ฉัตรสุมาลย์ : แอบมองพุทธศาสนาในเนปาล

ที่เรียกว่า แอบมอง คือยังไม่รู้จริงค่ะ ไม่นับลุมพินี ผู้เขียนก็ได้เข้ามาที่กาฐมาณฑุหลายครั้ง มาแต่ละครั้งก็หัวโตกลับไป คือไม่รู้เรื่อง

พุทธศาสนาที่เราพบที่เนปาลมันสับสน อีนุงตุงนังจริงๆ

ไปคราวนี้ ได้เข้าไปอยู่ที่อัคเศศวรมหาวิหาร อยู่ท่ามกลางชาวพุทธเนปาลจริงๆ เริ่มเห็นแววขึ้นบ้าง อยากเล่า อย่างนี้ค่ะ เล่าแบบแอบมองนะคะ คือเล่าอย่างไม่ใช่ผู้รู้จริง

เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่ที่อินเดียมาจนถึงล่าสุด คริสต์ศตวรรษที่ 12 จริงแล้วก็มีเหตุทั้งภายในและภายนอกที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของคณะสงฆ์ในอินเดีย ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

แต่เหตุภายนอกที่เรากล่าวถึงกันมากที่สุด คือ การเข้ามาของกำลังทหารเติร์กมุสลิม

นอกจากถูกฆ่าตายแล้ว มีพระภิกษุที่พยายามหลบหนีออกไปทางเหนือ และไปตั้งรกรากอยู่ในเนปาล พระภิกษุพวกนี้เรียกว่า ศากยภิกษุ ไม่ได้หมายความว่าเชื้อสายศากยะโดยสายเลือด แต่ใครก็ตามที่ออกบวชปฏิบัติตามคำสอนของพระศากยมุนีพุทธะ ล้วนเป็นศากยบุตรทั้งสิ้น

พระภิกษุพวกนี้ เผยแผ่ศาสนาและมรณภาพในเนปาล ไม่ได้หวนกลับมาที่อินเดียอีก บางรูปไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ ก็จำเป็นต้องสึก แต่ยังสอนศาสนา และเป็นผู้รู้พิธีกรรมของสงฆ์

พวกนี้เป็นบรรพบุรุษของศากยภิกษุที่เราพบในเนปาล

 

ในเนปาลมีนิกายหลักๆ 3 นิกาย คือ มหายาน (แบบจีน) วัชรยาน (แบบทิเบต) และศากยภิกษุ

นิกายหลังนี้ แม้จะเรียกว่าศากยภิกษุ ยังเรียกตัวเองว่าเป็นสมาชิกสงฆ์ แต่ไม่ใช่ภิกษุอย่างที่เราเข้าใจในประเทศไทย

ที่อัคเศศวรมหาวิหารก็มีสงฆ์ที่ดูแลการประกอบพิธีของพระ แต่กระทำโดยฆราวาส แต่เขาก็ยังนับเป็นสงฆ์อยู่

ศากยภิกษุนี้ มีประเพณีของการบวชเด็กชายในช่วง 7-13 ปี เลือกเฉพาะปีที่เป็นเลขคี่ คือ 7 9 11 และ 13 จะบวชแบบเณร 4 วัน โกนผม และครองจีวร

เมื่อผ่านพิธีนี้แล้ว สึกออกมาก็จะนับว่าเป็นสมาชิกสงฆ์ของวัดนั้น มีหน้าที่ทำพิธีกรรมได้

เช่นที่มหาวิหารที่เราพำนัก ก็มีสมาชิกสงฆ์มาทำหน้าที่เปิดพระวิหารส่วนที่ประดิษฐานพระประธานของวิหาร ทำหน้าที่เหมือนพราหมณ์ในโบสถ์พราหมณ์ คือ รับของถวาย และมอบประสาท (คือของที่ถวายแล้ว) ให้แก่ชาวพุทธที่มาไหว้พระ

คนที่ทำหน้าที่ที่มหาวิหารนั้น เขาจะมาประจำอยู่ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 7 โมง ทุกวัน จากนั้นก็กลับไปบ้านแต่งตัวไปทำงานตามปกติ

เพราะฉะนั้น ในเมืองลลิตปุร์ จึงมีวิหารถึง 160 แห่ง เพราะวัดจะอยู่ใกล้บ้าน เมื่อสมาชิกสงฆ์เดินมาทำหน้าที่ประจำวิหารในตอนเช้าแล้วก็จะเดินกลับไปบ้าน แต่งตัวอาบน้ำ กินอาหารเช้าไปทำงานต่อได้

สมาชิกสังฆะที่จะทำหน้าที่ในพระวิหารได้ต้องเป็นผู้ออกบวช 4 วัน ที่วิหารนั้นเท่านั้น

คุณราเชศ ศากยะ ประธานกรรมการที่ดูแลอัคเศศวรคนปัจจุบัน จะทำหน้าที่สมาชิกสังฆะได้เฉพาะที่วัดพระทอง เพราะออกบวชเป็นเณร 4 วันที่วัดนั้น จะมาทำหน้าที่สมาชิกสังฆะที่อัคเศศวรมหาวิหารไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

ตกลง ในเนปาลไม่มีพระภิกษุอย่างที่เราเข้าใจกันในเมืองไทยนะคะ

 

ทางฝ่ายวัชรยาน ก็มีพระที่ทำพิธี ก็เป็นฆราวาสอีกเหมือนกัน พวกนี้จะมีนามสกุลว่า วัชราจารย์ มีความสับสนเล็กๆ เนปาลน่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเบงกอลในอินเดียพอสมควร การออกเสียง ว จะออกเสียงเป็น พ แบบเดียวกับพวกเบงกอลี วัชราจารย์ จะสะกดด้วย Bajracaraya เช่นเดียวกับคำว่า มหาวิหาร บางครั้งจะเห็นสะกดว่า Mahabihar แบบเดียวกับรัฐพิหารในอินเดีย ที่มีความหมายเดียวกับวิหารนั่นเอง

