จิตต์สุภา ฉิน : ความรุนแรงที่รับได้บน “เฟซบุ๊ก”

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
ไดมอนด์ เรย์โนลดส์ พูดในงานรำลึกถึงคู่หมั้นที่เสียชีวิต

นับตั้งแต่เฟซบุ๊กได้เปิดตัวฟีเจอร์ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ให้ผู้ใช้งานได้ถ่ายทอดสดผ่านสมาร์ตโฟนของตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา ฟีเจอร์นี้ก็ถูกนำไปใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดตัวเองไปเที่ยวชายทะเล ดาราคนดังถ่ายทอดสดถามตอบกับแฟนๆ สถานีโทรทัศน์นำไปใช้ถ่ายทอดสดรายการเอ็กซ์คลูซีฟด้วยเครื่องมือระดับมืออาชีพ และอื่นๆ อีกมากมายให้เราได้ติดตามกันไม่ว่างเว้นบนหน้าฟีด

แน่นอนว่าเมื่อเป็นการถ่ายทอดสดที่เฟซบุ๊กไม่มีโอกาสได้อนุมัติและตรวจสอบก่อน การถ่ายทอดสดในรูปแบบที่ชวนขนหัวลุก เศร้า หดหู่ และกระทบกระเทือนอารมณ์ ของคนในสังคมเป็นวงกว้างจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กไลฟ์การยิงตัวตายซึ่งเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงการถ่ายทอดสดตัวเองถูกคนอื่นยิงเสียชีวิต แต่ข่าวที่เป็นข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาและลุกลามจนกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลที่นำไปสู่การเสียชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมลรัฐมินนิสโซตาของสหรัฐอเมริกานั่นเองค่ะ

ไดมอนด์ เรย์โนลดส์ หญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์หลังจากที่ ฟิลานโด คาสทิล คู่หมั้นของเธอที่เป็นชายผิวดำเช่นกันถูกตำรวจหญิงเสียชีวิตบนรถ เธอเริ่มต้นด้วยการคุยกับกล้องเพื่อเล่าให้ฟังว่าเมื่อกี้นี้ตำรวจเพิ่งจะจ่อยิงเผาขนคาสทิลไป 4 นัดในตอนที่เขาเอื้อมไปหยิบใบขับขี่เพื่อจะส่งให้ตำรวจดู เธอแพนกล้องไปให้เห็นคาสทิลที่นอนจมกองเลือดอยู่บนเบาะรถและตำรวจคนเดิมก็ยังจ่อปืนค้างอยู่ที่เขา โดยที่มีลูกวัย 4 ขวบของเรย์โนลดส์นั่งอยู่ที่เบาะหลังด้วย เขาเสียชีวิตราว 20 นาทีให้หลัง และคลิปวิดีโอถ่ายทอดสดเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นไวรอล วิดีโอ ที่คนดูกันทั่วโลก จนถึงตอนนี้ก็มียอดวิวมากกว่า 5.6 ล้านครั้งแล้ว

เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับคนแอฟริกัน-อเมริกัน ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแตกต่างกับคนผิวขาว จึงทำให้เกิดการจลาจลและมีพลซุ่มยิงปลิดชีวิตตำรวจไปหลายนาย ซึ่งเหตุการณ์ยิงตำรวจในครั้งนี้ก็ถูกถ่ายทอดสดโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผ่านทางเครื่องมือเฟซบุ๊ก ไลฟ์ อีกเช่นเดียวกัน และสำนักข่าวระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็นก็ต้องนำภาพเฟซบุ๊กไลฟ์นั้นมาใช้ออกอากาศบนโทรทัศน์ด้วย

ซู่ชิงจะขอไม่พูดถึงประเด็นการเหยียดสีผิวและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทั้งคนผิวดำและตำรวจในที่นี้นะคะ แต่อยากชวนคุยว่าเฟซบุ๊กเปิดตัวฟีเจอร์นี้โดยเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้ผู้ใช้งานอย่างเราอยู่บนเฟซบุ๊กนานยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีการถ่ายทอดสดภาพอันรุนแรงแบบนี้ให้กับผู้ชมทุกเพศทุกวัยได้ดู เฟซบุ๊กจะรับมืออย่างไร เพราะตามปกติแล้วเฟซบุ๊กมีนโยบายที่จะไม่ให้เผยแพร่วิดีโอที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิดีโอที่มีความรุนแรง แต่ในกรณีนี้การถ่ายทอดสดแบบนี้นับว่ามีความละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเรียกร้องที่จะดูเพื่อให้รู้ความจริง

