การลอบสังหาร พล.อ.เปรม ทศวรรษ 2520/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

การลอบสังหาร

พล.อ.เปรม ทศวรรษ 2520

 

ภายหลังการลอบสังหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงต้นระบอบประชาธิปไตยผ่านพ้นไปแล้ว พัฒนาการของการเมืองไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอีก เมื่อคณะราษฎรสิ้นอำนาจไปนับแต่ 2500 การเมืองไทยได้เดินผ่านยุคสงครามเย็น ผ่านการปกครองระบอบเผด็จการทหารนับแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 การรัฐประหาร 2519 การก้าวขึ้นมาของรัฐบาลเผด็จการพลเรือนสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (2520-2523) และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2532) อันเป็นจุดเริ่มต้นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

ความเป็นมาของประชาธิปไตยครึ่งใบมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ 2521 เป้าหมายของรัฐธรรมนูญนี้คือ การประนีประนอมระหว่างกลุ่มทหารกับนักการเมืองพลเรือน รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะปฏิวัติ 2520 มีอำนาจควบคุมการเมืองผ่านการแต่งตั้งวุฒิสภา ส.ว.เหล่านี้มีอำนาจเทียบเท่ากับ ส.ส.

การปกครองประชาธิปไตยครึ่งใบ หมายถึง นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ส่วนข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตำแหน่งการเมืองอื่นๆ ได้ ตลอดจน ส.ว.แต่งตั้งช่วยค้ำจุนให้รัฐบาลมั่นคงทางการเมือง

การก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรมเกิดขึ้นจากการผลักดันของกลุ่มทหารยังเติร์ก ด้วยการเสนอชื่อ พล.อ.เปรม ผู้บัญชาการทหารบกที่กำลังจะเกษียณอายุราชการเป็นนายกรัฐมนตรี อันก่อให้เกิดทั้งการต่อต้านและสนับสนุนการต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรม อย่างไรก็ตาม การต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรมต่อไป ทำให้นายทหารระดับรองลงไปไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในกองทัพจนเกิดการต่อต้านรัฐบาลหลายครั้ง

จากการต่ออายุ ผบ.ทบ.ในปี 2523 คือความพยายามทำให้ พล.อ.เปรมสามารถควบคุมกองทัพต่อไปได้ แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้นำทหารระหว่างผู้นำทหารหนุ่ม จปร.รุ่น 7 หรือ “ยังเติร์ก” กับ พล.อ.เปรม และขยายตัวเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “กบฏเมษาฮาวาย” ในเดือนเมษายน 2524 ในที่สุด (สุรชาติ บำรุงสุข, 2563)

ความพยายามควบคุมกองทัพภายใต้รัฐบาล พล.อ.เปรมเป็นเวลาถึง 8 ปีนั้นก่อเกิดความพยายามรัฐประหารหลายกรณี ดังนี้ กรณีเมษายน 2524 หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2524 มีสาเหตุมาจากการต่ออายุให้ พล.อ.เปรม ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อไป อันเป็นชนวนให้ถูกต่อต้านจากนายทหารกลุ่ม จปร.7 หรือ “กลุ่มยังเติร์ก” ร่วมกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะปฏิวัติ พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1 พ.อ.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เลขาธิการคณะปฏิวัติ เข้าจับตัว พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายทหาระดับสูงหลายคนไว้ได้ ต่อมา พล.อ.เปรมจึงกราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อความปลอดภัย และตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ต่อมา ฝ่ายต่อต้าน พล.อ.เปรม ตกเป็นรอง เนื่องจาก พล.อ.เปรมอ้างความชอบธรรมจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้กองกำลังต่างๆ หันไปสนับสนุน พล.อ.เปรมมากกว่าฝ่ายต่อต้าน (รุ่งรัตน์ เพชรมณี 2545, 46-47)

การพยายามรัฐประหารครั้งนั้น กลับไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นการรัฐประหารที่ใช้กำลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่กลับกลายเป็นกบฏและจบลงอย่างรวดเร็วในที่สุด

ต่อมาเกิด “กบฏ 9 กันยายน 2528” เป็นความพยายามรัฐประหารนำโดยกลุ่มนายทหาร จปร.7 เช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร นายทหารนอกราชการนำทหารจากกองพลทหารม้าที่ 2 ร่วมกับกรมทหารอากาศโยธิน จำนวน 500 คน นำโดย นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด ทั้งนี้ ขณะนั้น พล.อ.เปรมเดินทางไปอินโดนีเซีย ส่วน พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กำลังอยู่ในทวีปยุโรป แต่การก่อรัฐประหารไม่สำเร็จ (Tamada 1995, 46-47; Surachart Bamrungsuk 1999, 44-46)

