นงนุช สิงหเดชะ /’ทรัมป์’ เปิดทำเนียบขาวรับ ‘ประยุทธ์’ อาการ ‘ปากว่าตาขยิบ’ ตลอดกาลของอเมริกา

นงนุช สิงหเดชะ

‘ทรัมป์’ เปิดทำเนียบขาวรับ ‘ประยุทธ์’
อาการ ‘ปากว่าตาขยิบ’ ตลอดกาลของอเมริกา

กรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ได้ก่อให้เกิดเสียงโวยวายจากองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจาก นางซาราห์ ซูวัล อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยุค บารัค โอบามา
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐถูกตำหนิว่าไปโอภาปราศรัยกับผู้นำเผด็จการ ขัดกับหลักการและคุณค่าสำคัญที่คนอเมริกันยึดถือ
โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐคนที่แล้ว ก็ถูกวิจารณ์ในทำนองเดียวกัน เมื่อโอบามาเป็นเจ้าภาพเชิญผู้นำอาเซียน 10 ชาติ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมประชุมเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียน
แต่ในครั้งนั้นโอบามาจัดการรับรองต้อนรับที่ซันนี่แลนด์ รีสอร์ต ในแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่ที่ทำเนียบขาว
แต่กระนั้นก็ไม่วายถูกสื่ออเมริกันตำหนิว่าเปิดบ้านต้อนรับผู้นำเผด็จการอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ฮุน เซน จากกัมพูชา พล.อ.เต็ง เส่ง แห่งพม่า รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์
ส่วนในคราวนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกบัตรเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เดี่ยวๆ แถมยังต้อนรับที่ทำเนียบขาวอีกด้วย
เรียกว่าต้อนรับเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ
ก็เลยทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนเกิดอารมณ์หงุดหงิดมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะนั่นเท่ากับยอมรับผู้นำเผด็จการอย่างโจ่งแจ้ง

แม้จะมีคนไทยบางคนที่ขัดเคืองใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้บัตรเชิญจากทรัมป์ พยายามเอาจุดเล็กๆ น้อยๆ มาจับผิด (เพื่อปลอบใจตัวเองว่าทรัมป์ไม่ได้ยินดีต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์) เช่นว่า ตอนยืนถ่ายรูปร่วมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์และภริยา ไม่ได้ยืนบนพรมแดง มีแต่ทรัมป์กับภริยา ได้ยืนบนพรมแดง แล้วอ้างว่าแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่ได้ยอมรับเต็มที่
แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่บ่งบอกว่าทรัมป์ไม่ยอมรับผู้นำจากไทย เป็นเพียงแค่ความไม่มีมารยาท ขาดความละเอียดอ่อนซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติของทรัมป์
เพราะทรัมป์นั้นไม่ให้เกียรติแม้แต่กับภริยาตัวเอง เช่น วันทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง เขาก็ถูกตำหนิว่าตอนลงจากรถก็เดินนำหน้าอาดๆ ทิ้งภริยาไว้ข้างหลัง ผิดวิสัยของประธานาธิบดีทุกคนที่จะต้องให้เกียรติภริยา คือจะต้องรอภริยาและเดินเคียงข้างกันไป
การที่ทรัมป์เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ ก็ชัดเจนเพียงพอแล้วว่านั่นคือการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใดมาอ้าง ก็ไม่อาจลบล้างประเด็นหลักได้

ว่าไปแล้วในสาระสำคัญระหว่างทรัมป์กับโอบามา ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลยในประเด็นต้อนรับผู้นำเผด็จการ เพียงแต่โอบามานั้นพยายามเลี่ยงการถูกหาว่าคบหากับผู้นำเผด็จการโดยตรงด้วยการใช้สถานที่อื่นต้อนรับ เป็นแค่วิธีของศรีธนญชัย เพราะหากโอบามาและอเมริกามีศรัทธาแรงกล้าและมุ่งมั่นจะรักษาหลักการประชาธิปไตยจริง ก็ต้องไม่คบหาสมาคมกับผู้นำเผด็จการอย่างเด็ดขาดโดยไม่เอาเรื่องอื่นมาอ้างบังหน้า
แต่ที่ผ่านมาชาติตะวันตก มักปากว่าตาขยิบเสมอ คือมักอ้างว่าต้องแยกเรื่องเศรษฐกิจ-การค้า ออกจากการเมืองและอุดมการณ์ ด้วยเหตุนี้ทุกวันนี้ชาติตะวันตกทั้งหลายจึงยังคบและค้าขายกับจีน ทั้งที่กล่าวหาจีนอยู่ทุกวันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ให้เสรีภาพการแสดงความเห็น
ชาติตะวันตกทราบเป็นอย่างดีว่า ตราบใดที่ยังเปิดประตูการค้ากับชาติเผด็จการ ก็ไม่มีทางจะโค่นเผด็จการได้ แต่เหตุที่ยังค้าขายกับเผด็จการก็เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวเอง รักษาคะแนนเสียงของตัวเอง เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจดี ตัวเองก็จะได้เป็นผู้นำต่อไป และในยุคนี้ค้าขายกับประเทศไหนก็ไม่รวยอู้ฟู่เท่ากับค้าขายกับจีน
ดังนั้น หากผู้นำชาติตะวันตกคนไหน (รวมทั้งสหรัฐ) ชอบก่นด่าจีน ก่นด่าเผด็จการ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงค้าขายลงทุนกับเผด็จการ ก็ให้รู้เท่าทันว่าพวกนี้มือถือสากปากถือศีลตัวพ่อตัวแม่
ที่น่าเวทนากว่านั้นก็คือในยามที่ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างอเมริกาทำผิดหลักการประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควบคุมเสรีภาพของประชาชน กลับไม่มีหน่วยงานใด แม้แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนที่จุ้นจ้านไปทั่ว จะสามารถหรือกล้าไปต่อกรหรือมีปากเสียงกับอเมริกาได้เลย