คลิปดูย้อนหลังการถ่ายทอดสดของไดมอนด์ เรย์โนลด์ หายไปจากเฟซบุ๊กไม่นานนักหลังจากที่เธอถ่ายทอดสดเสร็จ เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าสาเหตุที่วิดีโอหายไปนั้นเป็นเพราะความผิดพลาดทางเทคนิค ไม่ได้ถูกเฟซบุ๊ก “อุ้ม” แต่อย่างใด แน่นอนว่าสื่อมวลชนและคนทั่วไปไม่มีใครเชื่อ และคิดว่าเป็นนโยบายเซ็นเซอร์ของเฟซบุ๊กต่างหาก มิเช่นนั้นก็อาจจะเป็นเพราะตำรวจขอให้ลบทิ้งออกไปก็ได้ เมื่อทนกระแสเรียกร้องของมวลชนไม่ไหวในที่สุดคลิปวิดีโอนั้นก็กลับมาอยู่บนเฟซบุ๊กอีกครั้ง

จากเหตุการณ์การถ่ายทอดสดความรุนแรงบนเฟซบุ๊กครั้งก่อนๆ ทำให้ซู่ชิงเคยสงสัยใคร่รู้และพยายามค้นคว้าหาข้อมูลมาแล้วว่ามีวิธีไหนบ้างที่เฟซบุ๊กจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้ เพราะการเปิดฟีเจอร์ถ่ายทอดสดนั้นก็เสมือนเฟซบุ๊กได้ยื่นเครื่องมือชิ้นสำคัญและยกสิทธิขาดให้กับผู้ใช้งานในการถ่ายทอดอะไรก็ได้ และจะเกิดอะไรขึ้นหากคนจำนวนมากบนเฟซบุ๊กพร้อมใจกันถ่ายทอดสดคอนเทนต์ไม่เหมาะสม เฟซบุ๊กจะสอดส่อง ตรวจตรา และเข้าไปห้ามปรามทันได้ยังไง

คำตอบที่ได้ก็คือ วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็น่าจะเป็นการต้องขอความร่วมมือจากชุมชนเฟซบุ๊ก ให้ช่วยกันรีพอร์ทคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง

เราลองมาดูไกด์ไลน์ของเฟซบุ๊กกันค่ะว่าคอนเทนต์ประเภทใดบ้างที่เฟซบุ๊กจะไม่อนุญาตให้มีอยู่บนแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ที่จะถูกสอยลงทันทีคือคอนเทนต์ที่ประกอบไปด้วยภาพลามก อนาจาร ภาพความรุนแรง และเฮท สปีช หรือคำพูดเกลียดชัง ไม่ว่าจะในรูปแบบของภาพถ่าย วิดีโอที่บันทึกเอาไว้ หรือการถ่ายทอดสดก็ตาม และหากพบคอนเทนต์รุนแรงที่มีการเฉลิมฉลอง ยกย่อง ความรุนแรงนั้นๆ ไปจนถึงการล้อเลียนซ้ำเติมเหยื่อ เฟซบุ๊กจะเอาออกจากเว็บไซต์ในทุกกรณี ยกเว้นคอนเทนต์ที่มีความรุนแรงแต่โพสต์ขึ้นไปเพื่อเรียกร้องให้คนให้ความสนใจหรือประณามความรุนแรงนั้นๆ ซึ่งวิดีโอถ่ายทอดสดของไดมอนด์ เรย์โนลดส์ก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน

อธิบายให้เข้าใจง่ายกว่านั้นอีกก็คือ หากใครสักคนโพสต์วิดีโอที่มีความรุนแรง แล้วเขียนข้อความกำกับประมาณว่า “เยี่ยมไปเลย สมน้ำหน้ามัน” วิดีโอนั้นก็จะถูกลบออก แต่หากเขียนข้อความว่าทำนองติเตียน ต่อว่า ความรุนแรงนั้น เช่น “แย่มาก ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” วิดีโอนั้นก็จะยังอยู่ต่อไปได้นั่นเองค่ะ

