จิตต์สุภา ฉิน : มีชีวิตชั่วนิรันดร์ในรูปแบบดิจิตอล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คอนเซ็ปต์ของการเป็นอมตะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย และดำรงอยู่ได้ตลอดไปไม่ว่าจะในรูปแบบของร่างกายที่จับต้องได้หรือเป็นวิญญาณที่ไม่สูญสลาย ได้อยู่กับมนุษย์มาตราบนานเท่านาน เห็นได้จากความพยายามในอดีตที่จะเสาะแสวงหาวัตถุหรืออาหารอันพิสดารพันลึกมาบำรุงบำเรอร่างกายตัวเองเพื่อถนอมให้อยู่ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เรื่อยมาจนถึงการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะยืดอายุขัยของมนุษย์ออกไปให้ได้นานที่สุด บางทีคำตอบที่คนโบราณพยายามเฟ้นหามาโดยตลอดว่าทำอย่างไรให้มนุษย์เราสามารถอยู่ต่อไปได้ตราบนานเท่านานโดยไม่มีวันสูญสลายนั้นอาจจะอยู่ในยุคนี้ก็ได้นะคะ

ซู่ชิงไม่ได้จะมาชวนพูดถึงเรื่องลี้ลับชนิดที่ตายแล้วไปไหน หรือตายแล้วกลับมาเกิดใหม่ได้หรือไม่อะไรทำนองนั้น แต่หนึ่งในเทคโนโลยีที่อาจจะช่วยให้เรายังมี “ตัวตน” อยู่ได้แม้ร่างกายจะเสื่อมสิ้นไปแล้วก็ไม่ได้ไกลตัวเราเลย และเป็นเทคโนโลยีที่ทุกวันนี้เราก็ใช้มันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย สิ่งนั้นก็คือ “ปัญญาประดิษฐ์” นั่นเองค่ะ

นักวิจัยจาก MIT Media Lab และ Ryerson University ในโตรอนโตของแคนาดาเชื่อว่าหากเรานำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เราผลิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์บนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม การส่งอีเมล การเสิร์ชหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การแชตกับคนอื่น ฯลฯ ซึ่งหากมีปริมาณข้อมูลที่เพียงพอ เราก็อาจจะสามารถถ่ายโอนความคิดของเราไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ได้ และแม้ร่างกายของเราจะสูญสิ้นไปแล้ว แต่ข้อมูลและรูปแบบความคิดที่ทำให้เราเป็นเราก็ยังคงอยู่ แถมยังสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มได้แม้ตัวเราจะย่อยสลายไปแล้วก็ตาม

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกงงเล็กน้อย ซู่ชิงอยากให้คุณผู้อ่านลองวาดภาพจินตนาการว่าหากคนใกล้ตัวเราเสียชีวิตลง แม้เขาจะไม่มีตัวตนทางกายภาพให้เราจับต้องได้อีกแล้ว แต่ตัวตนทางดิจิตอลของเขาจะยังถูกรักษาเอาไว้ และยังสามารถเติบโตมีวิวัฒนาการได้เรื่อยๆ ราวกับไม่ได้หายไปไหน ยังสามารถพูดคุยตอบโต้กับครอบครัวและคนรักได้โดยประมวลผลจากฐานข้อมูลทั้งหมดที่ป้อนไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต หรือสำหรับบุคคลสำคัญระดับโลกที่มนุษยชาติล้วนได้ประโยชน์จากความคิดและไอเดียอันปราชญ์เปรื่องทั้งหลายนั้นก็ไม่จำเป็นต้องปิดตำนานลงพร้อมกับการเสียชีวิตอีกเลย

แม้จะฟังดูไกลตัวเหมือนพล็อตภาพยนตร์ไซไฟ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นักวิจัยก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลมาใช้ในการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลเพื่อให้คำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานแล้ว อย่างเช่นการที่อเมซอนหรือเน็ตฟลิกซ์สามารถแนะนำเราได้ว่าเราน่าจะอยากได้สินค้าชิ้นไหน หรือน่าจะอยากดูภาพยนตร์เรื่องไหนนั่นแหละค่ะ เทคโนโลยีเดียวกันนี่แหละที่จะถูกหยิบมาใช้ในการสร้างตัวตนทางดิจิตอลของเราหลังจากที่เราตายไปแล้ว

เว็บไซต์เทเลกราฟของอังกฤษเขาไปพูดคุยกับนักวิจัยชื่อ ด็อกเตอร์ฮอสเซน ราห์นามา ซึ่งกำลังมุ่งมั่นวิจัยเรื่องนี้ เขาบอกว่าในอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราจะสามารถพูดคุย ถามคำถามบรรดานักการเมืองหรือนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่เสียชีวิตไปแล้วได้ แถมยังตบมุกมาด้วยว่าคงจะน่าสนใจไม่ใช่น้อยที่เราจะลองคุยกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แล้วถามว่าคิดอย่างไรกับโดนัลด์ ทรัมป์ บ้าง

ในแง่ของเทคโนโลยี นักวิจัยจำนวนมากดูมั่นใจว่าการคงอยู่ชั่วนิรันดรในรูปแบบดิจิตอลสามารถเริ่มทำได้แล้ว อันเนื่องมาจากการเก็บข้อมูลที่ใช้ต้นทุนต่ำ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จากทุกหนทุกแห่ง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ราคาไม่แพง และเครื่องมือต่างๆ ที่เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นปัญหาจึงไม่น่าจะอยู่ที่ว่าเทคโนโลยีจะสามารถทำได้หรือเปล่า แต่ซู่ชิงแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ข้อใหญ่ นั่นก็คือ 1. ไม่รู้ว่าจะเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาลได้เพียงพอแค่ไหน และ 2. การจัดการข้อมูลในแง่กฏหมาย ศีลธรรม และความเป็นส่วนตัวค่ะ

