คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค 31 ปีอิสรภาพจากโซเวียต วันนี้ยูเครนเจอศึกยืดเยื้อกับรัสเซีย (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค

31 ปีอิสรภาพจากโซเวียต

วันนี้ยูเครนเจอศึกยืดเยื้อกับรัสเซีย (จบ)

 

การบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำของยูเครนหยุดชะงัก สร้างความเสี่ยงสู่วิกฤตอาหารโลก

และการที่รัสเซียปิดท่าเรือต่างๆ ของยูเครน ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น

เกิดการขาดแคลนอาหารจำนวนมากในประเทศที่ยากจนที่สุดบางส่วนของโลก

เปลวไฟจากการระเบิด ลุกลามเป็นวงกว้างหลายร้อยเมตร ความร้อนทำให้ หายใจลำบากเนื่องจากพื้นที่ขนาดใหญ่ปกคลุมไปด้วยควัน

วิกฤตอาหารโลก

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า

“การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้วิกฤตอาหารโลกรุนแรงขึ้นเนื่องจากการปิดท่าเรือและการทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและการขนส่งของยูเครนโดยเจตนา”

เมื่อซัพพลายธัญพืชลดลงกะทันหัน ราคาในตลาดโลกจึงปรับสูงขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นผู้มีรายได้ต่ำทั่วโลก ตามการรายงานของ World Food Programme โดย UN พบว่าปัจจุบันมีคน 47 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในภาวะ “หิวโหยรุนแรง”

“เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม หลังจากหลายเดือนของการปิดล้อมของรัสเซีย เรือลำแรกที่มีธัญพืชยูเครนออกจากโอเดสซา เราคาดว่ารัสเซียจะยึดมั่นในพันธกรณีภายใต้โครงการริเริ่มว่าด้วยการขนส่งเมล็ดพืชและอาหารอย่างปลอดภัยจากท่าเรือของยูเครนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา”

“เรารู้สึกซาบซึ้งต่อสหประชาชาติและตุรเคียในการไกล่เกลี่ยข้อตกลงนี้ และย้ำว่าปัญหาด้านความปลอดภัยของเรือในตอนนี้ขึ้นอยู่กับพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียที่ท่าเรือโอเดสซาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม”

“เราคาดว่าทุกประเทศจะละเว้นจากการซื้ออาหารที่รัสเซียขโมยมาจากพื้นที่ที่ถูกยึดครองของยูเครน เมื่อใดก็ตามที่มีการระบุว่า มีเรือบรรทุกอาหารที่ถูกขโมยจากท่าเรือ พวกเขาจะต้องถูกควบคุมตัวและถูกจับกุมโดยรัฐบาลแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง”

“อันที่จริง ยูเครนเป็น ‘ตะกร้าขนมปังของโลก’ ยูเครนผลิตธัญพืชได้มากพอที่จะเลี้ยงคนหลายร้อยล้านคน เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9 ในการจัดอันดับผู้ผลิตธัญพืชและพืชตระกูลถั่วของโลกก่อนการรุกรานทางทหารของรัสเซีย การส่งออกอาหารส่วนใหญ่เป็นสินค้าแห้งจากท่าเรือโอเดสซาในทะเลดำของยูเครน”

“องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุชัดเจนว่า ตรงกันข้ามกับการเรียกร้องของรัสเซีย มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้โดยสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ จะไม่รับผิดชอบต่อการเติบโตของความไม่มั่นคงด้านอาหารและภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากไม่รวมถึงอาหารและปุ๋ย”

“แต่เกิดจากสงครามที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของยูเครน รวมถึงการปิดกั้นท่าเรือทะเลดำของยูเครน ซึ่งทำให้อุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวในตลาดโลกแย่ลงไปอีก”

“เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในการริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชและอาหารอย่างปลอดภัยจากท่าเรือยูเครน มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำทางอย่างปลอดภัยสำหรับการส่งออกธัญพืช อาหารที่เกี่ยวข้อง และปุ๋ยจากท่าเรือโอเดสซา (Odesa) เชอร์โนมอร์สก์ (Chernomorsk) และยูจนีย์ (Yuzhny) ตามความคิดริเริ่ม รวมทั้งกิจกรรมทั้งหมดในน่านน้ำยูเครนจะอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของประเทศยูเครน เราขอขอบคุณสหประชาชาติและประเทศตุรเคียในการไกล่เกลี่ยข้อตกลงนี้”

“ทว่า น้อยกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากการลงนามในข้อริเริ่ม รัสเซียโจมตีท่าเรือโอเดสซาด้วยขีปนาวุธ บ่อนทำลายความมุ่งมั่นของตน ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการตามข้อริเริ่ม เครมลินจะยังคงต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อวิกฤตอาหารทั่วโลก”


รัสเซียรุกรานยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วโลก มีรายงานว่าจะทำให้คน 40 ล้านคนขาดแคลนอาหาร

วิกฤตอาหารโลกส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันไปทั่วโลก ด้วยราคาที่แพงขึ้น หลายประเทศงดส่งออก อาจส่งผลทำให้ผู้คนหลายล้านคนในหลายสิบประเทศกำลังเผชิญกับความอดอยาก ประชากรเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติ (UN) และตุรเคียเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อเดือนก่อน เพื่อให้มีการส่งออกธัญพืชทางเรือได้ตามปกติ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นับได้ว่าเกิดความสำเร็จขั้นแรกแล้ว เมื่อเรือลำแรกเริ่มออกเดินทางจากท่าเรือโอเดสซา ประเทศยูเครน

โดยกระทรวงกลาโหมแห่งประเทศตุรเคียรายงานว่า เรือชื่อ Razoni ซึ่งเป็นเรือสัญชาติเซียร์รา-ลีโอนที่ประกอบในประเทศจีน ออกเดินทางจากท่าเรือโอเดสซาแล้วในเวลา 06:00 GMT

บนเรือบรรทุก “ข้าวโพด” หนัก 26,000 ตัน เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือเมืองตริโปลี ทางเหนือของเลบานอน

จึงทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวล โดยยูเครนระบุว่า มีเรืออีก 16 ลำที่รอคิวออกจากท่าเรือโอเดสซาแล้ว ณ ขณะนี้ ส่วนสัญญาที่ลงนามกันเมื่อเดือนก่อน จะมีผลยาว 120 วัน แต่จะต่อสัญญาอัตโนมัติออกไปเรื่อยๆ ยกเว้นว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าการขนส่งจะทำได้แบบสะดวก เพราะแม้รัสเซียจะเซ็นสัญญาไม่โจมตีเรือขนส่งสินค้าเกษตร

แต่ก็ยังมีการทำสงครามในน่านน้ำทะเลดำและเขตท่าเรือของยูเครนต่อไป นับตั้งแต่มีการเซ็นสัญญาดังกล่าว รัสเซียโจมตีพื้นที่รอบท่าเรือโอเดสซาไปแล้ว 3 ครั้ง


ชายหนุ่มคลุมธงชาติยูเครี่ ที่โรงละคร Donetsk Academic Regional Drama ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่หที่หลบภัย และถูกรัสเซียโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.2022

ผลกระทบต่อประเทศไทย

“ที่กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นอยู่ไกล จนแทบจะไม่สามารถมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยได้ น่าเสียดายที่มันไม่เป็นความจริง” นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค ตอบคำถาม

“ก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ยูเครนเป็นประเทศในยุโรปขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 40 ล้านคนเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก และประเทศเกษตรกรรมที่พัฒนาแล้ว คู่ค้าทางการค้าดั้งเดิมของยูเครนเป็นประเทศที่มีประชากรหลายสิบล้านคนซึ่งชีวิตต้องพึ่งพาการส่งออกของยูเครน”

“ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าการส่งออกก๊าซและน้ำมันของรัสเซียยังคงมีอยู่ในตลาดทรัพยากรของโลก ทุกวันนี้ จ่ายที่ปั๊ม 40 ถึง 45 บาทต่อน้ำมัน 1 ลิตรเราจ่ายเงินมากกว่าความเป็นจริงอันเกิดจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนครั้งนี้”

สงครามยูเครน-รัสเซียไม่ใช่แค่เรื่องของสองประเทศ เพราะทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากสงคราม เราต่างก็ได้รับผลพวงจากเหตุการณ์นี้ด้วยกันทั้งสิ้น ราคาพลังงาน วัตถุดิบทางการเกษตรและสินค้าต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อพุ่งเป็นประวัติการณ์ ผู้ประกอบการไม่สามารถคาดการณ์การสั่งวัตถุดิบได้ดีเหมือนเก่า ผู้บริโภคไม่อยากควักเงินจากกระเป๋า เพราะไม่แน่ใจเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต เงินฝืดก็ตามมา

กองทหารรัสเซียสกัดกั้น UTF-8B ออกไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียและแอฟริกา และขโมยธัญพืชจากดินแดนที่ถูกยึด

“นอกจากนี้ สงครามยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของไทยจากยูเครน โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กกล้า และธัญพืช โดยไทยนำเข้าธัญพืชจากยูเครนมากกว่า 10% ของการนำเข้าธัญพืชทั้งหมด เมื่อซัพพลายลดราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหารสัตว์ ดันราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น และอาหารคนบางประเภทที่ใช้ข้าวสาลี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง ก็ปรับสูงขึ้นด้วย”