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสามารถเป็นหูเป็นตาในการช่วยรีพอร์ทคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็รวมถึงสิ่งที่กำลังถูกถ่ายทอดสดอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย คอนเทนต์ไหนก็ตามที่ถูกรีพอร์ท แม้แต่จะเป็นการรีพอร์ทจากคนๆ เดียว ก็จะถูกส่งไปให้ทีมงานของเฟซบุ๊กตรวจสอบ ทีมงานนี้ทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมงทั่วโลก และสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการโพสต์แชร์แบบสาธารณะหรือแชร์ในหมู่เพื่อนก็ตาม เฟซบุ๊กยืนยันว่าทุกคอนเทนต์ที่ถูกรีพอร์ทไม่ว่ามากหรือน้อยจะได้รับการตรวจทานทั้งสิ้น และการถูกรีพอร์ทจากคนจำนวนมากไม่ได้ทำให้คอนเทนต์นั้นถูกลบโดยอัติโนมัติ

สำหรับคอนเทนต์ที่มีความรุนแรง ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเลือกรีพอร์ทได้ว่าเป็นความรุนแรงที่ควรต้องลบทิ้ง หรือเป็นความรุนแรงที่ควรปล่อยให้ดูต่อไปได้ เฟซบุ๊กจึงขอให้ผู้ใช้งานรีพอร์ทคอนเทนต์นั้นๆ ว่ารุนแรงก็พอ แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้ทีมงานของเฟซบุ๊กเป็นคนตัดสินใจเองว่าคอนเทนต์นั้นๆ เข้าข่ายผิดกฎของเฟซบุ๊กหรือไม่

เมื่อตรวจทานแล้วก็มีผลลัพธ์ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. เฟซบุ๊กมองว่าไม่ได้รุนแรงและปล่อยไว้เหมือนเดิม 2. คอนเทนต์เข้าข่ายผิดกฎเฟซบุ๊กและถูกกำจัดทิ้ง และ 3. คอนเทนต์ถูกจัดให้เข้าข่ายรุนแรงแต่ไม่ได้ผิดกฎ จึงไม่จำเป็นต้องลบ แต่จะมีการเขียนคำเตือนเอาไว้แทน ซึ่งคำเตือนก็จะระบุว่าเนื้อหาในวิดีโอมีความรุนแรงที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ชม และให้ผู้ชมคลิกยินยอมว่ายังต้องการที่จะดูหรือไม่ นอกจากนี้คลิปวิดีโอก็จะไม่เล่นเองโดยอัติโนมัติเหมือนคลิปอื่นๆ บนหน้าไทม์ไลน์ และผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็จะไม่สามารถดูได้

วิดีโอถ่ายทอดสดก็สามารถถูกตรวจสอบได้เช่นกันหากมีการรีพอร์ทเกิดขึ้น ถ้าเฟซบุ๊กตรวจสอบดูแล้วและพบว่าเป็นการถ่ายทอดสดที่เข้าข่ายผิดกฎระเบียบก็จะสามารถเข้ามาแทรกแซงและสั่งระงับได้ทันที โดยทีมงานของเฟซบุ๊กจะคอยสอดส่องการถ่ายทอดสดใดก็ตามที่มียอดคนดูเยอะๆ หากพบกรณีที่มีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายด้วย

สำหรับซู่ชิงแล้วการถ่ายทอดสดบนโซเชียลมีเดียนับเป็นเครื่องมือการรายงานข่าวรูปแบบใหม่ที่น่ายินดีเพราะมันช่วยทำให้เราได้ติดตามเรื่องราวอัพเดตตามเวลาจริง เปิดโปงข้อเท็จจริงแบบสดๆ และเข้าถึงผู้ชมมหาศาลได้รวดเร็วชนิดที่เครื่องมือเดิมไม่สามารถทำได้ดีเท่า และนี่ถือเป็นการเปลี่ยนอนาคตของสื่อสารมวลชนไปโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และการให้ความช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่เราจะต้องไม่ขยาดกลัวกับการใช้งานเครื่องมืออันทรงพลังนี้ และในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ช่วยกันปรับให้เข้ารูปเข้าร่างไปด้วยกันเพื่อที่เราทั้งหมดจะได้ใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด