เปิดโผรอบลึก 9 นวนิยาย “ชมนาด” ครั้งที่ 11 กรรมการชี้ 3 แนวทางที่โดดเด่น ยกระดับนักเขียนหญิง    

ประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับโครงการประกวดวรรณกรรมยอดเยี่ยม หรือ “รางวัลชมนาด” ประเภทนวนิยาย (FICTION) ที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีไทยเข้าสู่ระดับสากล และเดินหน้าจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 แล้ว  ซึ่งในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 30  เรื่อง

 

โดยเรื่องที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน มีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่

  1. ไกรสร
  2. ผู้พิทักษ์ตนสุดท้าย
  3. กุสุมาอีกครั้ง
  4. 5,929 ไมล์…ระยะฝัน
  5. The Present ของขวัญ
  6. เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์
  7. ดอกไม้ในแจกันเหล็ก
  8. ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ
  9. คมบุหลัน
คุณพึงเนตร อติแพทย์

ด้านความเห็นของ นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกผลงานการประกวดรางวัลชมนาด กล่าวในภาพรวมว่า นวนิยายทั้ง 30 ผลงาน มีความหลากหลายและสไตล์ที่แตกต่างกันไป  แต่ในภาพโดยรวมจะมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน

 

ลักษณะแรก เป็นงานที่ออกมารับความต้องการของตลาด เป็นวรรณกรรมกระแสหลัก เหมือนกับที่มีมาทุกยุคสมัย แต่ต่างกันที่ความเร้าใจ ปมขัดแย้ง อุปสรรค ที่ผู้เขียนใช้ศิลปะการประพันธ์ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น กล่าวได้ว่าเฆี่ยนตีตัวละครให้เศร้า ทุกข์  โหด มากขึ้น พร้อมไปกับแนวความคิดและภาษาที่สมสมัย

 

ลักษณะที่สอง  เป็นงานที่มีเจตนามุ่งในการสร้างงานศิลปะมากกว่าเนื้อหา  เป็นวิริยภาพของผู้เขียน  ที่สามารถนำมาก่อเกิดรสนิยมใหม่ สร้างสรรค์จินตนาการใหม่ๆ

คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธาน กก.รอบคัดเล

ลักษณะที่สาม เป็นงานที่มีทั้งการสร้างงานศิลปะและเนื้อหาไปพร้อมกัน  รูปแบบการประพันธ์ที่แปลกใหม่ มีทั้งนวนิยายที่ตั้งคำถามและเล่นกับรูปแบบ รวมไปถึงการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง ตัดสลับไปมา บางเรื่องใช้ฉากต่างประเทศ ตัวละครหลายตัวก็ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ลูกครึ่งไทย บางเรื่องเป็นเรื่องในประเทศสมมุติ ซึ่งตัวละครนั้นจะเป็นคนหลายชาติหลายวัฒนธรรม เสมือนกับเป็นตัวแทนของโลกเรา มันเป็นกระจกสะท้อนออกมาให้เราได้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แม้ในประเทศไทย

 

“สิ่งที่เด่นในปีนี้ คือ ศิลปะการประพันธ์ บางเรื่องนักเขียนไม่ได้ใช้แต่จินตนาการเท่านั้น แต่ว่าค้นคว้าหาความรู้จากหลายที่หลายทาง รวมทั้งใช้ทฤษฎีทางวรรณกรรมในการนำเสนอเรื่องเล่าของเขา ให้มีความแยบยลแยบคายอย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น ซึ่งแสดงว่านักเขียนต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องใช้ความรู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และย่อยกรองข้อมูลเหล่านั้นให้มันลดลงมาเหลือเพียงแค่ส่วนที่จะเสริมนวนิยายให้มันมีคุณภาพ มีอรรถรส”

คุณตรีคิด อินทรขันตี

สอดคล้องกับความคิดเห็นของกรรมการรอบคัดเลือกท่านอื่นๆ ที่มองว่า นวนิยายที่ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงความสามารถในการที่จะพัฒนางานเขียนของตนเองให้ดีขึ้น และหลากหลายขึ้นของเหล่านักเขียนหญิง โดยความน่าสนใจที่เห็นได้ชัดในปีนี้ คือการนำความรู้ ประสบการณ์ หรือแม้แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเข้ามาผนวกกับความเป็นเรื่องแต่งของนวนิยายได้อย่างซับซ้อนและลงตัว

 

และทั้งหมดคือภาพรวมของนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักเขียนสตรียุคใหม่ในโลกยุคดิจิทัลได้ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว

คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์

สำหรับ รายชื่อกรรมการรอบคัดเลือก ผลงานการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 มีดังนี้

คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

คุณตรีคิด  อินทรขันตี กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

คุณพึงเนตร อติแพทย์ กรรมการการคัดเลือกรางวัลชมนาด

คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศผลจากคณะกรรมการรอบตัดสิน เพื่อเฟ้นหานวนิยายเรื่องที่เหมาะสมที่สุดกับ “รางวัลชมนาด” ครั้งที่ 11 ในเดือนตุลาคม 2565 บริษัท สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น จะขอพาไปทำความรู้จักกับนวนิยายทั้ง 9 เรื่อง จาก 9 นักเขียนสตรีไทยที่ผ่านเข้ารอบ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง และชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเชียร์เรื่องในดวงใจกันอย่างละเอียดอีกครั้ง ใน  www.praphansarn.com ที่จะนำเสนอต่อจากนี้เป็นต้นไป