พฤษภารำลึก (จบ) 30 ปีที่ล้มลุกคลุกคลาน!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (จบ)

30 ปีที่ล้มลุกคลุกคลาน!

 

“การเลือกตั้งคือการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นที่สุด นักการเมืองจากทั้งสองฝ่าย (พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน) มักจะมองหันกลับข้ามไหล่ไปดูที่รัฐ แต่พวกเขาก็ต้องมองไปข้างหน้าถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ที่จะมีส่วนอย่างมากในการตัดสินอนาคตของพวกเขาด้วย”

คำอธิบายถึงการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของบราซิล

Alfred Stepan (1988)

 

หากเราจะทดลองมองการเมืองไทยในวาระครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธิปไตย” จวบจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นถึงพัฒนาการสำคัญของการเมืองไทยในรอบ 3 ทศวรรษดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาเช่นนี้

ภาพสะท้อนที่สำคัญคือ การเดินทางของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ไปไม่สุดทางอย่างที่นักประชาธิปไตยไทยฝัน และตกอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานไม่จบ

ฉะนั้น ในบทสุดท้ายของบทความชุดนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนท่านผู้อ่านลองมองย้อนอดีตไล่เรียงมาจนปัจจุบัน

ซึ่งเราอาจจะเห็นถึงปัจจัยและผลกระทบที่สำคัญในรอบ 30 ปี ดังนี้

 

ความเปลี่ยนแปลงในเวทีสากล

1) การสิ้นสุดของสงครามเย็น : การยุติความขัดแย้งระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐและสหภาพโซเวียต ส่งผลโดยตรงให้เกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “ยุคหลังสงครามเย็น” ภูมิทัศน์ของโลกใหม่เช่นนี้ ไม่เพียงแต่ความตึงเครียดระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกจะสิ้นสุดลงเท่านั้น หากยังนำไปสู่การสิ้นสุดของโอกาสที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ด้วย

2) การเดินทางมาของกระแสโลกาภิวัตน์และคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม : สังคมไทยจากปี 2535 จะเห็นได้อย่างชัดเจนของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า กระแสนี้พัดผ่านไปทั่วโลก และยังเป็นกระแสที่พัดผ่านทะลุเข้ามาในรัฐพร้อมกับคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม ที่เสมือนหนึ่งเรากำลังเห็น “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ในเวทีโลกอีกครั้ง คลื่นประชาธิปไตยลูกนี้ส่งผลให้เกิดการสิ้นสุดของระบอบอำนาจนิยม และการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมทั่วโลกด้วย

3) กระแสปฏิรูปกองทัพและการปรับบทบาทของทหารในเวทีโลก : การสิ้นสุดของสงครามเย็นมีนัยโดยถึงการสิ้นสุดของแบบแผน “สงครามใหญ่” ซึ่งถูกใช้เป็นปัจจัยหลักในการวางแผนทางทหารของรัฐทั่วโลก ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้หลายรัฐบาลต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ใหม่ รวมถึงการจัดบทบาทและภารกิจของทหารใหม่ เช่น การเน้นภารกิจในเรื่องของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (PKO) ในกรอบของสหประชาชาติ หรือการมีบทบาทอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของสงคราม (OOTW)

4) การมาของปัญหาความมั่นคงใหม่ : การสิ้นสุดของสงครามเย็นยังทำให้เกิดการพิจารณาปัญหาความมั่นคงใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของความมั่นคงทางทหารเท่านั้น (Non-Traditional Security) และมีลักษณะที่ครอบคลุมประเด็นความมั่นคงในทางสังคมมากขึ้น เช่น ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งก็คือการเปลี่ยนมุมมองรัฐที่ไม่ยึดติดกับความมั่นคงทางทหารในแบบเก่าเท่านั้น

5) สงครามใหม่ในเวทีโลก : คำถามหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นคือ สงครามในอนาคตจะมีลักษณะเป็นเช่นไร สิ่งที่เห็นได้ชัดนอกเหนือจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 แล้ว สงครามและความขัดแย้งในเวทีโลกหลังจากนั้น มีลักษณะเป็น “สงครามอสมมาตร” (Asymmetric Warfare) ที่ปรากฏใน 2 แบบ คือสงครามก่อความไม่สงบและสงครามก่อการร้าย ซึ่ง 10 ปีหลังสงครามอ่าวฯ เราได้เห็นการก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดที่นิวยอร์กในปี 2544 และทำให้วาระ “การต่อต้านการก่อการร้าย” กลายเป็นหัวข้อความมั่นคงที่สำคัญของรัฐทั่วโลก แต่ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (WOT) ก็ไม่ได้ผลักโลกกลับสู่กระแสอำนาจนิยม