พวกวัชราจารย์จะถือว่าสูงกว่าฝ่ายศากยภิกษุ เพราะได้รับการถ่ายทอดการทำพิธีลี้ลับของฝ่ายมนตรยานที่ศากยภิกษุไม่มี

เวลาเราเข้าไปในวัดของวัชรยาน ก็จะมีฆราวาสที่ทำหน้าที่คล้ายพระ คือพวกวัชราจารย์นี้เอง

 

เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ท่านธัมมนันทาไปร่วมประชุมเรื่องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่พม่า ก็ได้พบกับวัชราจารย์ท่านหนึ่ง ท่านแต่งตัวฆราวาส แต่พอตอนที่จะขึ้นไปมอบของที่ระลึกให้ท่านเจ้าอาวาสที่พม่า ท่านเอาผ้าสีแดงอมม่วง แบบพระทิเบตขึ้นมาครองอีกชั้นหนึ่ง ผ้านั้นเป็นผ้าสไบ ไม่ได้เย็บแบบจีวร แต่ห่มเปิดไหล่ขวาเหมือนกัน

ทั้งสายวัชรยานและสายศากยภิกษุ ที่ลูกหลานใช้นามสกุลศากยะ เข้ามาตั้งรกรากในเนปาลตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 12

ในขณะที่เถรวาทที่เราคุ้นเคยกันนั้น เป็นสายที่เข้ามาหลังสุด เมื่อ 100 ปีก่อนนี้เอง นักประวัติศาสตร์พบหลักฐานว่า ใน ค.ศ.1905 มีกล่าวถึงพระภิกษุสายเถรวาทชื่อธัมมโลก แต่ที่จะมาอยู่ต่อเนื่องจริงๆ เกิดขึ้นหลังจาก ค.ศ.1920

ในช่วงที่รานาครองเมือง เจ้ารานาเป็นฮินดู พระภิกษุฝ่ายที่เป็นเถรวาทที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ถูกมองว่าเป็นของใหม่ ถูกเนรเทศออกไปอยู่ที่เมืองกุสินารา สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ในสมัยแรกนั้นมีพระภิกษุฝ่ายเถรวาท ที่เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือพระอาจารย์จันทรมุนี มหาสถวีร อยู่ที่กุสินารา ประเทศอินเดีย ที่เป็นหลักให้ทั้งฝ่ายพระภิกษุและอนาคาริกาที่แสวงหาการบวช

เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างพระภิกษุและอนาคาริกาในเนปาล ก็ต้องอาศัยบารมีพระอาจารย์จันทรมุนีเข้ามาไกล่เกลี่ยปรองดองเรื่องจึงยุติลงได้

 

ตั้งแต่ ค.ศ.1951 เป็นต้นมา พระภิกษุสายเถรวาทจึงเข้ามาทำงานเผยแผ่ศาสนาได้สะดวกขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมที่ประเทศเนปาลจึงมีพระภิกษุสายเถรวาทน้อยมาก ทั้งประเทศไม่น่าจะเกิน 300 รูป

วัดในพุทธศาสนาในเนปาลนั้น บางวัดเป็นวัชรยานชัดเจน บางวัด เส้นแบ่งระหว่างพุทธกับพราหมณ์ แทบจะแยกกันไม่ออกเลย

เวลาทำพิธีฉลองก็วันเดียวกัน พระนางสรัสวดีเทพีฝ่ายปัญญาของฮินดู ทางฝ่ายพุทธก็มีพระนางตารา ชาวพุทธก็ไปไหว้ที่วัดของฮินดู และชาวฮินดูก็มาไหว้ที่วัดพุทธ ทั้งสองฝ่ายเรียกว่ากันเหนียว ไหว้องค์ไหนได้พรก็ไหว้หมด

การที่เข้าไปในวัดพุทธของเนปาลจึงต้องมีความรู้พื้นฐานที่ชัดเจน มิฉะนั้น ก็เข้าไปอย่างงง ออกมาก็ยังงงอยู่เท่าเดิม

มีอยู่วัดหนึ่ง ตรงที่บูชา นอกจากวัชระแล้ว มีทองเหลืองขัดมัน ทำเหมือนกระจก เขาให้ใช้แทนกระจกจริงๆ ค่ะ เป็นเครื่องเตือนว่า ออกมาไหว้พระตอนเช้า ให้ส่องกระจกดูตัวเองว่า วันนี้ กิเลสอะไรที่มีติดค้างในใจให้สลัดออกเสีย

ก่อนจะออกไปทำงาน ชาวพุทธเนปาลจะออกมาเดิน เหมือนกับออกกำลังตอนเช้า แต่ถือโอกาสแวะวัดนั้น วัดนี้ เข้าไปไหว้พระไปด้วย เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของตนในวันนั้น ในลักษณะนี้ ต้องบอกว่า เขายังมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากกว่าชาวพุทธไทย

นักวิชาการชี้ว่า ลักษณะศาสนาพุทธที่เหลืออยู่ในเนปาล เน้นแต่เปลือก คือพิธีกรรมมากกว่า ปรัชญาคำสอนอันลึกซึ้งของพุทธศาสนา ทั้งนี้ หมายรวมทั้งพวกวัชราจารย์ของวัชรยาน และศากยะที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสังฆะในวิหารที่ตนสังกัด