นอกจากความไม่พอใจของกองทัพที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.เปรม ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นจากการก่อกบฏเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามลอบสังหาร พล.อ.เปรมด้วย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 ด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 72

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 มีคณะบุคคลพยายามลอบสังหาร พล.อ.เปรม โดยยิงระเบิด M 72 ใส่รถขบวนของ พล.อ.เปรม ขณะเดินทางไปเปิดอนุสาวรีย์ที่ศูนย์การปืนใหญ่ ลพบุรี โดยคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 72 ยิงใส่ แต่กระสุนพลาดเป้าหมายเฉียดหลังคารถของ พล.อ.เปรมไปเล็กน้อย

แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ปรากฏเป็นข่าว จวบจนกระทั่งนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เดือนกรกฎาคม 2525 ขึ้นหน้าปกข่าวใหญ่ “ลอบสังหารเปรมที่ลพบุรี แผนของใคร?”

หนึ่งเดือนต่อมา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เดือนสิงหาคม 2525 รายงานข่าวว่า “จับ 5 ทหารลพบุรี มือสังหารเปรม” ระบุว่า เมื่อ 5 สิงหาคม และ 7 สิงหาคม 2525 มีการจับกุมนายทหารชั้นประทวน 5 นายตกเป็นผู้ต้องหามีส่วนร่วมลอบสังหาร พล.อ.เปรม จำยอมรับว่า การลอบสังหารได้เกิดขึ้นจริง แต่การสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้ก็ยืดเยื้อข้ามมาถึงปี 2526

จากการสืบสวนทราบว่าผู้ก่อการเป็นทหารสามนาย หนึ่งในนั้นคือ พ.ต.ไพรัช โพธิพฤกษาวงค์ สังกัดศูนย์การทหารปืนใหญ่ ต่อมา พ.ต.ไพรัชได้กระทำอัตวินิบาตกรรมขณะตำรวจเข้าจับกุม ส่วนทหารชั้นประทวนอีกสองนายต่อมาหายสาบสูญไป (รัฐบุรุษ, 2549, 351-357)

เครดิตภาพ : คมชัดลึก

ครั้งที่ 2 ขว้างระเบิดเข้าไปในบ้านสี่เสาฯ

เมื่อ 15 สิงหาคม 2525 เวลา 22.15 น. คนร้ายใช้ระเบิดแบบเอ็ม 26 ลูกเกลี้ยงขว้างข้ามกำแพงด้านสโมสรกองทัพบกเข้าไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม

ระเบิดตกที่โคนต้นปาล์มในสนามหญ้าข้างอาคาร สะเก็ดระเบิดกระจายโดนกระจกหน้าต่างและฝ้าเพดานของห้องนายทหารคนสนิทเสียหายเล็กน้อย ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ส่วน พล.อ.เปรมอยู่ภายในบ้าน ยังไม่ได้นอนหลับ

ครั้งที่ 3 วางระเบิดใกล้ห้องทำงานรัฐมนตรีกลาโหม

ไม่นานภายหลังการหลังปาระเบิดใส่บ้านสี่เสาฯ เมื่อ 9 กันยายน 2525 ช่วงเวลาค่ำ ขณะที่ทหารรักษาการณ์กระทรวงกลาโหมเดินตรวจการณ์อยู่บริเวณทางเท้ารอบๆ กระทรวงในยามค่ำ พลทหารนายหนึ่งพบกระติกน้ำแข็งใบหนึ่งที่มุมอาคารด้านปีกซ้ายของกระทรวง ทหารยามเปิดฝากระติกดู พบห่อกระดาษปิดอยู่ภายใน มีสายไฟเส้นเล็กๆ โยงออกมา 4 เส้น

ทหารยามผู้นั้นจึงรีบโทรศัพท์แจ้งนายทหารเวร และแจ้งไปยังศูนย์วิทยุ 191 ตำรวจนครบาล แต่ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดจะมาถึง กระติกลูกนั้นก็ระเบิด ทหารยามที่จับตาดูอยู่ห่างๆ บาดเจ็บ 4 นาย ประชาชนที่ผ่านไปมาบาดเจ็บ 2 คน หน้าต่างกระทรวงกลาโหมเสียหาย 14 บาน โดยจุดที่ตั้งของกระติกระเบิดอยู่ใกล้บริเวณอาคารของกระทรวงกลาโหมที่ชั้นล่างเป็นห้องเก็บพัสดุ แต่ชั้นสองคือห้องทำงานของ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (matichon.co.th, 25 เมษายน 2565)

กล่าวโดยสรุป พล.อ.เปรมถูกลอบสังหาร 1 ครั้ง และข่มขู่ด้วยระเบิด 2 ครั้ง เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งภายในกองทัพอันเป็นเหตุสำคัญมาจากการต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรมและความพยายามขยายอิทธิพลของ พล.อ.เปรมภายในกองทัพ