ผู้นำโลกจี้ แก้วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ชี้พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน หวั่นพืชผลหายนะ

ผู้นำโลกจี้ แก้วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ชี้พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน หวั่นพืชผลหายนะ

 

วันที่ 21 กันยายน 2565 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน บรรดาผู้นำทั่วโลกที่มาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต่างเรียกร้องให้มีความพยายามอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลก โดยกลัวว่าจะเกิดหายนะรุนแรงกับการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรในปีหน้า อันเนื่องมาจากผลของสงครามในยูเครนเป็นส่วนใหญ่

ในการประชุมนอกรอบของการประชุมยูเอ็นจีเอเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีจากชาติในสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา สหภาพแอฟริกา และสเปน ได้หารือกันถึงภาวะขาดแคลนอาหารที่ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในความขัดแย้งและความไม่มั่นคง

เอเอฟพี

โดยนายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวว่า “ไม่มีสันติภาพในความหิวโหยและเราไม่สามารถต่อสู้กับความหิวโหยได้โดยปราศจากสันติภาพ” เขายังกล่าวประณามการทำสงครามรุกรานยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย โดยชี้ว่าปูตินกำลังพยายามที่จะขู่กรรโชกประชาคมโลกด้วยอาหาร

ขณะที่นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี กล่าวว่า ยังคงมีความเร่งด่วนอย่างยิ่งในการต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหาร หลังจากในการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือ จี7 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เยอรมนีได้สัญญาว่าจะทุ่มงบในการต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหาร เป็นมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว โดยนายโชลซ์กล่าวว่า สงครามรุกรานของรัสเซียได้ก่อให้เกิดและเร่งให้เกิดวิกฤตระดับโลกในหลายมิติ ประเทศต่างๆ ในโลกใต้ที่มีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้วนั้น ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวในที่ประชุมยูเอ็นจีเอว่า ฝรั่งเศสจะจัดหาเงินทุนสนับสนุนในการขนส่งข้าวสาลีของยูเครนไปยังประเทศโซมาเลีย ซึ่งกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อความอดอยาก ทั้งนี้ ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในที่ประชุมความมั่นคงอาหารโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน (เอเอฟพี)

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศต่างสหรัฐ กล่าวว่า แม้จะมีข้อมูลบิดเบือนบางส่วนที่ยังคงมาจากรัสเซีย แต่ธัญพืชและผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ นั้น ยังกำลังไปยังประเทศที่มีความต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในโลกใต้ ซึ่งมันยังช่วยบรรเทาให้ราคาอาหารทั่วโลกลดลงด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป นั่นเป็นเรื่องเร่งด่วน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยด้วยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะประกาศความช่วยเหลือใหม่ของสหรัฐ ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์บนเวทียูเอ็นจีเอในวันที่ 21 กันยายนตามเวลาท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้ ยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาว โดยรายงานล่าสุดของกลุ่มสังเกตการณ์ความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของสหรัฐ พบว่าราว 15% ของสต๊อกธัญพืชในยูเครนได้สูญหายไปตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าภาวะหยุดชะงักของการขนส่งปุ๋ยยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวพืชผลทั่วโลกในภายหน้าด้วย

โดยนายอัลวาโร ลาริโอ ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในระบบอุปทานและสงครามยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อฤดูเก็บเกี่ยวต่อไป หนึ่งปีมีฤดูเก็บเกี่ยว 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งเรากำลังจะเห็นความเสียหายรุนแรงในปีหน้า พร้อมเตือนว่าผลกระทบจะเลวร้ายหนักยิ่งกว่าโรคโควิด-19 นอกจากนี้ นายลาริโอยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการในระยะยาวซึ่งต้องใช้เงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานอาหารและการปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น