6) การแข่งขันครั้งใหม่หลังสงครามเย็น : แม้สงครามเย็นจะยุติ พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเหลือสหรัฐเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” ในเวทีโลก แต่ทุกคนรู้ดีว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งย่อมจะเกิด “รัฐมหาอำนาจใหม่” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าทายสหรัฐ ซึ่งมีฐานะเป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” โลกหลังคริสต์ศตวรรษที่ 21 จึงหวนคืนสู่ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” อีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้ เป็นคู่ระหว่าง “สหรัฐ vs จีน” และการแข่งขันนี้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นไปตามระยะเวลา และรัฐมหาอำนาจใหม่แสดงท่าทีเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการแสวงหาพันธมิตร ในขณะที่รัฐตะวันตกไม่ตอบรับเช่นนั้น

7) การสิ้นสุดของสงครามเย็นในภูมิภาค : นอกจากสงครามเย็นจะจบในเวทีโลก สงครามเย็นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคลดระดับลง และไม่เป็นเงื่อนไขให้กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในการเมืองภายใน

 

ความเปลี่ยนแปลงภายในของไทย

1) กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับ ประชาชน 2540 : หลังวิกฤตการเมือง 2535 แล้ว กระแสการปฏิรูปการเมืองผลักให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ฉบับประชาชน” อันเป็นความหวังอย่างมากว่า การเมืองไทยเดินหน้าสู่การปฏิรูป และระบอบประชาธิปไตยจะเกิดความเข้มแข็ง

2) วิกฤตค่าเงินบาท 2540 : วิกฤตเศรษฐกิจไทย 2540 เป็นสัญญาณบวกอย่างมาก เพราะแม้วิกฤตจะมีความรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นโอกาสของการรัฐประหาร การเมืองในระบอบเลือกตั้งดำรงอยู่ภายใต้วิกฤตใหญ่ทางเศรษฐกิจ

3) การเมืองใหม่หลัง 2540 : รัฐธรรมนูญใหม่จึงเป็นความหวังของการสร้าง “การเมืองใหม่” ที่จะทำให้เกิดระบบการเมืองที่ดี ซึ่งมีความหมายถึงความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และลดการคอร์รัปชั่น หรืออาจเรียกว่าเป็น “การเมืองสะอาด” ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ และเป็นการเปลี่ยนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ในสังคม ทั้งจะช่วยลดเงื่อนไขของการรัฐประหารลงด้วย

แต่ในความเป็นจริง การเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2540 กลับเป็น “การเมืองของความขัดแย้ง” เพราะพรรคไทยรักไทยที่ได้รับชัยชนะใหญ่นั้น เริ่มถูกมองด้วยความกังวลจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการมีอำนาจที่เข้มแข็ง และการขยายฐานเสียงในชนบท ที่มีผลกระทบอย่างมากกับชนชั้นนำ และบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวา

4) การเปลี่ยนจุดยืนของชนชั้นกลาง : ความเข้มแข็งของพรรคไทยรักไทยยังถูกมองด้วยทัศนะว่า เป็นส่วนสำคัญในเรื่องของการคอร์รัปชั่น ซึ่งก็สอดรับกับการชายชุดความคิดแบบ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) ของฝ่ายขวาที่มองว่า พรรคการเมืองในระบอบเลือกตั้งคือ ต้นทางของปัญหาการเมืองของประเทศ ชนชั้นกลางที่เคยเป็น “แชมเปี้ยนประชาธิปไตย” ในปี 2535 เริ่มปรับท่าทีที่สมาทานความคิดแบบต่อต้านการเมือง และเปลี่ยนตัวเองเป็น “ชนชั้นกลางปีกขวา” ที่สุดท้ายแล้วได้ กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหารอย่างมีนัยสำคัญ

5) การรวมพลังของฝ่ายขวาจัด : การเมืองแห่งความขัดแย้งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ยังนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มปีกขวาในการเมืองไทย โดยเฉพาะการผนึกกำลังของฝ่ายขวาในชุดอุดมการณ์หลัก 4 ส่วน คือ “อนุรักษนิยม-จารีตนิยม-ทุนนิยม (ทุนใหญ่)-เสนานิยม” ซึ่งทำให้ฝ่ายขวาในปัจจุบันดูจะมีความเข้มแข็งอย่างมาก จนส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

6) บทบาทของตุลาการธิปไตย : หนึ่งในประเด็นสำคัญหลังรัฐธรรมนูญ 2540 คือ บทบาทของสถาบันตุลาการทางการเมือง ซึ่งบทบาทของสถาบันนี้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการชี้ขาดอนาคตทางการเมือง หรืออีกนัยหนึ่งคือ อนาคตการเมืองขึ้นอยู่กับคำตัดสินของฝ่ายตุลาการ จนต้องเรียกว่าเป็น “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) ไม่ใช่ “ตุลาการภิวัตน์” ในแบบที่พูดถึง