กล่าวสำหรับ นางซาราห์ ซูวัล อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยุคโอบามา ที่ตำหนิ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดทำเนียบขาวรับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ประเทศอื่นแคลงใจว่าอเมริกายังยึดมั่นในประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ฟังแล้วก็ยิ่งตลก เพราะดูเหมือนตัวเธอเองไม่รู้ตัวเลยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เองนั่นแหละคือเผด็จการ
เธอควรจะคิดได้ตั้งแต่แรกว่า ถ้าคนอเมริกันอยากได้ประชาธิปไตยแต่แรก ก็ไม่ควรเลือกทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี และหากเธอไม่โง่เขลาเกินไป ก็จะมองออกได้เองว่า นับจากชนะเลือกตั้ง ทรัมป์ก็แทบไม่มีพฤติกรรมของนักประชาธิปไตยเลย
ในเมื่อเธอไม่สามารถทำให้ประธานาธิบดีของตัวเองเป็นประชาธิปไตยได้ แล้วมาโวยวายว่าการเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำจากไทยเป็นเรื่องที่ขัดกับประชาธิปไตย จึงฟังดูน่าขำ เอาแต่ชี้นิ้วใส่คนอื่นยกเว้นประเทศตัวเอง เพราะเท่ากับเธอคิดว่าทรัมป์นั้นมีราคาในเรื่องประชาธิปไตย หรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าผู้นำของไทย
ส่วนสื่ออเมริกัน ก็อ้างว่าที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐคนไหน เปิดบ้านต้อนรับผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร
ก็จริงที่ว่า ผู้นำสหรัฐมักไม่เปิดบ้านต้อนรับผู้นำจากรัฐประหารโดยตรง แต่สื่ออเมริกันที่เรียนและสังเกตประวัติศาสตร์ ก็คงจะทราบแก่ใจดีว่า ตลอด 60-70 ปีที่ผ่านมา อเมริกาสนับสนุนเผด็จการทางประตูหลังมาตลอด ตราบใดที่เผด็จการคนนั้นให้ผลประโยชน์กับอเมริกา
เพราะว่าเปิดบ้านมันน่าเกลียดเห็นชัด เลยต้องเข้าประตูหลังโดยคิดเอาเองว่าไม่มีใครเห็น

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องฟลิปฟลอป หรือเปลี่ยนไปมาได้สำหรับอเมริกา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ดูอย่าง กลีน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หากใครสังเกตให้ดี ตอนที่ท่านทูตกลีน เดวีส์ นำ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดูท่าทางท่านทูตอี๋อ๋อกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพิเศษ
มีอยู่ตอนหนึ่งท่านทูตยืนข้างๆ พล.อ.ประยุทธ์แล้วจับมือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นการจับมือแบบคู่รัก ไม่ใช่การจับมือแบบเช็กแฮนด์ทักทาย หากใครสังเกตเห็นก็คงจะอึ้ง ว่าทำไมท่านทูตเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้
ท่านทูตคนนี้มาดำรงตำแหน่งในไทยครั้งแรกช่วงรัฐบาลโอบามา แต่พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งมีท่าทีต่อประเทศไทยเปลี่ยนไป ท่านทูตก็เอนไปตามกระแสนั้น
หากจำกันได้ ท่านทูตคนนี้แหละ ที่หักหน้า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (ตอนนั้นคงมั่นใจว่าเดโมแครตจะชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลต่อ) ด้วยการลักไก่แถลงต่อสื่อมวลชนตำหนิการควบคุมเสรีภาพการแสดงความเห็นในประเทศไทยต่อหน้านายดอน จนทำให้นายดอนไม่พอใจ เพราะถือว่าผิดมารยาท
ตอนนั้นสื่อไทยและนักวิชาการที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ ก็โหนกระแสทูตเดวีส์ยกใหญ่ ด้วยน้ำเสียงถูกอกถูกใจที่ทูตผู้นี้หักหน้ารัฐมนตรีและรัฐบาลไทย