การดิ้นรนของเผด็จการ แบบฉบับ ‘มิน อ่อง ลาย’/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

การดิ้นรนของเผด็จการ

แบบฉบับ ‘มิน อ่อง ลาย’

 

รัฐบาลทหารเมียนมา ภายใต้การนำของมิน อ่อง ลาย นายพลอาวุโสของกองทัพถูกกดดันบีบคั้นอย่างหนัก จากสถานการณ์แวดล้อมหลายๆ ด้านในเวลานี้

เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่อย่างหนัก หลังการก่อรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านขึ้นทั่วประเทศ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้บนท้องถนน เดินขบวนประท้าง หยุดงานประท้วง ไปเป็นการจับอาวุธขึ้นต่อต้าน ทั้งในราวป่าและในเมือง

ในช่วง 1 ปีของการรัฐประหาร จีดีพีของประเทศร่วงลงมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เงินตราต่างประเทศขาดแคลนอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศเบี้ยวหนี้ต่างประเทศ

จากจุดต่ำสุดที่ว่านั้น ธนาคารโลกประเมินว่า ในปีนี้จีดีพีของเมียนมาจะกระเตื้องขึ้นเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ และเต็มไปด้วยความเสี่ยง ยังห่างไกลจากระดับก่อนหน้ารัฐประหารมากมายนัก

เท่าที่มิน อ่อง ลาย ทำได้ภายใต้สถานการณ์ในเวลานี้ก็คือ ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดของตนเองและยึดโยงอยู่กับอำนาจให้ได้ โดยไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมากับประเทศและประชาชนคืออะไร

มิน อ่อง ลาย ใช้ทุกวิถีทางเพื่อกระชับอำนาจ ขับรัฐมนตรีอาวุโสและนายทหารอาวุโสพ้นตำแหน่ง เล่นงานบรรดากลุ่มธุรกิจและเจ้าพ่อในแวดวงการค้าต่างๆ ทั้งที่ไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า เอาใจออกห่างหรือไม่

นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำเผด็จการเริ่มต้นใช้มาตรการเช่นนี้ เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า สถานะของตนเองเริ่มเปราะบาง ภาวะผู้นำเริ่มไม่มั่นคง

 

เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบอบทหารในเมียนมา สั่งประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านอำนาจตนเอง 4 คน เรียกเสียงก่นประณามจากทั่วสารทิศ กับการถูกบอยคอตจากกลุ่มอาเซียนที่เหลือ 9 ประเทศอีกครั้ง

นักสังเกตการณ์หลายคน รวมทั้งเลทิเตีย ฟาน เดน อัสซูม อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำเมียนมา ชี้ว่า การประหารบุคคลทั้ง 4 คือการกระทำที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธการเจรจาต่อรองใดๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด และแสดงถึงความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ยิ่งเด็ดขาดรุนแรง ยิ่งช่วยให้ควบคุมทุกอย่างให้อยู่ภายใต้อำนาจมากยิ่งขึ้น

เผด็จการจะอยู่ให้รอดได้ ต้องเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น โหดเหี้ยมอำมหิตมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

การประหาร ไม่เพียงมีเจตนาเพื่อสร้างความหวั่นกลัวให้กับประชาชน แต่ยังเป็นเครื่องแสดงต่อทุกผู้คนแม้แต่ผู้ที่แวดล้อมใกล้ชิดให้ได้รับรู้ว่า มิน อ่อง ลาย พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเยี่ยงนี้ เพื่ออยู่รอดต่อไปให้จงได้

 

ในเวลาเดียวกัน การดำเนินการเพื่อรวบอำนาจมาอยู่ในมือให้ได้มากที่สุดก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ระบอบเผด็จการทหารเมียนมา ประกอบไปด้วย 3 ส่วน หนึ่งคือ สภาเพื่อการบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) ที่เป็นองค์กรปกครองสูงสุด ถัดมาเป็นกลุ่มของนายทหารระดับสูง และสุดท้ายคือคณะรัฐมนตรี