เรามาดูข้อแรกกันก่อน การที่เราจะสามารถมีตัวตนทางดิจิตอลที่อยู่ยงคงกระพันและเก่งกาจพอที่จะตอบโต้คนอื่นในแบบที่เป็นเราแถมยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมได้นั้น จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรามากพอตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นการที่เราจะปลุกคนดังในประวัติศาสตร์โลกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอยู่ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ แม้จะทำได้แต่ก็ทำได้ยากค่ะ เนื่องมาจากเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้นมากพอ เราไม่รู้ว่าในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันเขาพูด เขาคิด เขาทำอะไรกันบ้าง ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประมวลผล แต่คุณผู้อ่านพอจะเดาออกไหมคะว่าคนกลุ่มไหนน่าจะเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นกลุ่มนำร่องเตรียมสร้างตัวตนทางดิจิตอลหลังความตายมากที่สุด

คำตอบที่ราห์มานาให้ไว้ก็คือ คนในยุคมิลเลเนียลนี่แหละค่ะที่จะเหมาะสมที่สุด เพราะคนในเจเนเรชันนี้ชื่นชอบการแชร์ข้อมูล ความนึกคิด ความรู้สึก ของตัวเองในรูปแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เฟซบุ๊กระบายความคิด โพสต์อาหารที่กินบนอินสตาแกรม ส่งภาพและแชตกับเพื่อนผ่านสแนพแชต ทุกอณูของชีวิตชาวมิลเลเนียลล้วนทิ้งรอยเท้าในรูปแบบดิจิตอลเอาไว้ทั้งหมด

ในอีก 50-60 ปีข้างหน้า คนยุคมิลเลเนียลจะก้าวเข้าสู่ช่วงอายุของชีวิตที่พวกเขาจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเอาไว้ได้เป็นระดับเซ็ตตะไบท์ หรือมากกว่าหนึ่งล้านล้านกิกะไบท์ (หากคำนวณไม่ผิดนะคะ) ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นน่าจะมากพอที่จะทำให้เราเป็นอมตะทางดิจิตอลได้ เห็นไหมคะว่าการเป็นวัยรุ่นที่ขยันแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์จนผู้ใหญ่ต้องออกมาด่ากันปากเปียกปากแฉะเหลือเกินนั้นมันก็มีข้อดีของมันอยู่เหมือนกันนะ

มาถึงข้อที่สองค่ะ เมื่อเทคโนโลยีสามารถทำได้จริงแล้วสิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องมีความเป็นเจ้าของข้อมูลทั้งหมดของตัวเองได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าเราจะผลิตข้อมูลเหล่านั้นอยู่บนแพลตฟอร์มของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกูเกิลหรือเฟซบุ๊กก็ตาม เราจะต้องมีสิทธิในการยกมรดกตกทอดที่เป็นตัวตนหลังความตายให้กับทายาทของเราได้ และที่ละเลยไม่ได้คือการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอันละเอียดอ่อนเหล่านั้นไว้ให้ดีที่สุดด้วย

แน่นอนว่าแม้เทคโนโลยีจะเก่งกาจพอที่จะทำเช่นนั้นได้แต่ก็ยังหนีไม่พ้นอุปสรรคหลากหลายตามรายทางที่ยังเป็นความท้าทายให้กับนักวิทยาศาสตร์ต่อไป อย่างเช่นการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถประมวลได้ละเอียดอ่อนเท่ากับสมองของมนุษย์ คอมพิวเตอร์ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถอ่านระหว่างบรรทัด ตรวจจับน้ำเสียงประชดประชัน หรือเข้าใจในอารมณ์ที่ไม่สื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ นี่ยังไม่นับด้วยว่าคนเรานั้นเติบโตและเปลี่ยนเป็นคนใหม่ทุกวัน เราอาจจะย้อนกลับไปมองตัวเองเมื่อสัก 5 ปีที่แล้วแล้วรู้สึกว่าแทบจะจำตัวเองไม่ได้ หรือเรื่องบางเรื่องที่เราเคยเชื่อฝังหัวแต่จู่ๆ เราอาจจะเปลี่ยนใจและเปลี่ยนความคิดไปชนิดหักเลี้ยวเก้าสิบองศาเลยก็ได้ ความสวยงามของการเป็นมนุษย์คือการเติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้

การต้องตัดสินใจว่าเราอยากมีตัวตนหลังความตายในรูปแบบดิจิตอลหรือไม่อาจจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องตัดสินใจเร็วๆ นี้ แม้มันจะไม่เป็นตัวเราสมบูรณ์แบบ แต่ประโยชน์ที่จะได้รับแน่ๆ ก็คือการทำให้คนที่เราทิ้งไว้ข้างหลังไม่เศร้าและเหงาจนเกินไป เพราะยังสามารถแวะเวียนมาคุยกับเราเรื่อยๆ ให้หายคิดถึง

เมื่อเรารู้ว่าเราสามารถถ่ายโอนความเป็นตัวเราบางส่วนไปอยู่อย่างอมตะในคอมพิวเตอร์ได้ บางทีมันก็อาจจะทำให้ความตายไม่น่ากลัวขนาดนั้นอีกต่อไปก็ได้นะคะ