บิ๊กตู่ เรียกคุยโรดแมป เร่งสางให้เสร็จ ฟังความเห็นก่อนออกกฎหมาย ‘วิษณุ’ ยัน รัฐไม่ได้หน้ามืด ตาบอด ถังแตก

แฟ้มภาพ-นายวิษณุ เครืองาม เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 12 ตุลาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรฺโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียกพบเพื่อหารือว่า นายกฯได้แจ้งถึงเรื่องที่ได้ชี้แจงในประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงโรดแมป ว่าระยะเวลาที่เหลือจากนี้ไปมีประมาณเท่าไหร่ พร้อมต้องการติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับต่างๆ วันนี้กฎหมายที่รัฐบาลได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และออกมาใช้บังคับแล้ว มีประมาณ 250 ฉบับ และยังเหลืออีกกี่ฉบับที่จะไปสภา ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่ที่กฤษฎีกากี่ฉบับ และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 1 ปีนี้สามารถดำเนินการไปได้ขนาดไหน เพราะไม่ใช่จะไปสภาในเดือนสุดท้ายของปี 2561 แต่ต้องไปก่อน เพราะต้องใช้เวลานำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ได้ทัน จึงนั่งไล่กันในวันนี้ และขอให้รัฐมนตรีบางท่านช่วยไปกำกับ กำชับเจ้าหน้าที่ของตนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะกฤษฎีการายงานว่า บางทีที่ช้าเพราะบางทีตรวจเสร็จส่งให้กระทรวงยืนยันพอใจหรือไม่ แต่กระทรวงไม่ยืนยันซักที หรือไม่ก็ช้าเพราะเวลากฤษฎีกาตรวจ เชิญผู้แทนกระทรวงมาชี้แจงก็ไม่ได้ส่งระดับอาวุโส หรืออธิบดีที่มีอำนาจตัดสินใจมา พอกฤษฎีกาถาม ตกลงจะเอาอย่างนี้หรือไม่ ก็ต้องขอกลับไปตามกระทรวง และหายไปเป็นเดือน วันนี้จึงต้องมาติดตามความคืบหน้าเหล่านี้

เมื่อถามว่า เป็นห่วงกฎหมายฉบับไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษ แต่ที่มีการพูดถึงคือเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าว เพราะคำสั่งคสช.ได้ยืดไปจนถึงสิ้นปีนี้ วันนี้ได้ส่งไปให้กฤษฎีกาทำ จึงอยากรู้ความคืบหน้าไปถึงไหน จะออกมาทันหรือไม่ และนายกฯได้กำชับว่า ขอให้ทุกฝ่ายเคร่งครัด ทำตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น มีกฎหมายบางฉบับที่ส่งไปที่กฤษฎีกา และกระทรวงอ้างว่าได้รับฟังความเห็นมาแล้ว แต่การฟังนั้นยังไม่หลากหลาย จึงขอให้กฤษฎีกาช่วยฟังความเห็นเพิ่มเติม หรือส่งคืนให้กระทรวงไปทำ และถ้าบางฉบับไปสภาโดยที่ไม่ได้ฟังความเห็นมาก่อน เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำก็อาจจะให้สภา ช่วยกรุณารับฟัง ซึ่งได้คุยกันในส่วนนี้ และนี้เป็นส่ิ่งที่เป็นห่วง

เมื่อถามว่า กฎหมายแรงงานต่างด้าวมีความคืบหน้าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้เกือบเสร็จแล้ว ในเดือนพ.ย.คงจะเสร็จเรียบร้อย และการประกาศใช้มีได้ 2 ทางคือ ออกเป็นพระราชกำหนดและการเสนอสภา ซึ่งถ้าเสร็จในสภาก็จะช้าออกไป ก็อาจจะจำ เป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่นั้นคงไม่สำคัญเท่าที่กับที่นายกฯกำชับว่า ก่อนที่จะบอกว่าเสร็จแล้วส่งมา ช่วยรับฟังความเห็นจากคนที่ต่อต้านคัดค้านอยู่ก่อนหน้านี้ว่าไม่เป็นธรรม เช่นการปรับ 4-8 แสนบาท ให้ไปฟังความเห็นสักหน่อย ซึ่งเขาฟังแล้ว นายกฯจึงขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องมาชี้แจงที่กฤษฎีกาซึ่งเขาก็รับไปทำ

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับกฎหมายทรัพยากรน้ำที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช.เป็นกฎหมายที่ไปสภาตั้งแต่ยังไม่ทันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีมาตรา 77 จึงยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น วันนี้จึงได้ตกลงกันว่า ให้คณะกรรมการไปจัดการรับฟังความคิดเห็นด้วย และหลักการได้พูดกันว่า ไม่มีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำเกษตรกร อย่างที่ไปพูดกันเป็นอันขาด โดยจะเก็บเฉพาะโรงอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะ และกฎหมายวันนี้พูดกันชัดเจน ทั้งนี้ รัฐไม่มีเจตนารมณ์ ไม่ได้หน้ามืด ตาบอด หูบอด ต้องการเก็บค่าน้ำ หรือถังแตก กฎหมายนี้เป็นกฎหมายจัดสรรทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่กฎหมายเก็บสตางค์ค่าน้ำ”ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ดำเนินการไป ไม่ได้มีการให้ชะลอ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นทางสภาก็มีกรอบเวลา ส่วนเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับไม่ได้มีการหารือ เพราะไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของสนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)

ด้าน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า นายกฯไม่ได้สอบถาม หรือเร่งรัดในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการติดตามสอบถามความคืบหน้ากฎหมายต่างๆที่อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายกฯได้กำชับกฤษฎีกาให้พิจารณากฎหมายตามกรอบระยะเวลาเท่านั้น