“ภาคี SAVE บางกลอย” บุกทำเนียบ ร้อง “อนุชา” จี้แก้ปัญหา 29 กะเหรี่ยงแก่งกระจาน

“ภาคี SAVE บางกลอย” บุกทำเนียบ ร้อง “อนุชา” จี้แก้ปัญหา 29 ชาวบ้าน หลังผ่านมาเป็นปีไม่คืบหน้า ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย-ไม่มีที่ดินทำกินที่เหมาะสม

 

วันที่ 20 ก.ย.65 เมื่อเวลา 11.50 น.ที่ทำเนียบรัฐบาลประตู 5 “ภาคี SAVE บางกลอย” นำโดย นายพชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคีSaveบางกลอย ยื่นหนังสือแก่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระ โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระคนที่ 1 และ นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดย นายพชร อ่านคำแถลงมีใจความว่า ตามที่สมาชิกชาวบางกลอย 29 ราย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว และแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก แผ้วถ้าง ยึดถือ ครอบครองอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในขณะที่ชาวบางกลอยกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน เพื่อปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินเดิมก่อนถูกอพยพในปี 2554 เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564

ก่อนนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่าหากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่จะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้กับทุกครอบครัว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาชาวบ้านมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านกลับถูกควบคุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี โดยถูกส่งไปฝากขังยังศาลจังหวัดเพชรบุรี และถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ

ในเวลาต่อมาศาลได้ปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน อันเป็นถิ่นฐานเดิม และปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่ชาวบ้านตามที่ได้รับปากไว้แต่อย่างใด

ภาคี Saveบางกลอย ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ อย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะมีความเห็นว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้อง แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามกรอบเวลาของคณะกรรมการ และหากอัยการจังหวัดเพชรบุรีดำเนินการทางคดีความต่อเนื่องจนศาลรับฟ้องก็จะเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีในศาล ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และที่สำคัญชาวบ้านอาจต้องสูญเสียอิสรภาพใน

ท้ายที่สุด เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตพวกชาวบ้านและครอบครัว ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยก็ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากอย่างแสนสาหัสอยู่แล้ว จึงขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาหาแนวทางให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อชาวบ้านบางกลอยทั้ง 29 ราย ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น

เนื่องจากเราเห็นว่าการสั่งฟ้องดำเนินคดีชาวบางกลอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อน ปัจจุบันชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างยากไร้ เพราะขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ดินทำกินที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ

นายพชร กล่าวถึงความคืบหน้าว่า 1.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือไปยังอธิบดีอัยการภาค 7 เจ้าของสำนวน เพื่อแจ้งมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อความช่วยเหลือทางคดี โดยทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565

2. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (กองทุนยุติธรรม) และ 3.คณะกรรมการอิสระฯ ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินการตามกรอบช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของชาวบางกลอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ด้าน นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ตามกรอบการดำเนินงาน 3 ข้อนี้ พนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจได้ โดยความเคารพดุลยพินิจของพนักงานอัยการ

ขณะที่ นายมงคลชัย กล่าวว่า รัฐบาลและคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการเรื่องนี้ อาจมีข้อจำกัดทางกฎหมายบ้าง แต่สามารถจบลงได้ที่การเจรจา พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา