กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

 

การผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยใหม่ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร

หนึ่งในคำถามที่อยู่ในใจผู้คนมากมาย นั่นคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชนมพรรษา 73 พรรษา จะทรงเป็นกษัตริย์ในแบบอย่างใด ในห้วงเวลาที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ท่ามกลางสิ่งท้าทายมากมายที่สถาบันกษัตริย์อันเก่าแก่ ที่เป็นหนึ่งเสาหลักของการดำรงความเป็นชาติของสหราชอาณาจักรแห่งนี้กำลังเผชิญ

หนึ่งความท้าทายนั้นนั่นคือ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกันอยู่อย่างมาก

การทรงได้เห็น เรียนรู้และลงมือปฏิบัติพระกรณียกิจต่างๆ ด้วยพระองค์เองมาตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาในฐานะเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารผู้สืบทอดราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงมีพระราชมารดาของพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างจากการทรงอุทิศพระวรกายในการรับใช้ประเทศชาติและประชาชนของพระองค์มาโดยตลอดพระชนม์ชีพ

ทำให้ถูกมองว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีต้นทุนความพร้อมมากที่สุดเท่าที่กษัตริย์พระองค์ใหม่พึงมี

 

ที่ผ่านมานอกเหนือจากการทรงตกอยู่ใต้สายตาการจับจ้องของสาธารณชนจากรักสามเส้าอันอื้อฉาวระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงไดอานา แห่งเวลส์ พระชายา และคามิลลา ปาร์กเกอร์โบลส์ หญิงคนรักในห้วงเวลานั้นที่นำไปสู่การหย่าร้างและโศกนาฏกรรมเลวร้าย เป็นความด่างพร้อยรอยใหญ่ของพระองค์ที่สั่นคลอนภาพลักษณ์และก่อวิกฤตความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันไปไม่น้อยแล้ว

ทว่า ในอีกด้าน กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีบทบาทหลากหลายในการรับใช้ประชาชนผ่านองค์กรการกุศลที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นหลายสิบแห่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และทรงสนับสนุนภารกิจทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปะ สาธารณสุขและการศึกษา

โดยพระองค์ทรงมักออกมาร่วมรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์และต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ซึ่งบางครั้งทำให้เราได้เห็นพระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยที่ดูแข็งกร้าวในที ขัดกับหลักความเป็นกลางที่สถาบันควรต้องยึดมั่น

 

ศาสตราจารย์เวอร์นอน บ็อกดานอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญให้ความเห็นถึงรัชสมัยปกครองของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ว่า ประเทศที่พระองค์จะปกครองนั้นมีความหลากหลายมากกว่าในรัชสมัยที่พระราชมารดาของพระองค์ได้รับสืบทอดมา ซึ่งเขาหวังว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่นี้จะพยายามเป็นพลังแห่งเอกภาพและทำให้เห็นชัดเจนในการเชื่อมต่อเข้าถึงชนกลุ่มน้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ขณะที่เซอร์ลอยด์ ดอร์ฟแมน ซึ่งทำงานร่วมกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 มานานหลายปีในองค์กรพรินซ์ ทรัสต์ มองว่า แม้พระองค์จะทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เขาไม่คิดว่าพระองค์จะทรงยุติการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่ทรงเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำเกษตรอินทรีย์ โดยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถ ซึ่งยากที่จะจินตนาการว่าพระองค์จะทรงวางมือในเรื่องนี้เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์

คริส โป๊ป เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยร่วมทำงานกับพระองค์ในสถาบันการศึกษา กล่าวถึงกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่มีพลังขับเคลื่อนอย่างไม่ลดละ พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นใส่พระทัยในความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง

เราจะเห็นสิ่งนั้นจากงานมากมายที่พระองค์ทรงทำ รวมถึงการปกป้องมรดกความเป็นชาติ

 

ความนิยมศรัทธาเป็นอีกความท้าทายที่มีต่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในการทรงนำสถาบันกษัตริย์ จากโพลของยูกอฟโพลที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในสหราชอาณาจักรเมื่อปลายปี 2021 ชี้ว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในขณะนั้นยังทรงมีความนิยมอยู่ในลำดับที่ 7 ในหมู่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษชั้นสูง โดยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่นิยมศรัทธามากที่สุด ตามมาด้วยเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์โตในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

แต่โพลของยูกอฟที่ทำสำรวจเมื่อไม่กี่วันนี้ชี้ว่าความนิยมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 มีเพิ่มมากขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดย 63 เปอร์เซ็นต์คิดว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีได้เมื่อเทียบกับ 39% ในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่คิดว่าพระองค์จะทรงทำได้ไม่ดี

และอีกความท้าทายสำคัญที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะเผชิญคือความท้าทายจากกลุ่มชาตินิยมและต่อต้านสถาบันที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองโดยกษัตริย์สู่ระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 และนับวันจะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยตอนนี้หลายประเทศในเครือจักรภพได้ส่งสัญญาณถึงแผนการจะจัดทำประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธารณรัฐ เช่น แอนติกาและบาร์บูดา ที่แกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของแอนติกาและบาร์บูดา ออกมาประกาศว่าการทำประชามติเรื่องนี้จะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีนับจากนี้ ส่วนที่ออสเตรเลียก็มีกระแสกลับมาพูดถึงการทำประชามติในเรื่องนี้อย่างเซ็งแซ่เช่นกันหลังการสวรรคตของควีนอังกฤษ

ขณะที่จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ หนึ่งในเครือจักรภพ แม้จะกล่าวว่าจะยังไม่ดำเนินการใดๆ ในการทำให้นิวซีแลนด์เปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐในเร็ววันนี้ แต่เธอก็เชื่อว่านิวซีแลนด์จะกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐในวันหนึ่งวันใดในช่วงชีวิตของเธอ

เหล่านี้คือความท้าทายที่รออยู่สำหรับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3