ปรากฏการณ์ ‘เซ็นทรัล’ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

www.viratts.com

 

ปรากฏการณ์ ‘เซ็นทรัล’

 

กลุ่มเซ็นทรัล กับความเคลื่อนไหวทางธุรกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ น่าสนใจติดตามเสมอ

อันที่จริงภาพใหญ่และเรื่องราวโดยรวม เครือข่ายธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล มีความซับซ้อนพอสมควร

“กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกและบริการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินธุรกิจหลากหลายแขนง อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น, ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต, ธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัลไลฟ์ธุรกิจสไตล์” ภาพรวมคร่าวๆ กลุ่มเซ็นทรัล หรือ Central Group นำเสนอไว้ให้เป็นที่รู้จัก (อ้างอิงข้อมูลอย่างเป็นทางการ – https://www.centralgroup.com/)

ว่าไปแล้วข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ว่า ให้ภาพใหญ่ๆ ได้พอสมควร ทั้งว่าด้วยความเป็นมา ลักษณะธุรกิจและแบรนด์ (หรือตราสินค้า) ที่สำคัญคือข้อมูลข่าวสาร เชื่อว่าความเคลื่อนไหวกลุ่มเซ็นทรัลสำคัญๆ นั้น ได้สะท้อน และสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจไทยในบริบทต่างๆ โดยเฉพาะสภาพการแข่งขันอย่างเต็มที่ ไม่มีโครงสร้างทางธุรกิจลักษณะครอบงำ หรืออิงอำนาจพิเศษจากรัฐ

ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจหลักๆ ผ่านบริษัทที่สำคัญๆ ของกลุ่มเซ็นทรัลได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีข้อมูลที่จำเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะค่อนข้างครบถ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อไม่นานมานี้

 

เริ่มต้นจาก บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL บริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เข้าตลาดหุ้นมากว่า 3 ทศวรรษ (2533) ตามมาด้วย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เข้าตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้นครั้งสำคัญ (ปี 2538) จนมาถึง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เรียกอย่างย่อว่า “เซ็นทรัลรีเทล” “หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด ด้วยรูปแบบร้านค้าที่หลากหลายและธุรกิจระดับแนวหน้าในเอเชียอาคเนย์” เพิ่งเข้าตลาดหุ้น แม้อยู่ในช่วงไม่ค่อยดีนัก (2564)

ความน่าสนใจของกลุ่มเซ็นทรัลในเวลานี้ อยู่ที่เซ็นทรัล รีเทล นี่เอง

“อาณาจักรค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทลนั้นตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดและครอบคลุมเมืองหลักในหลายประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เรามีร้านค้า 1,897 ร้านค้าใน 56 จังหวัดของประเทศไทย 121 ร้านค้าใน 41 จังหวัดของประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้า 9 สาขาใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี ร้านค้าปลีกมีพื้นที่ขายรวม 3,247,313 ตารางเมตร และพลาซ่ามีพื้นที่ให้เช่ารวม 680,005 ตารางเมตร” (https://www.centralretail.com/)

นั่นเป็นภาพเครือข่ายธุรกิจไทยรายหนึ่งในยุคปัจจุบัน ถือว่ามีความทะเยอทะยาน เพื่อก้าวสู่โลกภายนอก มีความสามารถ มีบทบาท เทียบเคียงกับกิจการระดับภูมิภาค หรือแม้กระทั่งระดับโลก

 

แผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจดำเนินไปตามจังหวะก้าว ในระดับภูมิภาคให้ความสำคัญกับประเทศเวียดนาม “เดือนกันยายนนี้จะมีการฉลองครบรอบความสำเร็จ 10 ปีของเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ที่ปัจจุบันขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้านไฮเปอร์มาร์เก็ต และผู้นำศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ภายใต้แบรนด์ GO! พร้อมทั้งเป็นผู้นำค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม” ถ้อยแถลงอันตื่นเต้นล่าสุดของเซ็นทรัล รีเทล (เมื่อ 15 สิงหาคม 2565)

ตัดภาพย้อนกลับก่อน COVID-19 ว่าด้วยมองมุมเชิงบวก เชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างมาก “สะท้อนภาพความเป็นไปบางสิ่งบางอย่าง ว่าด้วยความเป็นไปในภูมิภาคซึ่งเชื่อมโยงกัน เป็นฉากตอนต่อเนื่องและสัมพันธ์กับสังคมไทย” ผมเองเคยว่าไว้ ส่วนเซ็นทรัล รีเทลเคยวิเคราะห์อ้างอิงบริบทที่น่าสนใจไว้เช่นกันในตอนต้นปี 2563 “จำนวนของชนชั้นกลางในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 6.1 ล้านครัวเรือน เป็น 7.6 ล้านครัวเรือนในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2561 และคาดว่าจะน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8.3 ล้านครัวเรือนในอีก 5 ปีข้างหน้า”

ในปลายปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ประเทศเวียดนามถือว่าเป็นที่ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโตต่อเนื่อง เซ็นทรัล รีเทลรายงานว่ารายได้จากที่นั่นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจจาก 18% เป็น 24%

จะเรียกว่ายุคคาบเกี่ยวหลัง COVID-19 ก็ว่าได้ในเวลานี้ มุมมองของเซ็นทรัล รีเทลในเชิงบวกดำเนินไป “ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตและภาคส่งออก รวมทั้งการเปิดประเทศรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ” (อ้างจาก คําอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สําหรับงวดสามเดือนและหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ส่งผลประกอบการที่ดี “เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555”

ขณะเดียวกัน ในโลกตะวันตกให้ความสำคัญในทวีปยุโรป กลุ่มเซ็นทรัลมีทิศทางธุรกิจสำคัญอย่างแตกต่าง ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยเพียงไม่กี่ราย เดินแผนอย่างจริงจัง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

แม้ว่าภาพที่ว่าข้างต้นนั้นยังไม่ได้สะท้อนธุรกิจหลักทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัล ทว่า เมื่อเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวล่าสุด ภาพใหญ่ที่ควรเป็นจะปรากฏขึ้น

“กลุ่มเซ็นทรัลและซิกน่า ปิดดีลเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges Group) จากตระกูลเวสตัน อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว หลังประกาศลงนามในสัญญาเพื่อเข้าซื้อกิจการเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 โดยการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ระดับโลก ครอบคลุม 8 ประเทศในทวีปยุโรป…” สาระข่าวสารองค์กรของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อไม่นานมานี้ (19 สิงหาคม 2565)

สาระในบางตอนนั้นระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีห้างสรรพสินค้าในเมืองสำคัญๆ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวโลกในยุโรปทั้งหมดถึง 22 แห่ง

ทั้งนี้ มีฐานะเป็นธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล เพียง Rinascente ในประเทศอิตาลีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ที่เหลืออีก 13-14 แห่ง นำเสนอภาพรวมอย่างตื่นเต้น โดยไม่มีข้อมูลมากนัก ได้แก่ Illum ในประเทศเดนมาร์ก อีกแห่งซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลเป็นเจ้าของโดยตรง ขณะที่เหลือเป็นกิจการร่วมทุนพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ชื่อ Signa Holding ได้แก่ KaDeWe Oberpollinger และ Alsterhaus ในประเทศเยอรมนี Globus ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงกรณีล่าสุดเข้าครอบครองกิจการของ Selfridges Group

ดังที่ว่าไว้ “ยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะสร้างแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้อีก 2 แห่ง ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี และในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย” อีกตอนว่าด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคักต่อเนื่อง

 

ดังนั้น เซ็นทรัลกับเครือข่ายธุรกิจในยุโรป ที่ว่า “…ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ระดับโลก” นั้น เป็นจังหวะก้าวใหม่ธุรกิจไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

เฉพาะในอิตาลี ในฐานะเจ้าของห้างสรรพสินค้า 9 สาขา ตั้งอยู่ใน 8 เมืองใหญ่ เซ็นทรัล รีเทลมีมุมมองที่น่าสนใจมาแต่ต้น “ด้วยชื่อเสียง ความมีระดับ และประวัติที่สืบทอดมายาวนาน” โดยห้างสรรพสินค้าสำคัญ (Flagship Store) ตั้งอยู่ในเมืองมิลานและกรุงโรม “เป็นหนึ่งในแหล่งเลือกซื้อสินค้าชั้นนำในทวีปยุโรปสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้สามารถนำเอาผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในประเทศอิตาลีมาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศอื่นๆ” รายงานและบทวิเคราะห์ภาพเชิงพัฒนาการในช่วงต้นปี 2563

เมื่อเผชิญ COVID-19 อิตาลีเป็นประเทศแรกๆ ที่หนักหนาทีเดียว ในปลายปี 2563 ผลประกอบการของเซ็นทรัล รีเทลที่นั่นไม่ค่อยดีนัก ดูจะลดบทบาทลงพอสมควร จากเคยมีสัดส่วนรายได้ 7% (2562) เหลือเพียง 4% (2563)

ในเวลานี้ “สถานการณ์ธุรกิจในอิตาลีมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายจากลูกค้าในประเทศและจากนักท่องเที่ยว โดยในไตรมาสนี้ยอดขายในประเทศอิตาลีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปีก่อน” (คําอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สําหรับงวดสามเดือนและหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565)

(ยังมีต่อ) •