีใจความสำคัญว่า

“พระราชกุศลที่ทรงพระราชอุทิศ จักเป็นผลสำเร็จแก่ผู้นั้น ท่านว่าเพราะบริบูรณ์ด้วยเหตุ 3 ประการ คือผู้วายชนม์ทราบพระบรมราชูทิศแล้วถวายอนุโมทนา 1 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วทรงพระราชอุทิศแด่ผู้วายชนม์นั้น 1 ปฏิคาหกผู้รับปัจจัยลาภที่ทรงบริจาคเป็นทักขิเณยบุคคล 1…”

สำนวนเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว แปลความเป็นภาษาไทยปัจจุบันว่า ข้อแรก ผู้ตายรู้ว่ามีคนทำบุญให้แล้วมีใจอนุโมทนา ข้อสอง ผู้ทำบุญให้ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย และข้อสาม การทำบุญนั้นทำแก่สมณพราหมณ์ กล่าวโดยเจาะจงคือทำกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ ครบสามข้อนี้แล้วการอุทิศบุญกุศลให้แก่กันก็เกิดเป็นประโยชน์ทั้งนั้น

ไม่มีกติกาหรือคำสอนข้อใดในพระพุทธศาสนาระบุบ่ง คนทำบุญกับคนรับผลบุญต้องนับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน ต้องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอ่านวิสัชนาข้างต้นแล้ว โปรดให้ราชเลขาธิการเชิญพระราชกระแสไปยังเสนาบดีกระทรวงวังว่า

“…มีพระราชหฤทัยยินดีที่ได้ทรงรับคำชี้แจงอย่างแจ่มแจ้ง อันเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระปัญญาขึ้น ทั้งยิ่งทำให้ทรงรู้สึกมากขึ้นอีกด้วยว่า พระพุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาอันเรียกได้ว่า กว้างขวางด้วยประการทั้งปวง…”

 

นําความรู้ครั้งเก่ามาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้แล้วก็สบายใจ

ตอนเรียนหนังสืออยู่ที่นิวยอร์ก มีครูสอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายของผมคนหนึ่งชอบอัธยาศัยกันเป็นพิเศษ ท่านเป็นชาวอเมริกัน ได้ข่าวว่าท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

พอรู้หลักและคำอธิบายอย่างที่ว่ามา วันเสาร์นี้ ผมซื้ออาหารฝรั่งไปทำบุญใส่บาตรดีกว่าครับ ถึงต่างชาติต่างศาสนาบุญกุศลก็ส่งถึงกันได้แน่ โปรเฟสเซอร์น่าจะพอใจ

คิดได้อย่างนี้แล้ว เกาะแมนฮัตตันก็อยู่แค่ปากซอยรัชดาภิเษก 32 นี้เอง สะดวกดีจริงๆ