7) การขยายบทบาทของเสนานิยม : สังคมเคยมีความหวังว่า หลังปฏิรูปการเมือง 2540 จะเป็นจุดของการหยุดกระแสเสนานิยม แต่ผลของความขัดแย้งกลายเป็นจุดเปิดให้อิทธิพลของกองทัพหวนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งที่เดิมมีความหวังว่าเหตุการณ์ปี 2535 จะเป็นจุดจบของรัฐประหารในการเมืองไทย แต่การขยับตัวของอิทธิพลทหารในที่สุดแล้วนำไปสู่การกำเนิดของระบอบ “เสนาธิปไตย”

8) การสิ้นสุดของสงครามภายใน : ในช่วงหลังจากเหตุการณ์นองเลือด 2535 มีปัจจัยบวกด้านความมั่นคงที่สำคัญคือ การยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย ที่ทำให้การสร้างประชาธิปไตยไม่ถูกกระทบมากจากเงื่อนไขของสถานการณ์ความมั่นคง ดังเช่นที่เกิดในปี 2518 อันเป็นผลจากการล้มลงของ “โดมิโนอินโดจีน” แต่ก็ทำให้ฝ่ายขวาจัด ไม่มีแรงกดดันที่ต้องปรับตัวเช่นในยุคหลังปี 2519

9) กำเนิดระบอบพันทาง : พัฒนาการอย่างสำคัญอีกประการที่เป็นผลจากการปรับตัวของฝ่ายขวาในการเมืองไทยคือ การสร้าง “ระบอบพันทาง” (Hybrid Regime) ที่ต้องการหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ด้วยการสร้าง “ระบอบอำนาจนิยมใหม่” ที่อาจมีลักษณะไม่เป็นเผด็จการเต็มรูป และอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรม แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม”

 

ผลในปัจจุบันและปัญหาในอนาคต

1)การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสะดุดและถอยหลังกลับ ประชาธิปไตยไทยจึงอยู่ในสภาวะเหมือน “ติดหล่ม” และทำให้การเปลี่ยนผ่านของไทยในอนาคตมีความซับซ้อนมากขึ้น

2) การเมืองระบอบรัฐสภาอ่อนแอและถูกทำลาย ดังจะเห็นได้ว่าระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองถูกทำลายจากการสร้างระบอบไฮบริด ที่ต้องการการสืบทอดอำนาจของผู้นำทหาร

3) การปฏิรูปกองทัพยังเดินหน้าไม่ได้ แม้จะมีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปี 2535 แต่ก็มิได้เกิดผลจริงทั้งในทางการเมืองและการทหาร และกองทัพยังมีบทบาททางการเมือง

4) มรดกของระบอบอำนาจนิยม ซึ่งพัฒนามาจากการเมืองแห่งความขัดแย้งยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 และการขยายอิทธิพลของความคิดอำนาจนิยมและต่อต้านประชาธิปไตย ทำให้เกิดผลสืบเนื่องทางการเมืองและกฎหมายในด้านต่างๆ อย่างมาก ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านในตัวเองยุ่งยากขึ้น

5) การแกว่งของนโยบายต่างประเทศไทย เป็นผลจากการกำเนิดของรัฐบาลทหาร ที่จำเป็นต้องแสวงหาการยอมรับจากรัฐมหาอำนาจในเวทีโลก ด้วยการเข้าไปใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย

6) การเสียสถานะและไม่มี “จุดขาย” ของไทยในเวทีสากล ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพ และไม่เป็นปัจจัยบวกต่อการชักชวนสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ ดังจะเห็นถึงการลงทุนใหม่ๆ ที่ไปยังเพื่อนบ้าน และไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

7) ความอ่อนแอของภาคสังคม เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น จนกลายเป็น “การเมืองแบ่งขั้ว” ทำให้สังคมอ่อนแอในตัวเอง อันเป็นอุปสรรคอย่างมากในการสร้างประชาธิปไตย

8) รัฐราชการไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งมีความพยายามแต่เดิมที่จะสร้างระบอบพันทางที่อิงอยู่กับรัฐราชการให้เข้มแข็ง แต่รัฐราชการไทยไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตชุดใหม่ ดังนั้น ผลพวงจากโรคระบาด และสงครามยูเครน จึงบั่นทอนเครดิตทั้งของระบอบพันทางและรัฐราชการไทยอย่างหนัก!