น่านน้ำสีเลือด สมรภูมิดุเดือด ของตลาด ‘ซีรีส์ Y ไทย’/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

feedforfuture.co

 

น่านน้ำสีเลือด

สมรภูมิดุเดือด

ของตลาด ‘ซีรีส์ Y ไทย’

 

“คิดว่าตอนนี้การแข่งขันเข้มข้นมากๆ อยู่แล้ว ต้องใช้คำว่าจาก ‘บลูโอเชียน’ ตอนนี้ซีรีส์ Y การตลาดซีรีส์ Y กลายเป็น ‘เรดโอเชียน’ ไปอย่างเรียบร้อยแล้ว เป็นแบบน่านน้ำสีแดงเดือดเลย…

“ตอนนี้ซีรีส์ Y ของจีเอ็มเอ็มทีวีขายไปแล้วกว่า 20 เรื่อง ส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก โดยคู่ค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่น ซื้อซีรีส์ Y ของเราเกือบทั้งหมดเลย”

“สถาพร พานิชรักษาพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีเอ็มเอ็มทีวี” หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ “คู่จิ้นฟีเวอร์” ในวงการบันเทิงไทย ฉายภาพการแข่งขันที่ดุเดือดสำหรับ “อุตสาหกรรมการผลิตซีรีส์ Y” ทั้งในบริบทของประเทศไทยและตลาดโลก ให้เว็บไซต์ FEED ได้รับฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 จีเอ็มเอ็มทีวีส่งซีรีส์ Y เรื่องแรกของบริษัทออกสู่ตลาด นั่นคือ “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ซึ่งสร้างจากนวนิยายชื่อดังของนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า “BitterSweet” โดยนำเสนอเรื่องราวความรักและมิตรภาพของรุ่นพี่รุ่นน้อง

เวลานั้น จีเอ็มเอ็มทีวีกำลังมุ่งผลิตซีรีส์วัยรุ่นที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ แตกต่าง และหลากหลาย หนึ่งในผลลัพธ์ของแนวคิดดังกล่าว ก็คือ “SOTUS The Series”

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ Y เรื่องนี้กลับประสบความสำเร็จเกินคาดและสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย นำมาสู่การต่อยอดความสำเร็จในการผลิตคอนเทนต์ Y แบบครบวงจรของจีเอ็มเอ็มทีวีจนถึงปัจจุบัน

“SOTUS The Series ประสบความสำเร็จมากๆ จากนั้นก็เกิดความต้องการของตลาด เช่น มีแฟนคลับจากจีน หรือประเทศต่างๆ ในเอเชีย เรียกร้องให้ไปจัดแฟนมีตติ้งที่นั่น จึงเป็นที่มาของการเดินสายไปทั่วเอเชีย” สถาพรให้ข้อมูล

 

 

นับจากนั้น จีเอ็มเอ็มทีวีจึงได้ปรับพอร์ตการผลิตซีรีส์ โดยค่อยๆ เพิ่มซีรีส์ Y เข้าไปปีละ 1-2 เรื่อง จนตอนนี้ผลิตเกิน 20 กว่าเรื่องแล้ว เผยแพร่ทั้งช่องทางออนแอร์ผ่านสถานีโทรทัศน์ และแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ที่นำซีรีส์ไปออกอากาศทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก

คู่ค้าหลักของจีเอ็มเอ็มทีวีคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งติดต่อซื้อซีรีส์ Y ของบริษัทไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผลิตทั้งหมด

มิหนำซ้ำ “ซีรีส์ Y สัญชาติไทย” ยังเดินทางไปไกลเกินความนึกคิดของหลายคน ดังที่สถาพรเล่าว่า

“ซีรีส์ Y สามารถสร้างไอดอลได้ และยังสร้างปรากฏการณ์อีกมากมาย เช่น แฟนคลับจากประเทศที่เราไม่คาดคิด เช่น บราซิล เม็กซิโก ถึงขนาดสถานทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก ได้ติดต่อเรามาเพื่อนำ ‘ไบร์ท วชิรวิชญ์’ และ ‘วิน เมธวิน’ ไปไลฟ์พบปะผู้ชมชาวเม็กซิโก”

สถาพรมองว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ “ซีรีส์ Y ไทย” กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของแฟนนานาชาติ ก็คงมาจากเนื้อเรื่องที่ผู้ชมดูแล้วมีความสุข เกิดความสบายใจ ประกอบกับเคมีของนักแสดงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามไปได้ ส่วนแฟนๆ แถบเอเชียน่าจะชอบซีรีส์ Y บ้านเรา เพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ จีเอ็มเอ็มทีวีต้องผ่านการลงทุนลงแรงอย่างหนักหน่วง เนื่องจากช่วงแรกตลาดยังไม่เปิดกว้างมากเท่าปัจจุบัน ส่วนสปอนเซอร์-เจ้าของสินค้าหลายๆ รายก็ยังไม่เปิดใจ

เช่น ขณะที่ผลิต “SOTUS The Series” นั้นแทบไม่มีสปอนเซอร์ที่เข้ามาซื้อโฆษณาด้วยความต้องการอย่างแท้จริง ผิดกับยุคนี้ ที่ซีรีส์ Y หลายเรื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำความสำเร็จของคอนเทนต์บันเทิงกลุ่มดังกล่าว จนแทบไม่ต้องอธิบายอะไรให้ผู้สนับสนุนฟังอีกแล้ว

 

ไม่ใช่แค่ความโด่งดังข้ามชาติ แต่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของซีรีส์ Y ยังขยายฐานกว้างมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานตอนต้น มาสู่การได้เห็นภาพคนอายุเกิน 60 ปี เข้ามาเป็นแฟนคลับของนักแสดง Y บางคู่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ฮิตข้ามวัย

เมื่อความต้องการบริโภคซีรีส์ Y มีมากขึ้น บรรดาผู้ผลิตหลากหลายรายจึงลงมาเล่น-แข่งขันในสนามนี้อย่างทวีจำนวนขึ้นเช่นกัน จนเกิดการแย่งชิงบทประพันธ์อย่างดุเดือด

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจีเอ็มเอ็มทีวีบรรยายว่า ขณะนี้คาดว่ามีผู้ผลิตซีรีส์ Y ออกมาจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อปี ถ้านับเม็ดเงินในประเทศในแง่ของสปอนเซอร์ ก็ยังไม่ได้มากไปกว่าเม็ดเงินสนับสนุนซีรีส์หรือละครทั่วไป

ทว่า มูลค่าที่ประเมินไม่ได้จริงๆ ของ “อุตสาหกรรม Y” นั้นมาจากช่องทางอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กลุ่มแฟนคลับต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อมาเจอนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบตามงานอีเวนต์ หรือมาท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องต่างๆ

แม้แต่ออฟฟิศจีเอ็มเอ็มทีวีบนชั้น 30 ของตึกแกรมมี่ ก็กลายเป็นแลนด์มาร์กหรือสถานที่เช็กอินของบรรดาแฟนคลับซีรีส์ Y ชาวต่างชาติไปแล้ว

“คิดว่าตอนนี้การแข่งขันเข้มข้นมากๆ อยู่แล้ว ต้องใช้คำว่าจาก ‘บลูโอเชียน’ (พื้นที่ทางธุรกิจที่มีคู่แข่งขันไม่มาก) ตอนนี้ซีรีส์ Y การตลาดซีรีส์ Y กลายเป็น ‘เรดโอเชียน’ (พื้นที่ทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงสุด) ไปอย่างเรียบร้อยแล้ว

“เป็นแบบน่านน้ำสีแดงเดือดเลย คือตอนนี้มันกลายเป็นว่าทุกบริษัท ทุกผู้ผลิต ทุกสถานี คิดว่าต้องมีซีรีส์ Y ปริมาณมันก็เลยมหาศาลมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ขณะนี้”

 

ในปี 2566 จีเอ็มเอ็มทีวีมีแผนการผลิตซีรีส์ Y จำนวน 7-8 เรื่อง ด้วยความเชื่อว่าตลาดของสื่อบันเทิงประเภทนี้จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะตราบใดที่ยังมีคนดู การผลิตก็ยังคงดำเนินต่อไป

แม้จะมีคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมามากมายมหาศาล แต่สถาพรเชื่อว่า ไม่ใช่ซีรีส์ Y ทุกเรื่องที่จะโด่งดัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อหาเป็นตัวนำ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมีทิศทาง เช่น การต่อยอดของจีเอ็มเอ็มทีวีผ่านการจัดอีเวนต์และแฟนมีตติ้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ยกตัวอย่างกิจกรรมล่าสุด กับการนำทัพนักแสดงซีรีส์ของบริษัทบินลัดฟ้าไปเสิร์ฟความสนุกให้แก่แฟนๆ ชาวญี่ปุ่น ภายในงาน “GMMTV FAN FEST 2022 LIVE IN JAPAN” ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันกับสื่อและบริษัทออร์แกไนซ์ของญี่ปุ่น

“บรรยากาศการยอมรับและการเปิดกว้างของสังคมตอนนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ซีรีส์ Y เติบโตได้อย่างลื่นไหล” ผู้ผลิตซีรีส์ Y เจ้าใหญ่ สรุปความเห็นด้วยการมองโลกในแง่ดี ก่อนจะย้อนกลับสู่โลกความเป็นจริง เมื่อ FEED ตั้งคำถามว่าเอกชนในอุตสาหกรรมบันเทิงกลุ่มนี้ ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างไรบ้าง?

“ก็คงเป็นเรื่องความช่วยเหลือ-อำนวยความสะดวกในการส่งออกผลงานไปต่างประเทศ แต่ขณะนี้ เราก็ได้ลงมือทำเองไปทั้งหมดอยู่แล้ว”