“นอกจากด้านเศรษฐกิจ รัสเซียยังปรากฏในการเมืองของไทยอีกด้านหนึ่งที่มองไม่เห็น ภาพธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ งดงามไปด้วยขุนเขาป่าไม้น่าทึ่งในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน หรือเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเหล่านี้รับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องมือที่ชื่นชอบของเผด็จการ โดยรัสเซียได้ใช้ผู้ลี้ภัยเพื่อสร้างความโกลาหลในยุโรปซึ่งก่อให้เกิดสงครามในซีเรีย อิรัก และแอฟริกาเหนือ ตอนนี้รัสเซียก็พยายามทำแบบนั้นกับประเทศไทย”

“อย่างที่ทุกคนทราบ กองทัพเมียนมาสนับสนุนนโยบายของรัสเซีย และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021 ก่อนการรัฐประหารในเมียนมาหนึ่งสัปดาห์ เมียนมาได้ให้การต้อนรับการเยือนของเจ้าหน้าที่จากรัสเซียซึ่งนำโดยเซอร์เกย์ ชอยกู (Sergej Kužugetovič Šojgu)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย”

“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในที่สุดแล้วรัสเซียจะต้องประสบความพ่ายแพ้และถอยทัพกลับไปเหนือเส้นสีแดงที่มีการทำเครื่องหมายไว้ เส้นเหล่านี้เป็นพรมแดนที่รัสเซียได้ยอมรับอย่างเป็นทางการซึ่งกำหนดไว้ในเอกสารพื้นฐานของสหประชาชาติ”

“ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วน รัฐบาลและประชาชนยูเครนจะต่อต้าน เพื่อปกป้องประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเราในทุกวิถีทาง เราเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้ามารุกราน ถึงแม้จะต้องเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อของเราก็ตาม”

ประธานาธิบดียูเครนเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศในกรุงเคียรฟ เนื่องในวันชาติยูเครน 24 สิงหาคม ค.ศ.2021

ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1991 แผนงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่วันชาติของยูเครนเป็นอย่างไร

“ผมหวังอย่างยิ่งว่า เราจะได้เฉลิมฉลองวันแห่งการถอนตัวของรัสเซียออกจากดินแดนของเรา” อุปทูตยูเครนตอบทันที

“ตามปกติ สถานเอกอัครราชทูตจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรับรองทางการทูตเพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบการประกาศเอกราชของยูเครน ปีนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมากเนื่องจากรัสเซียยังคงโจมตียูเครน และเราจำเป็นต้องปกป้องบ้านเกิดของเรา เป็นเหตุผลที่ในปี 2022 นี้เราจึงมุ่งเน้นไปในกิจกรรมการระดมทุน การฉายภาพยนตร์สารคดียูเครนในปลายเดือนสิงหาคม เช่นเดียวกับจัดเทศกาลอาหารยูเครน (Days of Ukrainian Cuisine) ในกรุงเทพฯ กลางเดือนกันยายนนี้”

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย

บทบาทหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

“เราทำงานกันทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของชาวยูเครนในประเทศไทย ได้แก่ การลงทะเบียนพลเมืองแรกเกิดของประเทศยูเครน การออกหนังสือเดินทางของประเทศยูเครน การหาที่พักพิงสำหรับผู้ที่ต้องการ และให้ใบรับรองสำหรับการขอต่อวีซ่าแก่ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย”

“สถานเอกอัครราชทูตมีบทบาทในการเจรจาที่ครอบคลุมโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมถึงการเข้าถึงตลาดการค้าในประเทศไทย”

แน่นอน ความสนใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ พื้นที่หลายส่วนในยูเครนตอนนี้ ประสบวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น การขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญถูกทำลายหรือเสียหาย ทำให้ขาดไฟฟ้า เครื่องทำความร้อน และน้ำประปา

“เราได้เปิดช่องทางบริจาคเพื่อมนุษยธรรมจากประเทศไทยในการช่วยเหลือชาวยูเครนที่กำลังประสบภัยสงคราม ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้ ขอท่านได้โปรดแบ่งปันน้ำใจ ด้วยการโอนเงินไปยังบัญชีเลขที่ 911-3-000456-9 (ธนาคารกรุงเทพ) โดยสถานทูตจะรวบรวมและโอนไปยังบัญชีพิเศษของธนาคารแห่งชาติยูเครนต่อไป”

“การบริจาคของท่านจะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการกระทำอันยิ่งใหญ่ที่มีความหมายอย่างมาก เป็นการช่วยชีวิตที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กๆ และครอบครัว ทำให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองที่เขาต้องการมากที่สุด ตอนนี้และตลอดไป” •