นักสังเกตการณ์ระบุตรงกันว่า ยิ่งนับวัน อำนาจควบคุมเหนือองค์กรทั้ง 3 ยิ่งตกอยู่ในมือมิน อ่อง ลาย มากขึ้นตามลำดับ มีการแต่งตั้งปรับเปลี่ยนนายทหารเข้าไปรับตำแหน่งสำคัญๆ อยู่หลายครั้ง จนเป็นเหตุให้เอสเอซี ที่มีสมาชิก 19 คน หลงเหลือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่เริ่มรัฐประหารเพียง 4 คนเท่านั้น

2 คนในจำนวนนั้นคือ มิน อ่อง ลาย กับนายพลโซ วิน ซึ่งเป็นเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีตำแหน่งอยู่ในองค์กรทั้ง 3 ส่วนในเวลาเดียวกัน

ในระหว่างกระบวนการกระชับอำนาจนั้น นายทหารระดับสูงอย่าง พล.ร.อ.ติน อ่อง ซาน ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.หม่อง หม่อง จ่อ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.เมียะ ตุน โอ หัวหน้าคณะเสนาธิการทหาร และ พล.ท.อ่อง ลิน ดเว ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ล้วนถูกปลดพ้นตำแหน่งทางทหารทั้งหมด

เต้ตเมียะมินตุน นักวิเคราะห์ชาวเมียนมาเชื่อว่า ทั้งหมดนั่นคือความพยายามรวบอำนาจ เสริมสถานะบารมีในกองทัพของมิน อ่อง ลาย

 

หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม มิน อ่อง ลาย จัดการปลดรัฐมนตรีการไฟฟ้าและพลังงาน อ่อง ตุน อู พ้นตำแหน่งและแต่งตั้งอดีตนายทหารอย่างถ่อง ฮัน เข้ารับตำแหน่งแทน กลายเป็นรัฐมนตรีรายล่าสุดที่ถูกปลดพ้นตำแหน่ง ต่อจากฮลา โซ มุขมนตรีประจำภูมิภาคย่างกุ้ง, โบ ฮเท นายกเทศวนตรีนครย่างกุ้ง ที่ถูกควบคุมตัวสอบปากคำภายใต้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น

ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปีนี้ มิน อ่อง ลาย ยังใช้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นเล่นงานชิต ขิ่น เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และเหมืองหยก ผู้ก่อตั้งอีเดนกรุ๊ป, ขิ่น ส่วย เจ้าพ่อแวดวงโทรคมนาคม และเซกาบาร์ กับเซทิฮา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสองพ่อลูกอีกด้วย

คนใกล้ชิดนักธุรกิจใหญ่เหล่านี้ ระบุว่า ทั้งหมดถูกจับกุมด้วยข้อหาเท่าที่จะยัดเยียดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่นหรือเลี่ยงภาษี เพียงเพราะถูกเข้าใจว่าเอาใจออกห่าง และต้องสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลทหาร

คิม โจลิฟเฟ นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมา ระบุว่า คนเหล่านี้อาจตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะมิน อ่อง ลาย เชื่อว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการคุกคามตนเองได้

และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดของมิน อ่อง ลาย ให้ทุกผู้คนได้รับรู้ว่า ตนเองพร้อมเสมอที่จะจัดการโดยเด็ดขาดกับใครก็ตามที่คิดไม่ซื่อ หรือพยายามจะบังคับขู่เข็ญ ไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใด

ซึ่งเท่ากับเป็นการนำเมียนมากลับสู่ระบอบการปกครองเบ็ดเสร็จภายใต้ความหวั่นกลัวต่ออำนาจบาตรใหญ่ของนายทหารเพียงไม่กี่คนอย่างแน่วแน่อีกครั้งนั่นเอง